เรื่องราวแห่งพืชพันธุ์จากงานศิลป์

เรื่องโดย
ผศ.ดร.​ป๋วย อุ่นใจ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


 

“ภาพหนึ่งภาพสื่อแทนถ้อยคำได้นับร้อยพัน” และในถ้อยคำเหล่านั้น อาจมีนัยและข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายแอบซ่อนไว้อยู่ด้วยภายใต้ฝีแปรงอันวิจิตร

อีฟ เด สเมท (Ive De Smet) นักพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกนต์​​ (Ghent University) ประเทศเบลเยี่ยม เชื่อว่า​ภาพศิลปะจากยุคต่างๆ นอกจากจะสวยงามในยามชื่นชมแล้วยังแฝงนัยแห่งวิทยาศาสตร์ไว้ให้เราค้นหาอีกมาก

เขากับนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เดวิด เฝอร์เกาเวน (David Vergauwen) จากแอมาแรนท์ (Amarant) ได้เริ่มสนใจศึกษาภาพวาดในยุคต่างๆ โดยเน้นที่พืชผลไม้ที่มีรูปร่าง สี หรือขนาดที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ได้เห็นภาพของแผงผลไม้ โดยจิตกรเฟลมิช (Flemish artist) ฟรานซ์ สไนเดอร์ (Frans Snyders)  ที่วาดไว้ใน ศตวรรษที่ 17

เขาสังเกตเห็นว่าแตงโมในภาพมีเนื้อในสีขาวซีด แทนที่จะแดงชุ่มฉ่ำเหมือนที่เรารับประทานกันอยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาภาพอื่นๆ ในยุคเดียวกันพบว่าแตงโมในยุคนั้นมีสองสี ทั้งแดงและขาว ซึ่งตัวแปรที่ทำให้แตงมีสีต่างกันก็คือยีนที่ควบคุมการสร้างไลโคปีน (lycopene) ที่เป็นรงควัตถุสีแดงนั่นเอง

“น่าจะเป็นการกลายพันธุ์บางอย่างที่กีดกันไม่ให้เกิดการสะสมรงควัตถุในเนื้อแตง ซึ่งด้วยความรู้ทางพันธุศาสตร์พืชในปัจจุบันที่มีอยู่ เราจะสามารถศึกษาเจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในตอนนั้น” เด สเมทกล่าว

เด สเมท เผยว่าที่จริงแล้วงานศึกษาวิวัฒนาการของพืชผ่านยุคต่างๆ นั้น ทำได้หลายวิธี ทั้งขุดหาซากพืชโบราณมาแล้วเอาไปวิเคราห์ดีเอ็นเอ (บางคนเรียกโบราณพฤกษคดี (archaeobotany)) หรือแม้แต่ศึกษาจากตำราและบันทึกโบราณที่เขียนบรรยายถึงพืชพันธุ์ต่างๆ ไว้อย่างละเอียดก็ทำได้ แต่ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราจินตนาการเห็นภาพได้ง่ายเท่ากับการมองเข้าไปในภาพวาดที่เหมือนจริงแล้ว อิ่มเอมกับข้อมูลที่เห็นด้วยตาตัวเอง

ภาพแผงผลไม้ของฟรานซ์ สไนเดอร์ 

เทคนิคการวิเคราะห์และตีความจากภาพนี้เรียกว่าการวิเคราะห์ภาพแบบไอโคโนกราฟิก  (Iconographic approach)

แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง คือ ศิลปินบางคนก็มีความติสต์ และอาจจะใส่จินตนาการแฟนตาซีลงไปในภาพ ทำให้ตีความผิดได้อยู่เหมือนกัน

อย่างถ้าไปเอาภาพเหยือกน้ำกับชามผลไม้ (Pitcher and Bowl of Fruit) ของพาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) มาใช้ ก็คงจะไม่ได้ข้อมูลอะไรเท่าไร

ซึ่งวิธีแก้คือก็คงต้องเลือกภาพวาดและศิลปินสักหน่อย ดูบริบทรอบๆ ก็น่าจะพอจะเดาได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าภาพนี้สะท้อนภาพความเป็นจริงมากเพียงไร อาจจะต้องศึกษาและเก็บข้อมูลจากภาพวาดให้มากที่สุดก่อนที่จะตีความและสรุปผลอะไรออกมา และอาจจะต้องมีการเปรียบเทียบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ด้วยว่าข้อมูลที่จะได้นั้นน่าจะเชื่อถือได้สักเพียงไร

ภาพ Pitcher and Bowl of Fruit ของ Pablo Picasso

ตัวอย่างที่เขาเอามาใช้วิเคราะห์เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีไอโคโนกราฟิกนี่ใช้ได้ ก็คือกุหลาบ เพราะเป็นดอกไม้ยอดนิยมที่อยู่คู่กับอารยธรรมมนุษย์มานานแสนนาน

ดอกกุหลาบเริ่มปรากฏในภาพวาดในยุคอารยธรรมไมนอส (minos) หรือยุคสำริดในกรีก ราวๆ หนึ่งพันห้าร้อยปีก่อนคริสตกาล ในภาพ Minoan Blue Bird Fresco จากพระราชวังคนอสซอส (Knossos palace) บนเกาะครีต (Crete)  และปรากฏในภาพวาดจากยุคต่างๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ นักผสมพันธุ์กุหลาบยังได้ทำบันทึกพงศาวลีและแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์กุหลาบพันธุ์ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด อีกทั้ง กุหลาบหลายสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์อ้างอิงก็ยังคงถูกปลูกเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กันอยู่และพบเห็นได้ในทุกวันนี้อีกด้วย

นั่นทำให้เราสามารถเปรียบเทียบภาพดอกกุหลาบจากอดีตและในปัจจุบันกับที่พบในภาพวาดในยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจแนวคิดในการพัฒนาพันธุ์ การเลือกลักษณะทางพันธุกรรมของนักผสมในแต่ละยุค อีกทั้งยังได้เห็นวิวัฒนาการของกุหลาบที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ อีกด้วย

การวิเคราะห์กุหลาบช่วยยืนยันว่าการวิเคราะห์ภาพแบบไอโคโนกราฟฟิกนี้น่าเชื่อถือและเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณต่างๆ ในสังคมมนุษย์ได้ค่อนข้างดี​

ภาพ Blue Bird Fresco จากอารยธรรมไมนอส ในยุคกรีกโบราณ

โดยส่วนใหญ่นักพัฒนาพันธุ์พืชมักจะเน้นพัฒนาอะไรที่ปลูกง่าย ขายได้ และทน เช่น ทำให้สีสวย มีธาตุอาหารมากขึ้น เก็บเกี่ยวง่าย และหนามน้อยลง ยกตัวอย่างเช่นในภาพเขียน “ผู้เก็บเกี่ยว (The harvesters)” อันเลื่องชื่อ ของ​ปีเตอร์ เบรอเคิล ผู้พ่อ (Pieter Bruegel the Elder) ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน​(Metropolitan Museum of Art) ในนิวยอร์กที่แสดงให้เห็นถึงภาพนาข้าวสาลีในยุโรป ในปี 1565  ในตอนนั้น ต้นข้าวสาลีมีขนาดใหญ่เทียมหัวผู้เก็บเกี่ยว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้าวสาลีที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันที่มีความสูงอยู่เพียงแค่เข่าของเกษตรกรเท่านั้น

แต่ถ้าให้ตามล่าหารูปและก็นั่งวิเคราะห์กันแค่สองคน คงทำอะไรได้ไม่มาก พวกเขาจึงวางแผนที่จะสร้างฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าขนาดใหญ่โดยใช้พลังโลกโซเชียลที่จะช่วยสกรีนหาและโพสต์รูปของภาพเขียนจากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกที่มีผักผลไม้ปรากฏอยู่รวมทั้งรายละเอียดที่ แล้วติด hashtag #ArtGenetics  

และด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีในปัจจุบัน ผนวกกับข้อมูลรายงานและบันทึกอื่นๆ ไม่แน่ว่ารูปถ่ายภาพเขียนเพียงไม่กี่ภาพของคุณอาจจะช่วยเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจอดีตและปัจจุบันของพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ ได้ในระดับจีโนมเลยทีเดียว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การสร้างพืชพันธุ์แห่งอนาคตก็เป็นได้

คำบรรยายภาพ: ภาพ The harvesters โดย Pieter Bruegel the Elder

เดวิด เฝอร์เกาเวน และ อีฟ เด สเมท กำลังจะตีพิมพ์แนวคิดเกี่ยวกับไอโคโนกราฟิกของพวกเขาในบทความเรื่อง Genomes on canvas: Artist’s perspective on evolution of plant-based foods ในวารสาร Trends in Plant Science ฉบับดือนสิงหาคม 2020  ใครสนใจสามารถไปตามอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

About Author