หลักการและเหตุผล

โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท (Science in Rural Schools: SiRS)
เป็นโครงการต่อเนื่องที่ดำเนินการโดยงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท ด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ มาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับครูและนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถนำทักษะกระบวนการคิดและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนชนบทต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคมชนบทให้แก่นักวิจัย สวทช. รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่ได้อาสาสมัครเข้ามาร่วมดำเนินงาน

จากแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯฉบับที่ 5 พ.ศ.2560-2569 จัดทำขึ้นในช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศไทยปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียนพร้อมๆกับสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แม้ว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยเหตุนี้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ฉบับที่ 5 จึงได้จัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ.2560-2579)ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญาของการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้นักการศึกษาได้มีการพัฒนากระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ไว้ว่า “ในศตวรรษที่ 21 นี้ นักเรียนควรมีความรอบรู้เกี่ยวกับสาระวิชาหลัก (ภาษาแม่และภาษาสำคัญของโลก ศิลปะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐ และความเป็นพลเมืองดี) ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี” ด้วยโครงการ SiRS ได้นำเป้าหมายหลักและวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯฉบับที่ 5 พ.ศ.2560-2569 ตลอดจนกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานกับโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีศักยภาพสูงสุดที่จะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านเป้าหมายหลัก 4 ด้าน คือ
ด้านที่ 1 การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
ด้านที่ 2 การพัฒนาเด็กและเยาวชน
ด้านที่ 3 การพัฒนาหลักสูตรและสื่อ
ด้านที่ 4 พัฒนาเครือข่ายด้าน วทน.ในพื้นที่

ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร Active Learning จากศักยภาพของพื้นที่วิเคราะห์ตามหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน ผ่านกิจกรรมที่ใช้แนวคิด STEM Education ส่งเสริมและพัฒนาครูผู้สอน สร้างประสบการณ์เรียนรู้และแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ผลักดันให้เกิดโครงงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ปฏิบัติงาน จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน สกลนคร พังงา และนราธิวาส มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 94 แห่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการเรียนรู้จากกระบวนการทักษะชีวิต เชื่อมโยงกับบริบทในพื้นที่ ร่วมกับเครือข่าย เป็นการบ่มเพาะ และสร้างให้เยาวชนสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ สามารถปรับตัวและแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับการดำรงชีวิตในวิถีใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์โครงการ

  1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ครูผู้สอนในโรงเรียนชนบท
  2. เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ครูผู้สอนและนักเรียนในโรงเรียนชนบท
  3. เพื่อพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนชนบท
  4. เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนชนบท
  5. เพื่อพัฒนาความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้แก่ครูผู้สอนและนักเรียนในโรงเรียนชนบท

แผนการดำเนินงานภาพรวม

พื้นที่ปฏิบัติงาน

โรงเรียนในพื้นที่ปฏิบัติงาน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือและเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดสกลนคร(อำเภอกุสุมาลย์) จังหวัดพังงา(อำเภอคุระบุรีและท้ายเหมือง) และจังหวัดนราธิวาส(อำเภอแว้ง)

โรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติงานของโครงการแต่ละจังหวัด จำนวน 94 แห่ง

ลำดับที่ จังหวัด จำนวนโรงเรียน
1 น่าน 28
2 สกลนคร 26
3 พังงา 15
4 นราธิวาส 23