ทีมวิจัย สวทช. -พันธมิตร คิดวิธีสกัดสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างแบบง่าย สำเร็จ

(2 พฤศจิกายน 2564) ที่โถงอาคารสำนักงาน สวทช. (โยธี) ถนนพระรามที่ 6 กทม. : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รอง ผอ.สวทช. ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผอ.ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. และทีมวิจัย รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงข่าวในพิธีมอบ “ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019”

โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานมอบชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมจำนวน 82,000 ชุด มูลค่า 8.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวง อว. เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้วยการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานวิจัย และสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด ที่เป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญมาคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรม กระทั่งนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ด่านหน้าได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นด่านหน้า ขณะที่กระทรวง อว. เป็นกองหนุน ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งสถานที่ฉีดวัคซีนตามมหาวิทยาลัยเกือบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนี้


การป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 กระทรวง อว. มีการดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ตลอดจนการสร้างผลประโยชน์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยในระยะสั้นมีโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศหรือเรียกสั้นๆ ว่า U2T ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจากวิกฤตโควิด-19 เป็นการจ้างงานของรัฐบาลที่ทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้คน 60,000 คน ที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านมีงานทำกระจายไป 3 พันตำบลทั่วประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 76 แห่ง ลงสู่ตำบลเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนหลายร้อยล้านบาท และกำลังเข้าสู่โครงการ U2T ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นและต่อยอดจากระยะที่ 1 ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 2.การดูแลเศรษฐกิจชุมชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามบริบทของชุมชน และ 3.การจ้างงานบุคลากรที่มีความรู้ มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นประเด็นสำคัญ จะมีการปฏิบัติงาน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ จ้างงาน 150,000 คน

 

Share:

Facebook
Twitter