หนูหูมนุษย์ มิโนทอร์ กับอคติประกอบสร้าง

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


ภาพของหนูทดลองตัวหนึ่ง เรือนร่างเปลือยเปล่าแต่มี “หูมนุษย์” งอกขึ้นมาบนหลัง คือภาพที่โด่งดังที่สุดจากผลงานของศัลยแพทย์ โจเซฟ วาคานติ (Joseph Vacanti) และนักชีววิศวกรรม ชาร์ล วาคานติ (Charles Vacanti) และทีมวิจัยของพวกเขาที่ MIT ในปี ค.ศ. 1997

หนูพันธุ์นูด (nude mouse) หรือหนูเปลือยที่ไม่มีขนและไม่มีภูมิคุ้มกัน ถูกฝังโครงพอลิเมอร์รูปใบหูที่ถูกเติมด้วยเซลล์กระดูกอ่อนของมนุษย์

แม้จะไม่ได้ยินและไม่สามารถรับเสียงได้ แต่รูปลักษณ์ของมันก็ยัง “ดูเหมือนหู”

เป็นใบหูที่เติบโตอยู่บนแผ่นหลังของหนู มีเลือดมาเลี้ยงจริง มีโครงสร้างเนื้อเยื่อจริง ศัลยแพทย์และนักวิจัยมองมันว่าเป็น “โครงร่างเนื้อเยื่อ (tissue scaffold)” ที่เป็นความหวังใหม่ แต่พวกนักข่าวกลับเรียกมันว่า “เรื่องสยองขวัญ” และสำหรับนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ นี่คือ “การไร้ความละอายที่น่าขยะแขยง (abomination)”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่คือบทพิสูจน์ (proof of concept) ว่าเราเลี้ยงเนื้อเยื่อสังเคราะห์ได้ในสัตว์ แนวทางนี้เป็นไปได้ และราคาอาจจะแรงน้อยกว่าพยายามเลี้ยงในขวดที่ราคาอาหารและอีกสารพัดสารที่ต้องใส่ลงไปในการเพาะเลี้ยงนั้นแพงหูฉี่

ใบหูเพาะเลี้ยงนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างมหาศาลให้แก่คนไข้ที่ใบหูพัฒนาผิดปกติตั้งแต่เกิด (congenital malformation of pinna) ให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เข้าสังคมได้อย่างคนปกติทั่วไป

เทคโนโลยีนี้คือจุดเริ่มของหนึ่งในไอเดียพลิกโลก “วิศวกรรมเนื้อเยื่อ” เริ่มจากใบหู แล้วค่อย ๆ ขยับขยายไปอวัยวะอื่น ปอด ตับ ม้าม ไต ตับอ่อน

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของคำถาม “เราจะขยายปริมาณการสร้างอวัยวะมนุษย์ในร่างของสัตว์ได้มากแค่ไหน ?

ในโลกที่มนุษย์สามารถ “ปลูกสร้าง” ส่วนหนึ่งของมนุษย์ลงไปในสัตว์ เราต้องเริ่มตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่างร่างกายกับวัตถุ ระหว่างการรักษากับการควบคุม

เรื่องนี้เป็นประเด็นน่าสนใจในเชิงจริยธรรม มันไม่ได้เกิดแค่ในห้องทดลอง แต่ในโลกแห่งตำนาน เรื่องราวของร่างประหลาดที่เป็นลูกผสมก็มีอยู่มากมายดาษดื่นไม่ต่างกัน และแต่ละตัวก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ

มิโนทอร์ (Minotaur) เป็นสิ่งมีชีวิตจากตำนานกรีกโบราณ มีหัวเป็นวัว ตัวเป็นชายรูปร่างกำยำล่ำสัน


ภาพมิโนทอร์บนภาชนะดินเผา (kylix) สมัยกรีก เมื่อราว 515 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ที่มาภาพ : Marie-Lan Nguyen, CC BY 2.5, via Wikimedia Commons

เขาเป็นลูกของราชินีพาซิฟาเอ (Pasiphaë) มเหสีผู้เจิดจรัสของราชาไมนอส (Minos) แห่งเกาะครีต (Crete) กับวัวศักดิ์สิทธิ์ของเทพโพไซดอน

มิโนทอร์เกิดจากการสาปแช่ง และความปรารถนาอันบิดเบี้ยว ด้วยความโกรธขึ้ง ราชาไมนอสสร้างเส้นทางเขาวงกตอันลึกชันเพื่อคุมขังมันเอาไว้ และคอยส่งมนุษย์ไปเป็นเครื่องเซ่นเป็นระยะ ๆ

และนั่นทำให้มิโนทอร์กลายเป็นอสูรร้ายที่ขึ้นชื่อลือชาในความน่าสะพรึงกลัวและโหดเหี้ยม

แต่ถ้ามองในอีกมุม มิโนทอร์ไม่ได้เลือกร่างของมันเอง มันไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาเพื่อถูกขังและถูกกลัว

ก็ไม่ต่างอะไรจากหนูหู (ของโจและชาร์ล) ที่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าร่างกายของมันถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทดลอง และนั่นทำให้ผู้คนเข้าใจผิด หวั่นกลัวและเกลียดชังมัน แม้ว่าแท้จริงแล้วพวกมันอาจเป็นหนึ่งในหนทางที่ช่วยนำทางพวกเราไปสู่การแพทย์ยุคใหม่ที่อวัยวะอะไหล่สามารถซื้อเปลี่ยนได้แบบไม่จำกัด (ถ้ามีเงิน) ก็ตาม

สเตลอาร์กกับใบหูที่สาม
ที่มาภาพ : Andy Miah, CC BY-SA 2.0, via Flickr

ตัดภาพกลับมาที่โลกสมัยใหม่

ศิลปินชาวออสเตรเลีย สเตลอาร์ก (Stelarc) ใช้ร่างกายของตัวเองเพื่อเป็นสนามทดลอง !

เขาใช้กระดูกอ่อนของตัวเขาเองขึ้นรูปกับโครงร่าง (scaffold) เลียนแบบหนูหูมาแทบทุกประการ และใช้เวลาอีกหกปีเพื่อตามหาหมอที่บ้าพอจะยอมผ่าตัดเพื่อปลูก “ใบหูที่สาม” ไว้บนแขนซ้ายของเขา

หูนั้นไม่มีรูหู ไม่มีเสียง แต่มันมีไมโครโฟน และสามารถสตรีมเสียงเข้าสู่เน็ตเวิร์ก

สเตลอาร์กเชื่อว่าร่างกายมนุษย์ดั้งเดิมไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับเขา “The body is obsolete.”

เขาแขวนตัวเองด้วยตะขอผ่านผิวหนัง เชื่อมกล้ามเนื้อกับกลไก สร้างหุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมผ่านคลื่นสมองจากผู้ชม

ไม่ใช่เพื่อทดลอง แต่เพื่อถามคำถามที่ตอบได้ยากว่า “เรายังเป็นเจ้าของร่างกายของเราอยู่หรือเปล่า ?

น่าคิด เพราะถ้าร่างกายอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเป็นเพียงร่างที่ถูกสร้างให้ “มีอยู่” เพื่อเป้าหมายของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ์ใดที่จะเลือก แล้วใครควรจะถือสิทธิเหนือร่างนี้

แต่ส่วนตัวผมว่ามีอีกประเด็นที่น่าสนใจกว่า นั่นคือ “มันยุติธรรมแล้วหรือไม่ที่จะถูกมองเป็นจำเลยสังคมเพียงเพราะมีอะไรใหม่ที่เกินหรือผิดแผกไปจากปกติ” ไม่ว่าจะเป็นหนูหูที่วิ่งเล่นอยู่ในกรง รอวันผ่าใบหูออก ไปจนถึงมิโนทอร์ที่ถูกขังชั่วนาตาปีอยู่ในเขาวงกต หรือสเตลอาร์กที่ปลูกใบหูใหม่ในเรือนร่างของตัวเอง

ทั้งหมดต่างเผชิญปัญหาเดียวกันนั่นคือ “อคติ”

โลกเราตัดสินจากรูปลักษณ์เสมอ ไม่ใช่แค่หนูหูที่ถูกหัวเราะ มิโนทอร์ที่ถูกขัง หรือสเตลอาร์กที่ถูกจ้องด้วยสายตาประหลาด แต่รวมถึงคนธรรมดาที่มีรอยสัก หูเจาะ ลิ้นแฉก ที่เดินสวนคุณในตลาดยามเช้า อคตินั้นเร็วกว่าเหตุผล เหมือนอินโฟเดมิกที่แพร่ไวกว่าไวรัส สังคมกลัวสิ่งที่ต่าง แต่กลับไม่เคยฟังเสียงจริงของมัน ถ้ามนุษย์สร้างอวัยวะใหม่ไม่ได้แปลว่าอหังการ แต่อาจแค่ต้องการมีชีวิตรอด

ชีวิตใดก็แค่อยากมีที่ยืน แม้จะเป็นที่เล็ก ๆ ในสายตาคนทั้งโลก

ถ้าเรายอมเปิดใจเปิดรับมากขึ้น และเริ่มที่จะฟังให้เข้าใจก่อนอย่างไม่ตัดสิน สังคมของเราก็อาจจะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้สำหรับทุกคน

เพราะเนื้อเรื่องหลาย ๆ เรื่องก็อาจบิดเบี้ยวไปมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโซเชียลที่ทุกข้อมูล ทุกข่าวสารถูก “คัดกรอง” และ “จัดสรร” มาเพื่อคุณ !!

About Author