งูก็คืองู แต่งูมีอะไรมากกว่าที่คิด

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


ทั้งที่คนเรามักจะกลัวและไม่อยากเข้าใกล้ แต่งูเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจชนิดหนึ่ง งูจัดอยู่ในชั้น Reptilia อันดับ Squamata อันดับย่อย Serpentes พวกมันกระจายไปในทุกทวีป ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา ปัจจุบันมีงูกว่า 20 วงศ์ 520 สกุล และ 3,800 ชนิด ที่ค้นพบและยอมรับกัน มีข้อสันนิษฐานว่างูอาจจะวิวัฒนาการมาจากกิ้งก่าชนิดที่ชอบขุดโพรงและอาศัยตามพื้นที่ริมน้ำในช่วงยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ในช่วง 145–66 ล้านปีก่อน และเริ่มแตกสายพันธุ์จนหลากหลายกลายเป็นงูสมัยใหม่ในช่วงยุคพาลีโอซีนในช่วง 66–56 ล้านปีที่แล้ว

ทำไมงูถึงไม่มีขา

คำถามที่หลายคนมักสงสัยกันคือมีสาเหตุอะไรที่ทำให้งูละทิ้งขาของพวกมันไปในระหว่างเส้นทางแห่งการวิวัฒนาการ เราอาจพิจารณาดูจากร่องรอย (vestiges) ที่หลงเหลืออยู่ในตัวของพวกมัน ร่องรอยพวกนี้จะว่าไปก็คล้ายกับเบาะแสหรือลายนิ้วมือในที่เกิดเหตุ ซึ่งอาจให้เบาะแสเกี่ยวกับอดีตที่เรามองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น งูเหลือมที่ยังมีกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาที่ยังลดรูปไม่หมด หลงเหลืออยู่เล็กน้อย และในฟอสซิลงู Najash rionegrina อายุ 95 ล้านปี ในระหว่างวิวัฒนาการที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในอาร์เจนตินา และ Parvicursor estesi, Portugalophis lignites, Diablophis gilmorei และ Eophis underwoodi ในอังกฤษที่มีอายุ 167–143 ล้านปี ก็มีส่วนประกอบของขาที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เป็นเวลากว่า 60 ล้านปีที่บรรพบุรุษของงูมีพฤติกรรมเป็นสัตว์บกสี่ขา คล้ายกับตัวเหี้ยในปัจจุบัน จนเวลาผ่านถึงต้นยุคครีเทเชียส เมื่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป งูจึงค่อย ๆ ละทิ้งแขนขาเพื่อเปลี่ยนรูปร่างให้เหมาะกับวิถีชีวิตที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมันเปลี่ยนไปใช้ชีวิตมืดมิดในโพรงใต้ดินก็ต้องพึ่งพาเพียงกลิ่นและรสชาติซึ่งเป็นผัสสะที่รวมกันอยู่ในลิ้นสองแฉกที่มันวิวัฒนาการมาแล้ว และเนื่องจากอุโมงค์ใต้ดินแคบ การดิ้นไปมาช่วยให้เคลื่อนที่ดีกว่าการเดิน ขาของพวกมันจึงลดรูปลงจนกลายเป็นตอเหมือนที่พบในตัวอ่อน ขณะที่ร่างกายก็ค่อย ๆ ยืดออก กลายร่างไปคล้ายงูในปัจจุบัน ไม่เป็นกิ้งก่าอีกต่อไป เช่นเดียวกับโครงสร้างของสัตว์อื่นที่จะหดเล็กลงไปหากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน เช่น ปีกของนกกีวี กระเพาะว่ายน้ำของปลาที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล โดยเวลาที่ยีนจะหายไปหรือเกินกว่าจะซ่อมแซมให้ฟื้นกลับมาเหมือนเดิมคือ 10 ล้านปี

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของงูน่าจะเป็นกิ้งก่าวารานอยด์ (varanoid lizards) ที่อยู่ในวงศ์ Varanidae รวมถึงสัตว์ในสกุล Varanus ในปัจจุบัน เช่น มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ที่พบในอินโดนีเซีย เหี้ย (Varanus salvator) ที่พบในประเทศไทย ตะกวดสะวันนา (Varanus exanthematicus) ที่พบในแอฟริกา

จากฟอสซิลของสายพันธุ์ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของวิวัฒนาการ (missing link) ซึ่งเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2555[1] นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่างูยุคดึกดำบรรพ์ปรับตัวเข้ากับรูในอุโมงค์ดินด้วยการเปลี่ยนแปลงดังนี้ 1) เปลือกตาทั้งสองข้างติดกัน 2) ขาลดรูปจนหายไป 3) ลำตัวยาวขึ้น 4) ปอดซ้ายหดตัว และ 5) เกล็ดที่ท้องขยายกว้างขึ้น กลายร่างเป็นเหมือนกระเพาะเลื้อยได้ เป็นเครื่องจักรสวาปามที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก หลังจากนั้นงูที่ปรับปรุงสายพันธุ์แล้วก็ได้กลับมาใช้ชีวิตเหนือพื้นดินในช่วง 70 ล้านปีก่อน (สังเกตว่าหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์อุกกาบาตชนโลกในช่วงปลายยุคครีเทรเชียส-พาลีโอจีน ในช่วง 66 ล้านปีก่อน ซึ่งงูที่วิวัฒนาการแล้วหลบไปอยู่ใต้ดินได้อย่างสบาย)

การคัดเลือกทางธรรมชาติทำให้ระบบการมองเห็นของงูฟื้นขึ้นมา ส่วนขาหลังยังคงมีอยู่ในกลุ่มงูวงศ์ Boidae เป็นงูไม่มีพิษ (non-venomous) ที่ฆ่าเหยื่อด้วยวิธีรัด (constriction) แทนการกัดด้วยพิษ โดยขาหลังนี้ลดรูปกลายเป็นเดือยที่มีบทบาทในการผสมพันธุ์ จึงยังเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์

พิษงู ประโยชน์ที่ไม่คาดคิดและสัญลักษณ์งูในวงการแพทย์

นอกจากพิษร้ายที่เป็นอันตรายคร่าชีวิตมนุษย์ได้แล้ว งูยังเป็นสัญลักษณ์ของการรักษาอีกด้วย เมื่อเราพิจารณาความเชื่อมโยงกันระหว่างยากับงู จะสังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์งูปรากฏอยู่ในโรงพยาบาล รถพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ เสื้อกาวน์ รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขทั้งหลาย สัญลักษณ์นั้นคือ คทาของแอสคลีพีอัส (Rod of Asclepius) หรือไม้เท้าแห่งเอสคูลาพิอุส (Staff of Aesculapius) ซึ่งสมาคมการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาในชิคาโกนำสัญลักษณ์นี้มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 และต่อมาใช้เป็นเครื่องหมายกองแพทย์ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา

แล้วคทานี้มีเรื่องราวมาอย่างไร คทาของแอสคลีพีอัส มาจากชื่อ “แอสคลีพีอัส” เทพกรีกที่มีบทบาทด้านการแพทย์และการรักษา ในสมัยโบราณผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางไปแสวงบุญเพื่อรักษาโรคตามวิหารของแอสคลีพีอัส แม้แต่คำสาบานทางจริยธรรมที่แพทย์มีมาตั้งแต่อดีตอย่าง “คำสาบานฮิปโปเครตีส” ซึ่งฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์เป็นผู้เขียนขึ้นก็กล่าวถึงเทพองค์นี้ ตัวฮิปโปเครตีสเองนั้นเริ่มอาชีพแพทย์ในวิหารเพื่อการรักษาบนเกาะคอส (Kos) ในทะเลอีเจียน คำสาบานที่ว่านี้กำหนดให้แพทย์คนใหม่ต้องสาบานต่อเทพผู้รักษาโรคหลายองค์ ทั้งอะพอลโล (Apollo), แอสคลีพีอัส, ไฮเจีย (Hygieia), พานาเซีย (Panacea) และทวยเทพอื่น ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมเฉพาะ เป็นการแสดงออกถึงจริยธรรมทางการแพทย์ในยุคแรก ๆ ของซีกโลกตะวันตก ปัจจุบันธรรมเนียมการสาบานก็ยังทำกันอยู่ เพียงแต่เนื้อหาจะเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

ความหมายของงูที่คทามีคนตีความเอาไว้หลากหลาย เช่น การลอกคราบของงูเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูหรือการเกิดใหม่ บ้างก็ยึดตามคติคนโบราณว่างูนั้นเป็นสัตว์ที่คุ้นเคยกับโลกอย่างลึกซึ้ง โดยปกติแล้วงูส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นดินและในดิน ด้วยความที่อยู่ใกล้พื้นดินตลอดเวลา พวกมันจึงเป็นตัวแทนของการแพทย์ในแง่ภูมิปัญญาความรู้ที่หายากเกี่ยวกับคุณสมบัติการรักษาที่ซ่อนเร้นเอาไว้ของโลก นอกจากนี้งานของแพทย์ก็ต้องทำงานบนเส้นแบ่งของความเป็นความตาย และยังหมายถึงการใช้ยาในปริมาณที่ถูกต้อง เพราะยาบางชนิดหากให้น้อยหรือมากเกินไปก็เป็นโทษเช่นกัน สะท้อนออกมาในความหมายของคำว่า Pharmakon ในภาษากรีกโบราณ ซึ่งอาจหมายถึงยารักษาโรคหรือพิษก็ได้

มุมมองนี้เป็นมุมมองเดียวกับที่พาราเซลซุส (Paracelsus) หรือในชื่อเดิมของเจ้าตัวที่ยาวสุดยอดว่า ฟิลลิปัส ทีโอฟราสตุส ออเรโอลุส บอมบาสตุส ฟอน โฮเฮนไฮม์ (Philippus Theophrastus Aureolus Bombastus von Hohenheim) แพทย์และนักปรัชญาชาวสวิส ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งวิชาพิษวิทยากล่าวไว้ในคำปราศัย Third Defense ของเขาว่า “มีอะไรอีกที่ไม่เป็นพิษ ? ทุกสิ่งล้วนมีพิษ และไม่มีสิ่งใดปราศจากพิษ มีเพียงปริมาณเท่านั้นที่จะกำหนดว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีพิษ” (What is there that is not poison? All things are poison and nothing [is] without poison. Solely the dose determines that a thing is not a poison) ซึ่งหมายความว่า สารทุกชนิดล้วนอันตราย แม้แต่ของที่คนเราชอบรับประทานก็อันตราย ปริมาณสารใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ที่รับเข้าไปในร่างกายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมความเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษของสารนั้น ๆ และนี่คือแนวคิดแรกเกี่ยวกับเรื่องโดสหรือปริมาณของสารที่รับเข้าไปในร่างกายต่อหน่วยน้ำหนักของร่างกาย

ยาถ้าใช้ผิดอาจเป็นพิษ แต่พิษใช้ให้ถูกก็อาจเป็นยา” ความคิดจากโลกโบราณนี้มีความบังเอิญที่ตรงกับสิ่งที่ค้นพบในโลกปัจจุบันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ พิษงูอาจใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เช่นกัน

ตามปกติแล้วพิษงูเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิตมนุษย์มาก ในบทความปี พ.ศ. 2558 ที่ตีพิมพ์ใน New Zealand Herald เดวิด วาร์เรลล์ (David Warrell) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เขตร้อนจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดประเมินว่ามีผู้ถูกงูกัดและเสียชีวิต 200,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่พิษงูจะอยู่ในต่อมยาวรูปวงรีตรงระหว่างตากับปาก ขยายไปถึงบริเวณด้านหลังกะโหลกศีรษะ ยกเว้นงูบางชนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าต่อมนี้จะพาดผ่านไปถึงครึ่งหนึ่งของลำตัวทีเดียว จากต่อมพิษจะไหลผ่านท่อเล็ก ๆ ไปสู่บริเวณใต้ตาแล้วไปยังเขี้ยวที่มีลักษณะเป็นโพรงคล้ายเข็มฉีดยา เขี้ยวจะหลุดออกมาเป็นระยะและเปลี่ยนใหม่ทุกสองสามเดือน

งูชนิดดั้งเดิม (aglyphous) คืองูที่ไม่มีเขี้ยวหรือมีฟันธรรมดาที่ไม่ได้ดัดแปลงให้ใช้ฉีดพิษเหมือนงูพิษชนิดอื่น จะมีฟันขนาดสม่ำเสมอใกล้เคียงกันและเรียงตัวอยู่ตลอดแนวขากรรไกร (คำว่า aglyphous ภาษากรีกหมายถึง ไม่มีร่อง คือไม่มีช่องส่งพิษ) อย่างงูเหลือม งูเขียวพระอินทร์ งูดิน งูหลาม แต่สำหรับงูที่พัฒนาฟันเขี้ยวขึ้นมา น้ำหนักของเขี้ยวจะน้อยลงและมีร่องผิวที่พับเข้าด้านในแล้วปิดล้อมไว้จนกลายเป็นช่องกลวง ดังลักษณะเขี้ยวในยุคปัจจุบัน

งูปะการังอเมริกัน

งูที่มีพิษอาจแบ่งเป็น opisthoglyphous (เขี้ยวหลัง), proteroglyphous (เขี้ยวหน้าเล็ก), และ solenoglyphous (เขี้ยวหน้าใหญ่) การกัดของงูแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน งูปะการังอเมริกัน (American coral snake) จะยึดฟันสั้นไว้ในตัวเหยื่อและเคี้ยวเพื่อฉีดพิษ ส่วนงูเห่าอินเดีย (Naja naja) ที่มีเขี้ยวยาวจะโจมตีเหยื่อด้วยความไวราวสายฟ้า แทงฟันเข้าไปและดึงออกอย่างรวดเร็ว งูพิษฉกโจมตีเราภายในเวลา 1/20 วินาทีเท่านั้น และฉกด้วยความไว 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วจนแทบมองไม่ทัน งูพิษบางชนิดอย่างงูจงอางมีขนาดใหญ่มากถึง 3–5 เมตร งูแบล็กแมมบา (Dendroaspis polylepis) ที่พบทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา มีพิษร้ายติดอันดับต้น ๆ ของโลกไม่พอ ยังเป็นงูที่เร็วที่สุดในโลกอีกด้วย เคลื่อนที่ได้เร็วถึง 14.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

งูแบล็กแมมบา

พิษงูนั้นเป็นของเหลวหนืดใส สีเข้ม หรือเหลืองอ่อน ประกอบด้วยเอนไซม์หลายชนิด ร้อยละ 90 เป็นโปรตีน พบว่ามีเอนไซม์ 25 ชนิดในพิษงูทั่วโลก งูทั้งหมดมีเอนไซม์เหล่านี้ร่วมกัน 10 ชนิด ส่วนที่เหลือจะผสมกันในสัดส่วนที่ต่างกันไปตามชนิดของงู ความซับซ้อนของพิษงูส่วนหนึ่งอยู่ที่ต่อมพิษของงู ปัจจุบันยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนายาต้านพิษงูชนิดใหม่ อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่าสารพิษที่พบในพิษงูช่วยรักษาโรคอื่น ๆ ได้ด้วย และปัจจุบันมีการใช้ยาหลายชนิดที่ทำจากพิษงูอยู่

งูส่วนใหญ่ปล่อยพิษผ่านเขี้ยวซึ่งทำงานในลักษณะเดียวกับเข็มฉีดยา เมื่อเขี้ยวแทงเข้าไปในเนื้อของเหยื่อแล้ว พิษจะถูกส่งผ่านเขี้ยวเข้าสู่กระแสเลือดของเหยื่อโดยตรง ข้อยกเว้นคืองูที่พ่นพิษ เช่น งูเห่าพ่นพิษโมซัมบิก (Naja mossambica) เนื่องจากพิษงูมีหลากหลายชนิด การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์จึงแตกต่างกันไปตามงูแต่ละชนิด ความซับซ้อนของการทำงานของพิษงูก็คือต่อมพิษของงูที่ออกแบบมาเพื่อ “ห่อ” แยกโปรตีนและสารพิษออกจากกันก่อน รอจนกว่าจะมีกลไกมาจับโปรตีนและสารพิษพวกนี้เข้าด้วยกันและกระตุ้นการทำงาน (จะว่าไปก็คล้ายการที่มนุษย์คิดค้นกาวอีพอกซีขึ้นมามีหลอดเอ หลอดบี แล้วยังไม่เซตตัวจนกว่าจะกวนผสมสองหลอดเข้าด้วยกัน เพื่อให้กระตุ้นกาวให้แข็ง)

งูเห่าพ่นพิษโมซัมบิก

พิษงูแม้จะน่ากลัวแต่ก็มีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยม สามารถละลายผนังเส้นเลือดฝอย เปลี่ยนแปลงหรือหยุดจังหวะการเต้นของหัวใจ ป้องกันหรือทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ปิดกั้นกระแสประสาท จึงมีการวิจัยพิษงูเพื่อใช้รักษาโรคต่าง ๆ อย่างมะเร็งเต้านม หลอดเลือดสมอง หัวใจ พาร์กินสัน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ เส้นประสาทอักเสบ ลิ่มเลือด ลมบ้าหมู ต้อกระจก อัลไซเมอร์ ข้ออักเสบ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ พิษงูเป็นแม่แบบของยาชั้นนำบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และหัวใจวาย แหล่งที่มาของยาลดความดันโลหิตในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์แปลงแองจิโอเทนซิน (ACE) โดยในช่วงทศวรรษ 1960 นักวิจัยบราซิลได้แยกเพปไทด์จากพิษงูชาราราคา (Bothrops jararaca) หรือยารารา (yarara) งูพิษร้ายแรงที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของบราซิล ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การผลิตยาลดความดันโลหิตสูงอย่างแคปโทพริล (Captopril) อาจกล่าวได้ว่างูพิษปากกว้างชาราราคาช่วยชีวิตมนุษย์ได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นในประวัติศาสตร์ของคนเรา

นอกจากนี้พบว่าเอนไซม์ไฟโบรเลส (fibrolase) ที่แยกจากพิษงูเซาเทิร์นคอปเปอร์เฮด (Agkistrodon contortrix) มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือดได้ จึงมีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ พิษงูชนิดนี้ยังมีโปรตีนคอนทอร์โทรสแตติน (contortrostatin) ซึ่งอยู่ในกลุ่มดิสอินทีกริน (disintegrin) มีสมบัติยับยั้งการเกาะตัวของเซลล์ จึงนำมาใช้ยับยั้งการเกาะตัวของเซลล์มะเร็งและช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง และลดการเติบโตของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่

นอกจากการใช้เป็นยารักษาโรคแล้วสารสกัดจากพิษงูยังใช้ในอุตสาหกรรมความงามด้วย ตัวอย่างเช่น Waglerin-1 (แวกเกลอริน-วัน) เป็นเพปไทด์ชนิดหนึ่งที่พบในพิษของงูเขียวตุ๊กแก (Tropidolaemus wagleri) ซึ่งเป็นงูพิษที่มีถิ่นอาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพอลิเพปไทด์สายสั้น มีลำดับกรดอะมิโนเฉพาะที่ทำให้มันมีฤทธิ์ทางชีวภาพสูง ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับที่เรียกว่า นิโคทินิกอะเซทิลคอลีน (nicotinic acetylcholine receptors: nAChRs) พบในกล้ามเนื้อ การจับกับตัวรับนี้ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวได้ ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจึงเลียนแบบสารตัวนี้ เพื่อสร้างสารที่ช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้ลดเลือนริ้วรอยและชะลอการเกิดริ้วรอยใหม่ มีชื่อทางการค้าว่า Syn-Ake® ใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิง ครีมลดริ้วรอย และซีรัมฟื้นฟูผิว

สุดท้ายนี้เราจะเห็นว่างูเป็นสัตว์ที่นอกจากจะมีความสำคัญด้านโหราศาสตร์แล้ว ในด้านชีววิทยา คุณค่าด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มันก็ยืนหนึ่งในฐานะสัตว์ที่น่ามหัศจรรย์เช่นเดียวกัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • Longrich, N.R., Bhullar, B.-A.S., and Gauthier, J.A. (2012). A transitional snake from the
  • Late Cretaceous period of North America. Nature 488, 205–208.
  • Ménez, A. (2003). The subtle beast: snakes, from myth to medicine. CRC Press.
  • Stutesman, D. (2005). Snake. Reaktion Books.
  • https://www.bbcearth.com/news/how-venoms-are-shaping-medical-advances
  • https://www.nzherald.co.nz/world/global-toll-of-snakebites-underrated-as-crisis-grows-in-anti-venom-stocks/IEXN7SFWU4ABUTHKU6LFZRJNYE/?c_id=2&objectid=11519864
  • https://th.wikipedia.org/wiki/งู
  • https://th.wikipedia.org/wiki/คทาแอสคลีพีอัส
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Rod_of_Asclepius
  • https://www.sciencedirect.com/topics/pharmacology-toxicology-and-pharmaceutical-science/contortrostatin

About Author