เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ
ภาพของหนูทดลองตัวหนึ่ง เรือนร่างเปลือยเปล่าแต่มี “หูมนุษย์” งอกขึ้นมาบนหลัง คือภาพที่โด่งดังที่สุดจากผลงานของศัลยแพทย์ โจเซฟ วาคานติ (Joseph Vacanti) และนักชีววิศวกรรม ชาร์ล วาคานติ (Charles Vacanti) และทีมวิจัยของพวกเขาที่ MIT ในปี ค.ศ. 1997
หนูพันธุ์นูด (nude mouse) หรือหนูเปลือยที่ไม่มีขนและไม่มีภูมิคุ้มกัน ถูกฝังโครงพอลิเมอร์รูปใบหูที่ถูกเติมด้วยเซลล์กระดูกอ่อนของมนุษย์
แม้จะไม่ได้ยินและไม่สามารถรับเสียงได้ แต่รูปลักษณ์ของมันก็ยัง “ดูเหมือนหู”
เป็นใบหูที่เติบโตอยู่บนแผ่นหลังของหนู มีเลือดมาเลี้ยงจริง มีโครงสร้างเนื้อเยื่อจริง ศัลยแพทย์และนักวิจัยมองมันว่าเป็น “โครงร่างเนื้อเยื่อ (tissue scaffold)” ที่เป็นความหวังใหม่ แต่พวกนักข่าวกลับเรียกมันว่า “เรื่องสยองขวัญ” และสำหรับนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ นี่คือ “การไร้ความละอายที่น่าขยะแขยง (abomination)”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่คือบทพิสูจน์ (proof of concept) ว่าเราเลี้ยงเนื้อเยื่อสังเคราะห์ได้ในสัตว์ แนวทางนี้เป็นไปได้ และราคาอาจจะแรงน้อยกว่าพยายามเลี้ยงในขวดที่ราคาอาหารและอีกสารพัดสารที่ต้องใส่ลงไปในการเพาะเลี้ยงนั้นแพงหูฉี่
ใบหูเพาะเลี้ยงนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างมหาศาลให้แก่คนไข้ที่ใบหูพัฒนาผิดปกติตั้งแต่เกิด (congenital malformation of pinna) ให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เข้าสังคมได้อย่างคนปกติทั่วไป
เทคโนโลยีนี้คือจุดเริ่มของหนึ่งในไอเดียพลิกโลก “วิศวกรรมเนื้อเยื่อ” เริ่มจากใบหู แล้วค่อย ๆ ขยับขยายไปอวัยวะอื่น ปอด ตับ ม้าม ไต ตับอ่อน
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของคำถาม “เราจะขยายปริมาณการสร้างอวัยวะมนุษย์ในร่างของสัตว์ได้มากแค่ไหน ?”
ในโลกที่มนุษย์สามารถ “ปลูกสร้าง” ส่วนหนึ่งของมนุษย์ลงไปในสัตว์ เราต้องเริ่มตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่างร่างกายกับวัตถุ ระหว่างการรักษากับการควบคุม
เรื่องนี้เป็นประเด็นน่าสนใจในเชิงจริยธรรม มันไม่ได้เกิดแค่ในห้องทดลอง แต่ในโลกแห่งตำนาน เรื่องราวของร่างประหลาดที่เป็นลูกผสมก็มีอยู่มากมายดาษดื่นไม่ต่างกัน และแต่ละตัวก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
มิโนทอร์ (Minotaur) เป็นสิ่งมีชีวิตจากตำนานกรีกโบราณ มีหัวเป็นวัว ตัวเป็นชายรูปร่างกำยำล่ำสัน
ภาพมิโนทอร์บนภาชนะดินเผา (kylix) สมัยกรีก เมื่อราว 515 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ที่มาภาพ : Marie-Lan Nguyen, CC BY 2.5, via Wikimedia Commons
เขาเป็นลูกของราชินีพาซิฟาเอ (Pasiphaë) มเหสีผู้เจิดจรัสของราชาไมนอส (Minos) แห่งเกาะครีต (Crete) กับวัวศักดิ์สิทธิ์ของเทพโพไซดอน
มิโนทอร์เกิดจากการสาปแช่ง และความปรารถนาอันบิดเบี้ยว ด้วยความโกรธขึ้ง ราชาไมนอสสร้างเส้นทางเขาวงกตอันลึกชันเพื่อคุมขังมันเอาไว้ และคอยส่งมนุษย์ไปเป็นเครื่องเซ่นเป็นระยะ ๆ
และนั่นทำให้มิโนทอร์กลายเป็นอสูรร้ายที่ขึ้นชื่อลือชาในความน่าสะพรึงกลัวและโหดเหี้ยม
แต่ถ้ามองในอีกมุม มิโนทอร์ไม่ได้เลือกร่างของมันเอง มันไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาเพื่อถูกขังและถูกกลัว
ก็ไม่ต่างอะไรจากหนูหู (ของโจและชาร์ล) ที่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าร่างกายของมันถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทดลอง และนั่นทำให้ผู้คนเข้าใจผิด หวั่นกลัวและเกลียดชังมัน แม้ว่าแท้จริงแล้วพวกมันอาจเป็นหนึ่งในหนทางที่ช่วยนำทางพวกเราไปสู่การแพทย์ยุคใหม่ที่อวัยวะอะไหล่สามารถซื้อเปลี่ยนได้แบบไม่จำกัด (ถ้ามีเงิน) ก็ตาม
สเตลอาร์กกับใบหูที่สาม
ที่มาภาพ : Andy Miah, CC BY-SA 2.0, via Flickr
ตัดภาพกลับมาที่โลกสมัยใหม่
ศิลปินชาวออสเตรเลีย สเตลอาร์ก (Stelarc) ใช้ร่างกายของตัวเองเพื่อเป็นสนามทดลอง !
เขาใช้กระดูกอ่อนของตัวเขาเองขึ้นรูปกับโครงร่าง (scaffold) เลียนแบบหนูหูมาแทบทุกประการ และใช้เวลาอีกหกปีเพื่อตามหาหมอที่บ้าพอจะยอมผ่าตัดเพื่อปลูก “ใบหูที่สาม” ไว้บนแขนซ้ายของเขา
หูนั้นไม่มีรูหู ไม่มีเสียง แต่มันมีไมโครโฟน และสามารถสตรีมเสียงเข้าสู่เน็ตเวิร์ก
สเตลอาร์กเชื่อว่าร่างกายมนุษย์ดั้งเดิมไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับเขา “The body is obsolete.”
เขาแขวนตัวเองด้วยตะขอผ่านผิวหนัง เชื่อมกล้ามเนื้อกับกลไก สร้างหุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมผ่านคลื่นสมองจากผู้ชม
ไม่ใช่เพื่อทดลอง แต่เพื่อถามคำถามที่ตอบได้ยากว่า “เรายังเป็นเจ้าของร่างกายของเราอยู่หรือเปล่า ?”
น่าคิด เพราะถ้าร่างกายอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเป็นเพียงร่างที่ถูกสร้างให้ “มีอยู่” เพื่อเป้าหมายของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ์ใดที่จะเลือก แล้วใครควรจะถือสิทธิเหนือร่างนี้
แต่ส่วนตัวผมว่ามีอีกประเด็นที่น่าสนใจกว่า นั่นคือ “มันยุติธรรมแล้วหรือไม่ที่จะถูกมองเป็นจำเลยสังคมเพียงเพราะมีอะไรใหม่ที่เกินหรือผิดแผกไปจากปกติ” ไม่ว่าจะเป็นหนูหูที่วิ่งเล่นอยู่ในกรง รอวันผ่าใบหูออก ไปจนถึงมิโนทอร์ที่ถูกขังชั่วนาตาปีอยู่ในเขาวงกต หรือสเตลอาร์กที่ปลูกใบหูใหม่ในเรือนร่างของตัวเอง
ทั้งหมดต่างเผชิญปัญหาเดียวกันนั่นคือ “อคติ”
โลกเราตัดสินจากรูปลักษณ์เสมอ ไม่ใช่แค่หนูหูที่ถูกหัวเราะ มิโนทอร์ที่ถูกขัง หรือสเตลอาร์กที่ถูกจ้องด้วยสายตาประหลาด แต่รวมถึงคนธรรมดาที่มีรอยสัก หูเจาะ ลิ้นแฉก ที่เดินสวนคุณในตลาดยามเช้า อคตินั้นเร็วกว่าเหตุผล เหมือนอินโฟเดมิกที่แพร่ไวกว่าไวรัส สังคมกลัวสิ่งที่ต่าง แต่กลับไม่เคยฟังเสียงจริงของมัน ถ้ามนุษย์สร้างอวัยวะใหม่ไม่ได้แปลว่าอหังการ แต่อาจแค่ต้องการมีชีวิตรอด
ชีวิตใดก็แค่อยากมีที่ยืน แม้จะเป็นที่เล็ก ๆ ในสายตาคนทั้งโลก
ถ้าเรายอมเปิดใจเปิดรับมากขึ้น และเริ่มที่จะฟังให้เข้าใจก่อนอย่างไม่ตัดสิน สังคมของเราก็อาจจะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้สำหรับทุกคน
เพราะเนื้อเรื่องหลาย ๆ เรื่องก็อาจบิดเบี้ยวไปมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโซเชียลที่ทุกข้อมูล ทุกข่าวสารถูก “คัดกรอง” และ “จัดสรร” มาเพื่อคุณ !!