เรื่องโดย ณิฎฐา คุ้มโต และ ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
ถั่วเขียวเมล็ดใหญ่ สุกแก่ไล่เลี่ยกัน ผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรคราแป้ง โรคใบจุด เป็นจุดเด่นของถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขยายผลการปลูกถั่วเขียว KUML ด้วยความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตอบโจทย์ทั้งเป็นพืชหลังนาบำรุงดิน สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร และผลผลิตยังเป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อ
การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่พบในหลายชนิดพืช ถั่วเขียวก็เช่นกัน เมื่อ “ถั่วเขียว KUML” เป็นที่นิยมของทั้งเกษตรกรและตลาดรับซื้อ “เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML คุณภาพ” จึงถูกถามหาไม่แพ้กัน การเกิดขึ้นของ ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน ภายใต้ความร่วมมือของ สท. สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเป็นหนึ่งกลไกที่ปลดล็อกคอขวดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML
เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ ‘เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว’
ไม่เพียงเกษตรกรจะขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML คุณภาพ เกษตรกรจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องเมล็ดพันธุ์ (seed) ทำให้ (ถูกหลอก) ซื้อเมล็ด (grain) มาใช้ปลูก ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตถั่วเขียว
เมล็ดพันธุ์ vs เมล็ด
เมล็ดพันธุ์ (seed) ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ ต้องมีความงอกสูง ตรงตามพันธุ์ มีความบริสุทธิ์สูง เกษตรกรหมั่นตรวจแปลง ต้องกำจัดพันธุ์ปน การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวต้องไม่กระทบกระเทือนการงอก ลดความชื้นให้เหลืออย่างน้อยร้อยละ 12 มีสิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2
เมล็ด (grain) ใช้บริโภคหรือแปรรูป ไม่เน้นความงอก มีความต้องการเฉพาะเจาะจง (เช่น คุณภาพการหุงต้ม คุณค่าทางโภชนาการ ฯลฯ) เกษตรกรหมั่นตรวจแปลง ไม่เน้นกำจัดพันธุ์ปน ใช้อุณหภูมิสูง (80 องศาเซลเซียส) เพื่ออบลดความชื้นได้ ความชื้นเมล็ดร้อยละ 14 มีสิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 5
เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยตั้งต้นของการผลิตพืช คุณภาพของเมล็ดพันธุ์จึงมีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเป็นหนึ่งใน 34 ชนิดเมล็ดพันธุ์ควบคุมลำดับที่ 13[1] คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพิจารณาจากความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และเมล็ดบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 98[2]
ชั้นของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวแบ่งได้เป็น เมล็ดพันธุ์คัด ได้จากนักปรับปรุงพันธุ์ เมล็ดพันธุ์หลัก ขยายจากเมล็ดพันธุ์คัดโดยนักวิชาการ เมล็ดพันธุ์ขยาย ขยายจากเมล็ดพันธุ์หลักโดยนักวิชาการ และเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ขยายจากเมล็ดพันธุ์ขยายโดยนักวิชาการ หรือกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ชุมชน ซึ่งแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์มีมาตรฐานลักษณะคุณภาพดังนี้
ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว
หนึ่งในลักษณะเมล็ดพันธุ์ที่ดี คือ ตรงตามพันธุ์ ดังนั้นการรู้ประวัติการปลูกในแปลง เว้นระยะระหว่างแปลง และกำจัดพันธุ์ปน เป็น 3 ขั้นตอนสำคัญที่เพิ่มเติมจากการปลูกถั่วเขียวทั่วไป
นอกจาก 3 ขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มเติมและต้องให้ความสำคัญแล้ว ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและจัดการหลังการเก็บเกี่ยวสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น มีรายละเอียดที่เกษตรกรต้องคำนึงถึงเช่นกัน ทั้งวิธีการเก็บเกี่ยวที่หากใช้รถเกี่ยวนวด จำเป็นต้องทำความสะอาดรถหรือเป่าเมล็ดที่ตกค้างในรถก่อนนำไปใช้เพื่อป้องกันการปนพันธุ์ หรือการลดความชื้นเมล็ดด้วยวิธีตากแดดบนลานต้องไม่กระทบกระเทือนการงอก จึงต้องมีตาข่ายไนลอนหรือผ้าพลาสติกรอง รวมถึงวิธีการเก็บรักษา ทั้งการใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ปิดสนิท สถานที่เก็บที่สะอาด หรือแม้แต่การวางบนฐานรองหรือไม้รองกระสอบ วิธีการเหล่านี้ช่วยชะลอให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพช้าลงได้
ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน
ที่ผ่านมา สท.และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกถั่วเขียว KUML ให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ และเกิดการขยายความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพได้ตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งกว่าศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชนจะเกิดขึ้นได้ เกษตรกรจะต้องมีทั้งความรู้ มีทักษะการผลิต มีความพร้อมของเครื่องมือและสถานที่จัดเก็บ รวมถึงการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ของกลุ่ม เพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ โดยมีทีมนักวิชาการ สท. และผู้เชี่ยวชาญ ร่วมติดตามและให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
“เราเก็บเมล็ดพันธุ์กันอยู่แล้ว แต่ยังทำไม่ถูกวิธี ตากยังไม่แห้งพอ เก็บใส่กระสอบปิดถุงทั้งที่เมล็ดยังร้อน ทำให้เจอทั้งมอดและเป็นเมล็ดนุ่น แต่พอทำตามคำแนะนำที่ต้องตากให้แห้ง 2-3 แดด เก็บใส่ถุง 2 ชั้น ให้เมล็ดคลายความร้อนก่อนเย็บปิดปากถุง ก็ไม่มีปัญหาอีก แล้วเราทดสอบความงอกเมล็ดด้วย เพื่อให้รู้ว่าเมล็ดของเรางอกได้ดีมั้ย ซึ่งก็ได้ตามมาตรฐาน” คำบอกเล่าจากสมศักดิ์ จันทร์เรียน ประธานวิสาหกิจแปลงใหญ่ถั่วเขียวตำบลท่าแดง อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์
กลุ่มฯ ของสมศักดิ์ได้รับการเติมเต็มความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML จนกลายเป็นศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน ล่าสุดของ สท. ไม่ต่างจากนิยม สุขจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวชุมชนอำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่นำประสบการณ์การทำกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวมาใช้กับการบริหารกลุ่มถั่วเขียว และเติมด้วยความรู้ทางวิชาการที่ได้รับจาก สท.และผู้เชี่ยวชาญ
“ได้เพิ่มทักษะความรู้จาก สวทช. และอาจารย์หลายอย่าง แต่ก่อนเราหว่าน แต่เดี๋ยวนี้ใช้วิธีหยอด ทำให้ดูแลง่าย ทั้งตัดพันธุ์ปนและจัดการหนอน แล้วการทำเมล็ดพันธุ์ เราเก็บมือ เก็บมาแล้วต้องตากแดดให้แห้งไม่เกิน 3 แดดจัด จัดเก็บในถุง 2 ชั้น วางบนไม้รอง (pallet) เราทำเมล็ดพันธุ์ข้าวกันอยู่แล้ว ก็ใช้แนวทางเดียวกัน และเรามีกรรมการกลุ่มฯ ไปสุ่มตรวจแปลงเพื่อให้สมาชิกได้ประเมินการปลูกของตัวเองและพัฒนาให้ดีขึ้น”
ปัจจุบันศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชนมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน บ้านดอนหวาย ตำบลบ่อยาง อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี
- ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวชุมชนอำเภอเมืองจันทร์ ตำบลเมืองจันทร์ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ
- ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชุมชนตำบลน้ำเกลี้ยง ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ
- ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชน วิสาหกิจแปลงใหญ่ถั่วเขียวตำบลท่าแดง อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์
การเกิดขึ้นของศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ระดับชุมชนไม่เพียงทำให้มีแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่รองรับความต้องการของเกษตรกรทั่วประเทศ หากยังพัฒนาเกษตรกรไทยให้ทำเกษตรด้วยความรู้และเทคโนโลยี
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- คู่มือ ปลูกถั่วเขียวพันธุ์ดี ด้วยความรู้ ให้ผลผลิตสูง รายได้งาม (ฉบับปรับปรุง). สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. 2567.
- ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก “คู่มือปลูกถั่วเขียวพันธุ์ดีด้วยความรู้ ให้ผลผลิตสูง รายได้งาม”
[1] ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
[2] ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน คุณภาพและวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม พ.ศ. 2556