ความเป็นมา

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงงานในพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 และทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียนวัดบ่อหลวงวิทยาธรรม อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน  ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา หลายชาติพันธุ์ และประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ค่อนข้างต่ำ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการคือ (1) ส่งเสริมให้สามเณรนักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ มีภาวะโภชนาการและสุขอนามัยที่ดี เป็นพื้นฐานทางการศึกษาและการเรียน (2) เสริมสร้างโอกาสและทางเลือกของการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้บรรพชา เข้ารับการศึกษาสายสามัญ นักธรรมบาลีและด้านวิชาชีพในระดับสูงจากระดับมัธยมศึกษาเป็นต้นไป และ (3) สร้างศาสนทายาทที่จะบำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนา

          ในปี 2547 หน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ภายใต้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ สวทช. สนองงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จังหวัดน่าน ผ่านโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท และเมื่อทรงรับโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ เข้าโครงการตามพระราชดำริเพิ่มขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในปี 2550 สวทช.จึงได้จัดตั้ง “โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี” ขึ้น เพื่อสนองงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ในโครงการตามพระราชดำริ  ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

เป้าหมายการพัฒนา

ระยะแรกของการดำเนินโครงการ มุ่งเน้นการพัฒนาศักภาพบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ และพัฒนา/สร้างความเข้มแข็งระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารสถานศึกษาให้ทัดทียมกับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  ควบคู่กับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ  

ในปี 2558 โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ในโครงการตามพระราชดำริ จำนวน 41 โรงเรียนจาก 60 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 68  ผ่านการประเมินคุณภาพภาพภายนอกรอบ 3 จากสมศ. และมีแนวโน้มโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ผ่านการประเมินเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริหาร บุคลากรโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ รวมทั้งนักวิชาการของหน่วยงานต้นสังกัดมีความรู้ เข้าใจ แนวทางการบริหารสถานศึกษาเพิ่มขึ้น ดังนั้นเป้าหมายในการพัฒนาในระยะต่อมา โครงการฯ จึงมุ่งเสริมสร้างให้โรงเรียนที่อยู่ในโครงการมีความสามารถและศักยภาพ ที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพื่อ

ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะส่งผลให้สามเณรนักเรียน ครูบรรพชิตและครูฆราวาส รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบการศึกษา ตลอดจนเยาวชนและประชาชนทั่วไป  ได้รับความรู้และความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดการเรียนรู้กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการคิดอย่างมีเหตุมีผล  สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในจัดการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้   นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมาะสมกับภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับสามเณรนักเรียนจากการนำผลงานด้านวิชาการไปประกอบการยื่นสมัครศึกษาต่อและหรือการขอทุนการศึกษา

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในพื้นที่ปฏิบัติการ
  2. เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งการพัฒนาให้เกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่สามเณรนักเรียน พระอาจารย์ผู้บริหารสถานศึกษา ครูบรรพชิต และครูฆราวาส ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในพื้นที่ปฏิบัติการ
  3. เพื่อพัฒนาเทคนิคการใช้สื่อ แหล่งเรียนรู้ ของครู และสร้างเครือข่ายการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในพื้นที่ปฏิบัติการ

กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ปฏิบัติการ

พัฒนาครูและสามเณรนักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 16 โรงเรียน จังหวัดแพร่ จำนวน 7 โรงเรียน  จังหวัดเชียงราย จำนวน 21 โรงเรียน จังหวัดพะเยา จำนวน 9 โรงเรียน   จังหวัดลำปาง จำนวน 9 โรงเรียน และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 9 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 71 โรงเรียน 

ผลการดำเนินงาน

          จากการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลการพัฒนาดังนี้

  1. จากการพัฒนาศักยภาพเทคนิคการสอนของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มาอย่าง

ต่อเนื่อง ทำให้ครูวิทยาศาสตร์มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผลงาน เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้น

ตัวอย่างครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ที่ได้รับรางวัลในเวทีระดับประเทศ

พระพิพัฒน์ อภิวฑฺฒโน (อายะนันท์) ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนร้องแหย่งวิทยา อ.สูงเม่น จ.แพร่ ได้รับรางวัลครูดีเด่นสะเต็มศึกษา (Thailand STEM Education Teacher Awards) ประเภทบุคคล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปี 2560 จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)

2. จากการพัฒนาการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของสามเณรนักเรียน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ มีคุณภาพมากขึ้น สามารถนำผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีต่างๆ ซึ่งจะทำให้สามเณรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้และสามารถ และสามารถนำผลงานและหรือรางวัลไปประกอบในแฟ้มสะสมงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการศึกษต่อและขอรับทุนการศึกษา

3. จากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโครงการฯและร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายอย่างต่อเนื่องส่งผลผลการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (ONET) ของสามเณรนักเรียน ระดับชั้นม.3 และม.6 ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ในโครงการตามพระราชดำริ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และปัจจุบันมีคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาสูงกว่าระดับสังกัด
4. การพัฒนาสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ : โครงารฯ ได้มีการจัดหา/สนับสนุนหนังสือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนวัดนาราบวิทยา อ.นาน้อย จ.น่าน

สภาพห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ก่อนพัฒนา

สภาพห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หลังพัฒนา

ผลงานเด่นในปีงบประมาณ 2566

1.คณะครูและสามเณรนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม จังหวัดน่าน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการส่งโครงการเรื่อง นาบุญ นาบัว เข้าร่วมประกวดในโครงการ “กล้าดี” ปีที่ 7 ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2565 จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยโครงการเกิดจากการนำแนวคิดในการจัดทำโครงการจากหลักคิดของ BCG Model บูรณาการร่วมกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนหนองบัว ซึ่งเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนหนองบัว

2. การสนับสนุนและผลักดันในการพัฒนา/สร้างสรรค์ผลงานด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับพระการนำเสนอผลงานพระมหาพิพัฒน์ อายะนันท์ ครูวิทยาศาตร์โรงเรียนร้องแหย่งวิทยา จ.แพร่ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีนี้ ได้ตัวแทนของสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำเสนอผลงานแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในงานประชุมวิชาการการพัฒนาแผนเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร(กพด.) ประจำปี 2565 ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ณ อิมแพคเมืองทองธานี และจากการที่มีผลงานดีเด้นมาอย่างต่อเนื่องทำให้พระมหาพพัฒน์ ได้รับรางวัลครูดีศรีปริยัติ ประเภทครูสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2565

3. การผลักดันให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ นำเสนอโครงงานในการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 (Globe Student Research Competition 2023) จัดโดยสสวท.  จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดบุญยืน จ.น่าน  โรงเรียนวัดฟ้าสวรรค์ จ.น่าน โรงเรียนศรีเกษตร จ.ศรีสะเกษ  และโรงเรียนร้องแหย่งวิทยา จ.แพร่ รวมทั้งสิ้น 5 โครงงาน 

ผลการประกวด : โครงงานเรื่องการเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของดิน พื้นที่ส่วนบนกลาง ท้าย หลังการเก็บเกี่ยว กรรณีศึกษาแปลงปลูกข้าวไร่ บ้านป่าแพะ อ.เวียงสา จ.น่าน  ของโรงเรียนวัดบุญยืน จ.น่าน ได้รับรางวัลพิเศษ ทีมวิจัยทีมงานวิจัยใช้ Authentic Globe Protocols

แผนการดำเนินงานในปีการศึกษา 2566 - 2567

          กลางปี 2566 โครงการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบมจ.ธนาคารกสิกรไทย ในการ               ดำเนินโครงการ “การขยายผลนวัตกรรมการศึกษาเพาะพันธุ์ปัญญาให้แก่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” ระยะเวลาการดำนินงาน 1 ปี 1 เดือน ระหว่างเดือน มิถุนายน 2566 – กรกฎาคม 2567  โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือครูและสามเณรนักเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จ.น่าน(นำร่อง) จำนวน 14 โรงเรียน  สำหรับพื้นที่ปฏิบัติการอื่นๆ โครงการยังคงดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการจัดอบรมให้กับชมรมครูวิทยาศาสตร์และสามเณรนักเรียน เน้นเรื่องการลงมือปฏิบัติ ฝึกการแก้ไขปัญหาจากโจทย์ในพื้นที่โดยการใช้กระบวนการทำโครงงาน สนับสนุนสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รวมทั้งผลักดันให้ครูและสามเณรนักเรียนได้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานในเวทีต่างๆ