อาทิตย์ทรงกลด 2-in-1 วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2563 เวลา 15:11 น. บางพลัด กรุงเทพฯ
เป็นอาทิตย์ทรงกลดแบบ 22 องศา (22° halo) และแบบคอโรนา (corona)
อาทิตย์ทรงกลดแบบ 22 องศา (ในภาพคือวงใหญ่ เส้นบาง มีสีรุ้งจาง ๆ) เกิดจากแสงอาทิตย์หักเห (refraction) ผ่านทะลุผลึกน้ำแข็ง (ice crystal) ในเมฆ
ที่เรียกว่าแบบ 22 องศา เนื่องจากวัดจากดวงอาทิตย์ถึงเส้นวงทรงกลดได้ 22 องศา อาจเหยียดแขนสุด แล้วกางมือ ความกว้างจากหัวแม่มือถึงนิ้วก้อยประมาณ 22 องศา ครับ
นอกจากแบบ 22 องศา แล้วยังมีวงทรงกลด halo (เฮโล) แบบ 9, 18, 20, 23, 24, 35, 46 องศา และแบบอื่น ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 60 แบบครับ
ส่วนอาทิตย์ทรงกลดแบบคอโรนา (วงเล็ก เส้นหนา อยู่ติดดวงอาทิตย์ เห็นสีรุ้งชัดเจนกว่าวง 22 องศา) เกิดจากแสงอาทิตย์เลี้ยวเบน (diffraction) หลบหยดน้ำ (ที่เป็นของเหลว ต่างจากแบบ 22 องศา ที่เป็นของแข็งคือผลึกน้ำแข็ง) บางครั้งคอโรนายังอาจเกิดจากฝุ่น หรือละอองเกสรดอกไม้ได้ด้วย
corona มาจากภาษาละติน แปลว่า มงกุฎ
คำว่า “คอโรนา” ยังอาจหมายถึงส่วนนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่เราสามารถเห็นด้วยตาเปล่าเฉพาะตอนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (total solar eclipse) แต่ในที่นี้หมายถึงปรากฏการณ์ทรงกลดที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ใช่คอโรนานอกโลกที่อยู่บนดวงอาทิตย์
ส่วนคอโรนาไวรัส (coronavirus) เรียกตามลักษณะไวรัสที่รูปร่างคล้ายคอโรนาบนดวงอาทิตย์ครับ
ศัพท์บัญญัติวิทยาศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2546 ใช้ว่า “คอโรนา” ไม่ใช้ “โคโรนา” ครับ
วงสีส้มแดงในสุดของคอโรนาที่ติดดวงอาทิตย์เรียกว่า ออรีโอล (aureole) ชื่อชวนให้นึกถึงคุกกี้โอรีโอ (Oreo) นะครับ บางครั้งเราเห็นทั้งออรีโอลและวงสีรุ้งคอโรนา แต่บางครั้งอาจเห็นแต่ออรีโอล ไม่เห็นวงสีรุ้งคอโรนา
บางครั้งอาทิตย์ทรงกลดทั้ง 2 แบบอาจเกิดจากเมฆชนิดเดียวกัน บางครั้งอาจเกิดจากเมฆต่างชนิด ต่างความสูง โอกาสจะบังเอิญมาซ้อนกัน และทำให้เกิดทรงกลดทั้งสองแบบพร้อมกันจึงมีน้อยมากครับ
สำหรับภาพนี้ผมสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากเมฆชนิดเดียวกันคือเมฆ Cirrostratus (พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2549 ใช้ว่า “ซีร์โรสเตรตัส”) มีลักษณะเป็นม่านสีขาว
ที่เกิดพร้อมกันทั้ง 2 แบบ ผมสันนิษฐานว่าอาจเพราะเมฆ Cirrostratus ซึ่งประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง (เพราะเป็นเมฆที่อยู่สูง 6-18 กิโลเมตร อากาศเย็นจัดจนไอน้ำกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง) ทำให้เกิดวงทรงกลด 22 องศา
แต่ตรงที่เป็นวงทรงกลดคอโรนาอาจเพราะมีบางส่วนในเมฆ Cirrostratus ยังไม่เป็นผลึกน้ำแข็ง แต่เป็นน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled water) คือน้ำที่เย็นจัดอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา แต่ไม่ยอมเป็นน้ำแข็ง
หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือใต้เมฆ Cirrostratus อาจมีละอองไอน้ำในอากาศอยู่ครับ
ไม่ควรมองดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่า อาจใช้มือหรืออย่างอื่นบัง ถ้าใช้กล้องถ่ายรูป DSLR ห้ามมองผ่านช่องมอง viewfinder (ช่องมองเล็ก ๆ ด้านบนกล้อง) โดยเด็ดขาด ให้มองผ่านจอภาพ (live view) เท่านั้นครับ
ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ iPhone SE (2nd generation) รูรับแสง f/1.8, ISO 25, ทางยาวโฟกัส 3.99mm ปรับแต่งด้วยแอป Adobe Photoshop Express ลดความสว่าง Exposure -25
ถ่ายภาพและเรียบเรียงข้อมูลโดย
อัฐ พงศธร กิจเวช