หลักการและเหตุผล

ตั้งแต่ช่วงปีงบประมาณ 2542 โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท (Science in Rural Schools: SiRS) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)เพื่อสนองงานตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นการปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบทด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับครูและนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร

เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถนำทักษะกระบวนการคิดและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนชนบทต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคมชนบทให้แก่นักวิจัยสวทช.รุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่ได้อาสาสมัครเข้ามาร่วมดำเนินงานในโครงการ โครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมแบบโครงการต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีพื้นที่รับผิดชอบปฏิบัติงานที่หลากหลาย เช่น จ.แม่ฮ่องสอน น่าน สกลนคร พังงา นราธิวาส ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปทุมธานี เป็นต้น

จนปัจจุบันโครงการฯได้ย้ายมาอยู่ในสังกัดของงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท สายงานด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และมีพื้นที่ปฏิบัติงานหลักได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน น่าน สกลนคร พังงา นราธิวาส และปทุมธานีเท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯฉบับที่ 5 พ.ศ.2560-2569 จัดทำขึ้นในช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศไทยปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน พร้อมๆ กับสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยแม้ว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยเหตุนี้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯฉบับที่ 5 จึงได้จัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญาของการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้งานวิจัยทางศาสตร์ด้านการศึกษาได้มีกล่าวเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ไว้ว่าในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนควรมีความรอบรู้นอกจากสาระวิชาหลักแล้ว ยังควรสามารถพัฒนาทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้สามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ดำรงชีวิต และประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้เป็นอย่างดี

โครงการฯ จึงได้น้อมนำเป้าหมายหลักและวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560-2569 ตลอดจนกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานกับโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีศักยภาพสูงสุดที่จะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมหลัก 3 ด้าน คือ
- ด้านที่ 1 การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
- ด้านที่ 2 การพัฒนาเด็กและเยาวชน
- ด้านที่ 3 การพัฒนาสื่อ แหล่งเรียนรู้ และเครือข่ายของโรงเรียน ดำเนินการผ่านกิจกรรมการอบรมครูและการสร้างประสบการณ์เรียนรู้

สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพการสอนของครู การส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน และการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายทั้งภายนอกและภายในสวทช.กล่าวคือโครงการฯ สามารถร่วมมือกับหน่วยงานภายในที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมกัน อย่างมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศในพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการแม่ฮ่องสอนเอสแอนด์ทีวัลเล่ย์(ของสท.)และหาภาคีภายนอกเช่นมหาวิทยาลัย ประสานความร่วมมือในการสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่อย่างเด่นชัดเกิดเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

จากเหตุผลดังกล่าวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความเด่นชัดขึ้น มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น โครงการฯจึงขอแยกกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ออกมาเป็นโครงการใหม่ต่างหากในชื่อ“โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจังหวัดแม่ฮ่องสอน”หรือ “Mae Hong Son S&T Learning; MSTL” โครงการฯ จึงเสนอแผนการดำเนินงานและกรอบการใช้งบประมาณในภาพรวมระยะเวลา3ปี (2564 – 2566) ให้เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท (SRS) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่ครูผู้สอนและนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่การของ สวทช. ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  2. เพื่อเสริมสร้างความรู้ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม (สะเต็มศึกษา)และเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่ครูผู้สอนและนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติการของ สวทช. ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  3. เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายการทำงานด้านการส่งสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับโรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติการของ สวทช. ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
  4. เพื่อผลักดันให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้จากกิจกรรมในเวทีสำคัญต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งจากโดย สวทช. และ/หรือ หน่วยงานภายนอก รวมทั้งโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

ภาระกิจของโครงการ

mstl_duty.png

พื้นที่ปฏิบัติงาน

โครงการจะดำเนินงานเพื่อพัฒนาครู และนักเรียนในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปาย ปางมะผ้า ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง และสบเมย โดยมีพื้นที่การดำเนินงานในโรงเรียนตามตารางข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากการถ่ายโอนมาจากโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท โดยมีบางโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ สวทช. ในโครงการอื่นๆ ด้วย

โรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 13 โรงเรียน แยกตามสังกัด

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน สพฐ.
1. โรงเรียนปายวิทยาคาร++
2. โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ ++
3. โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ ++
4. โรงเรียนขุนยวมวิทยา +,++
5. โรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ +,++
6. โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” ++
7. โรงเรียนสบเมยวิทยา +,++
8. โรงเรียนเฉลิมรัชวิทยา +,++
สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. 1. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 +,++
2. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 22 +,++
3. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 34 +,++
4. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน +,++
สังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
กระทรวงมหาดไทย
1. โรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ++