Archive for category Press release

เปิดโลกความสามารถด้านไอซีทีเด็กไทย กับ“มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10”

เปิดโลกความสามารถด้านไอซีทีเด็กไทย กับ“มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10”

The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011

 [singlepic id=406 w=320 h=240 float=]

โดยความร่วมมือของ เนคเทค ร่วมกับซิป้า และอินเทล ส่งเสริมความสามารถเยาวชนไทยต่อเนื่องครบ 1 ทศวรรษ เนรมิตลานแสดงโชว์ผลงานและความสามารถด้านไอซีทีสุดยิ่งใหญ่ ด้วยสุดยอดผลงานนวัตกรรมต้นแบบ ผลงานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและ ไอที ซอฟต์แวร์ จากแนวคิดของเยาวชน นับร้อยผลงานจากทั่วประเทศ พร้อมกิจกรรมการแข่งขัน ประกวดผลงาน และสัมมนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ก่อนต่อยอดสู่การแสดงความสามารถในระดับสากล ร่วมเชียร์และสัมผัสความสามารถของเยาวชนไทยได้ตั้งแต่วันนี้ – 3 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่ห้อง         ไอส์แลนด์ ฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพฯ

 [singlepic id=403 w=320 h=240 float=]

กรุงเทพฯ – วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2554) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (ซิป้า) และ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีเปิดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องไอส์แลนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพมหานคร             โดยในพิธีเปิดงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา คณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศ พร้อมกับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

 

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงาน  “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างมากในการแสดงออกถึงความสามารถของเยาวชน โดยถือเป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่เยาวชนจะได้แสดงถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเยาวชนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อว่าหากมีการสนับสนุนด้วยดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน ความสามารถในด้านดังกล่าวจะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติ อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์สู่การเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคตได้อีกด้วย

“อยากจะขอเชิญชวนให้มาสัมผัสกับความสามารถของเยาวชนไทยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รับรองว่าถ้าได้เห็นแนวคิดของพวกเขาแล้ว เราจะทึ่งในความสามารถอย่างแน่นอน และเราจะได้รู้ว่า นอกจากเรื่องของการแสดง ศิลปะ หรือกีฬา เยาวชนไทยก็มีความสามารในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านสารสนเทศเช่นกัน ซึ่งการมาเยี่ยมชมของทุกท่านจะเป็นแรงผลักดันให้ทั้งเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมมีแรงใจที่จะพัฒนาผลงานของพวกเขา ส่วนผู้จัดโครงการและผู้สนับสนุนก็จะมีแรงใจที่จะสร้างสรรค์งานหรือกิจกรรมดีๆอย่างนี้ต่อไป”  ดร. วีระชัย กล่าว

 

ด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC) กล่าวว่า มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในครั้งนี้ จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 10 แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้ ความสามารถของเยาวชนไทย ให้สามารถพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีศักยภาพ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และยังเป็นการบ่มเพาะต้นทุนแห่งทรัพยากรมนุษย์ สู่การพัฒนารากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงสร้างสรรค์

“การจัดงานในครั้งที่ 10 นี้ ถือเป็นการย้ำความสำเร็จของการจัดงานที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และจะมีความยิ่งใหญ่มากขึ้นจากปีที่ผ่านๆมา พร้อมทั้งมีการต่อยอดให้เยาวชนได้แสดงความสามารถในระดับสากลอย่างที่มีผลสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของงานนี้ คือความร่วมมือจากสถานศึกษา และเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มาร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ ผ่านผลงานที่เข้าร่วมประกวดในโครงการต่างๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน การที่ประชาชนให้ความสนใจมาเยี่ยมชม และให้กำลังใจ จะเป็นการส่งเสริม และให้กำลังใจพวกเขา เพื่อให้พัฒนาความรู้ความสามารถและแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในด้านไอซีทีของคนไทย เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทัดเทียมนานาชาติในอนาคต จึงอยากจะขอเชิญชวนให้มาร่วมงานและมาเป็นแรงใจให้กับเยาวชน ตั้งแต่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ ศกนี้ เพียง 3 วัน เท่านั้นครับ” ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว 

 

นายสันติ สุรรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (ซิป้า) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 ซึ่งเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่งที่มีส่วนพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีของเยาวชนไทย โดยในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการร่วมในการคัดสรรผลิตภัณฑ์ดีเด่น ที่ทางซิป้าได้มีส่วนร่วมสนับสนุนตามเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของคนไทยให้สามารถใช้งานภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ ตลอดจนสามารถทัดเทียมกับนานาชาติได้

“ต้องยอมรับว่าบุคลากรที่มีคุณภาพในส่วนเทคโนโลยีของบ้านเรายังถือว่ามีจำนวนไม่เพียงพอ เมื่อเที่ยบกับความต้องการบุคลากรในการพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนดังกล่าว จึงทำให้ต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก แต่ทั้งนี้ จากการได้เห็นการพัฒนาของผลงานที่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนที่จะก้าวสู่แวดวงเทคโนโลยีเห็นความสำคัญในฐานะที่มีเวทีให้แสดงความสามารถ รวมทั้งมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ประเทศของเราได้บุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ พัฒนาวงการเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต”  นายสันติ กล่าว 

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์        (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่า สำหรับ “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 ทางอินเทลได้มีการสนับสนุนมาเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดยบทบาทสำคัญคือการผลักดันให้เยาวชนและผลงานที่ชนะเลิศจากการประกวด ได้มีโอกาสร่วมแข่งขันและแสดงความสามารถในระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นอีกความสำคัญของโครงการที่ได้มีการต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม

“เรามองเห็นถึงความสามารถของเยาวชนไทย ที่สามารถโชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลกได้อย่างภาคภูมิ          จึงได้มีการส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนที่ชนะการประกวดในโครงการได้มีเวทีระดับนานาชาติเพื่อแสดงความสามารถ และในปีนี้ก็เช่นกัน ผู้ชนะการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 13 (The Thirteenth Young Scientist Competition: YSC 2011) จะได้รับการสนับสนุนให้ได้ร่วมประกวดโครงการ Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนไทยก็ทำผลงานได้ดี และเชื่อว่าจะสร้างผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะเป็นการประกาศความสำเร็จของการจัดงานที่มีอย่างต่อเนื่องมาครบ 1 ทศวรรษ และจะมีความสำเร็จในเวทีระดับโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน” นายเอกรัศมิ์ กล่าวในตอนท้าย  

 

ทั้งนี้ “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น การเสนอผลงาน 150 ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ อาทิ โปรแกรมเกม โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (CAI) โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ โปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งาน Web Contest และ Mobile Application ในการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 (The Thirteenth National Software Contest: NSC 2011)

          ชมการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 13 (The Thirteenth Young Scientist Competition: YSC 2011) สรรหาสุดยอดตัวแทนประเทศไทยชิงชัยในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ร่วมให้กำลังใจนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตัวแทนค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์จาก              ทั่วประเทศในการแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 10 (The Tenth Youth’s Electronics Circuit Contest: YECC 2011) เพื่อชิงชัยในการประดิษฐ์และสร้างสรรค์วงจรไฟฟ้าเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) เพื่อค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์

          ชมการแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (The Eleventh National Linux Competition: NLC 2011) ระดับนักเรียนและประชาชนทั่วไปในการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อใช้โปรแกรมต่างๆในลินุกซ์ทะเลและการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมและให้บริการเครือข่ายโดยใช้ระบบ ปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ระบบปฏิบัติการตามแนวทาง Open Source ที่ช่วยให้ท่านประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

พร้อมกันนี้ ในการจัดงาน ทั้ง 3 วัน ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบนเวที เช่นการพูดคุยกับแขกรับเชิญ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับครู-อาจารย์ สาขาวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมสัมมนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย รวมถึงการรับฟังเทคนิคและเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสร้างแรงบันดันดาลใจให้กับเยาวชนไทยที่สนใจในเรื่องเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 564 6900 ต่อ 2345 หรือ 2388 – 9 หรือทางเว็บไซต์  www.nectec.or.th/fic/

รมว.วิทย์ฯ ดร.วีระชัย เปิดสถาบันวิทยาการ สวทช.ชูธงสร้างคนป้อนตลาดอุตสาหกรรมผลิตและบริการครบวงจรมาตรฐานระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

[singlepic id=394 w=320 h=240 float=]

27  มกราคม 2554  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค   ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล  ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นประธานเปิดตัวสถาบันวิทยาการ สวทช. หรือ NSTDA Academy เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการพัฒนากำลังคนขององค์กรทั้งระดับอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ โดยการให้บริการของสถาบันฯ ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและSMEs โดยยึดหลักให้ผู้ที่ผ่านการอบรมจากสถาบันวิทยาการ สวทช.มีความรู้จริงจากกรณีศึกษาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในแต่ละองค์กรและรองรับทุกการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อาทิ หลักสูตรการประเมินผลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ การอบรมมาตรฐานวิชาชีพขั้นสูงด้านไอทีเพื่อรองรับการเติบโตของงานด้านไอทีระดับประเทศและนานาชาติ โดย ดร.วีระชัย กล่าวในรายละเอียดว่า  

[singlepic id=397 w=320 h=240 float=]

“แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและครบวงจรนั้น  จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือ การพัฒนาบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ และความเข้าใจบนพื้นฐานขององค์ความรู้ (Knowledge)  ที่สามารถตอบโจทย์และประเด็นใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทันต่อเหตุการณ์  อันจะเป็นการสร้างผลิตภาพ มูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขัน  เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภาคการผลิตและบริการ  สู่เวทีการค้าที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งสถาบันวิทยาการ สวทช.หรือ NSTDA Academy นั้นได้ตอบโจทย์อย่างชัดเจน และจุดที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นสถาบันการอบรบที่มีความแตกต่างจากสถาบันอื่นๆ และมีความโดดเด่นในการที่จะขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาบุคลากร ในฐานะสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่จัดตั้งมาเป็นเวลากว่า 23  ปี  ที่ได้มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ภาคการผลิตและบริการของไทยได้อย่างแท้จริง”

[singlepic id=400 w=320 h=240 float=]

ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า  สถาบันวิทยาการ สวทช. หรือ NSTDA Academy จะดำเนินงานภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ 1) ให้บริการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาทางวิชาการและเทคนิค เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบุคลากรในภาคการผลิตและบริการของประเทศไทย 

2) ผลักดัน ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการใช้ประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย  ผ่านกลไกการเชื่อมโยงและส่งต่องานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. ไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคการผลิตและบริการ  และ 3) นำเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคการผลิตและบริการ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการบริหารจัดการที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมืออาชีพ  รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและโจทย์ประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[singlepic id=391 w=320 h=240 float=]

ทั้งนี้  ในการเปิดตัวเพื่อแนะนำบริการและความเชี่ยวชาญในปี 2554 นี้  สถาบันวิทยาการ สวทช. ได้นำเสนอบริการและความเชี่ยวชาญภายใต้หลักสูตรการอบรมผ่านธงหลัก 3 ประการซึ่ง  ประกอบด้วย

1.กลุ่มหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไอซีทีสำหรับผู้บริหาร หรือ Executive Education/ICT for Executives ซึ่งเป็นกลุ่มหลักสูตรเดียวของประเทศที่ออกแบบ เพื่อบูรณาการและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะแก่ผู้บริหารทั้งสายงาน ICT, Non ICT และ HR

2.กลุ่มหลักสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Technology & Green ICT เช่น หลักสูตรเรื่อง Life Cycle Assessment เรื่อง Carbon Footprint of Products และเรื่อง Eco Design Implementation จึงเป็นกลุ่มหลักสูตรเดียวของประเทศที่ครอบคลุมและทันการณ์ต่อการรับมือกับการเผชิญปัญหาภาวะโลกร้อน

3.การเปิดอบรมและจัดการสอบรับรองมาตรฐานวิชาชีพไอที หรือ Professional Standard Assessment, Exam nation and Certification ซึ่ง สถาบันวิทยาการ สวทช.NSTDA Academy จะเป็นสถาบันเดียวที่เห็นความสำคัญในการผลักดันให้มีมาตรฐานวิชาชีพเทคโนโลยีขั้นสูงในระดับนานาชาติ อันเป็นการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นภาคีหนึ่งในประชาคมอาเซียนในปี 2558   โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน 

ทั้งนี้  ในงานเปิดตัวดังกล่าวนอกเหนือจากการแนะนำบริการและความชำนาญที่เป็นเลิศแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำ  และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและบริการของหน่วยงานพันธมิตร  พร้อมกันนี้ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สอบผ่านโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที (ITPE)  ซึ่งเป็นตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาความรู้และทักษะเชิงเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศไทย

กระทรวงวิทย์ฯ เอ็มเทค/สวทช. พัฒนา “ซอฟต์แวร์ LCA” สำเร็จ ใช้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ครั้งแรกของอาเซียน

 

25 มกราคม 2554 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ: ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดตัวระบบการจัดการฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของไทย “Thai Life Cycle Inventory Data Management System (ThaiLCD)” ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกของไทย ชื่อ Thai GHGs+ Software ซึ่งเป็นระบบและซอฟต์แวร์ด้าน LCA รายแรกของประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการดังกล่าวเกิดจากร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุและชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากประเทศญี่ปุ่น ผ่าน Japan External Trade Organization (JETRO), Bangkok

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. กล่าวว่า  การพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิต (ThaiLCD) และซอฟต์แวร์ ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์นำร่อง 60 ผลิตภัณฑ์  ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ระบบเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ที่ประเทศในสหภาพยุโรปให้ความสำคัญ อาทิ อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้ ฝรั่งเศสมีกำหนดที่จะประกาศใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นกฎหมายภายในเดือน กรกฎาคม 2554 ซึ่งโครงการร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากช่วยวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดความตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะฉะนั้น หากผลิตภัณฑ์ของไทยมีการใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุต พริ้นท์กันอย่างแพร่หลาย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

 

 

 

นอกจากนี้ ดร.วีระชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง เอ็มเทค/สวทช. พร้อมเปิดรับบริการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ กว่า 60 ผลิตภัณฑ์นำร่อง เพื่อสนับสนุนการใช้ซอฟแวร์ที่ได้พัฒนาขึ้นตามมาตรฐานสากล และมีฐานข้อมูลของไทยกว่า 600 ฐานข้อมูล โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการใช้ซอฟท์แวร์ต่างชาติกว่าเท่าตัว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามหลักสากลต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ Call Center 0 2564 8000 หรือหากท่านใดสนใจวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์สามารถที่จะเข้าไปดูวิธีการประเมินได้ที่ http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/

 

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) การจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ และการประยุกต์ใช้ โดยเอ็มเทคได้ร่วมมือกับ 4 หน่วยงานพันธมิตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก “ยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า” และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การจัดทำฐานข้อมูลครอบคลุมวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ เอ็มเทค/สวทช. ยังได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Green Partnership Plan ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 รวมเป็นเวลากว่า 8 ปี โดยมี Japan External Trade Organization (JETRO), เป็นผู้ประสานงานหลัก  สนับสนุนการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลฯ จัดสัมมนาและอบรมเชิงลึก ผ่าน 2 โครงการหลัก คือ Green Manufacturing Technical Assistance Program ในช่วงปีพ.ศ. 2545-2550  และ โครงการ Sustainable Manufacturing for Thailand หรือ SMThai+ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคในด้านของการขยายฐานข้อมูล LCI ของประเทศ  การประยุกต์ใช้ฐานข้อมูล LCI ในอุตสาหกรรมของไทย ตลอดจนขยายความรู้สู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในปี 2552-2553 ที่ผ่านมา จากผลการทำงานเชิงบูรณาการทั้งในและต่างประเทศ  ปัจจุบัน ประเทศไทยมีฐานข้อมูล LCI กว่า 600 ฐานข้อมูล ครอบคลุมกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  ตามวิธีที่เป็นมาตรฐานสากล สอดคล้องกับ ISO14040 และ 14044 และอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชียและเป็นที่ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ เอ็มเทค/สวทช. ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมใช้ฐานข้อมูล LCI จึงได้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ชื่อ Thai GHGs+ ที่สามารถใช้รองรับการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โครงการกำลังพัฒนาอีก 1 ซอฟต์แวร์ ที่สามารถใช้ประเมินผลกระทบครอบคลุมทุกประเด็นตลอดวัฏจักรชีวิต สำหรับการออกแบบและพัฒนาศักยภาพทางนิเวศเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีค่าได้อย่างยั่งยืน รศ.ดร.วีระศักดิ์ฯ กล่าว 

กระทรวงวิทย์ฯ/เอ็มเทค สวทช. มอบเสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูง แก่แม่ทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก เพื่อภาระกิจป้องปรามยาเสพติด

 [singlepic id=382 w=320 h=240 float=]

22 มกราคม 2554  ณ  กองทัพภาคที่ 3 ค่ายนเรศวร  จังหวัดพิษณุโลก : ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบเสื้อเกราะป้องกันกระสุนแบบแข็ง ที่เกิดจากงานวิจัยและพัฒนาจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.)  ให้แก่ พลโท วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 จำนวน 47 ตัว เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง และร่วมปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างนักช่วงนี้

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การส่งมอบเสื้อเกราะป้องกันกระสุนให้แก่กองทัพภาคที่ 3 ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกบทบาทสำคัญที่ วท.ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในด้านความมั่นคง โดยการสนับสนุนและส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง และเพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาลตามกรอบที่กำหนดไว้ อาทิ กระทรวงกลาโหมได้ประกาศนโยบายสำคัญไว้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 ที่จะให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อมุ่งสู่การพึ่งพาตนเอง โดยเน้นความร่วมมือกับเครือข่ายการวิจัย ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหม ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การทำงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.  ทั้งในด้านการสนับสนุนผลงานที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาหลายประการอันได้แก่ เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่มีประสิทธิภาพสูง เสื้อเกราะกันกระสุน โปรแกรมแปลภาษาท้องถิ่น เช่น มลายู และภาษาชนกลุ่มน้อยแถบชายแดนที่ติดกับประเทศไทย โครงการวิจัยและพัฒนาระบบรู้จำใบหน้าบุคคลสำหรับใช้ในภารกิจ ปิดล้อม ตรวจค้น จุดตรวจ เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ในภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงของประเทศ เพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย และที่สำคัญคือการพึ่งพาเทคโนโลยีและการผลิตภายในประเทศที่สามารถตอบสนองการใช้งานในการแก้ไขปัญหาและลดค่าใช้จ่ายในด้านงบประมาณที่จะต้องใช้ในการซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป

 

 

ส่วนเสื้อเกราะกันสุนที่มอบให้แก่ แม่ทัพภาคที่ 3 นั้น เป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเอ็มเทค/สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถวิจัยและพัฒนาแผ่นเกราะกันกระสุนแบบแข็งที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ในการผลิตเสื้อเกราะป้องกันกระสุน จนเป็นผลสำเร็จ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  ผลงานวิจัยดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการสนับสนุนหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ สำหรับใช้ในกิจการป้องกันอันตรายของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหากวาดล้างยาเสพติดที่ระบาดอย่างหนักในระยะนี้ โดยกองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในพื้นที่ 17 จังหวัด ภาคเหนือ รวมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ดร.วีระชัยฯ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) กล่าวเพิ่มว่า ส่วนประกอบแผ่นเกราะกันกระสุน ประกอบด้วย แผ่นกระจายแรง และแผ่นดูดซับแรง ซึ่งแผ่นกระจายแรงทำจากเซรามิกส์ชนิดอลูมินา นำมาหุ้มประกอบกับโลหะอะลูมิเนียมและเส้นใยเคฟลาร์ความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่ดูดซับแรงและช่วยเก็บสะเก็ดไม่ให้เป็นอันตราย โดยแผ่นเกราะแข็งมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งที่ออกแบบให้รองรับกับสรีระของคนไทย ซึ่งแผ่นกระจายแรงที่อยู่ด้านนอกจะทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุน ด้วยคุณสมบัติของวัสดุเซรามิกส์ที่เบาและแข็ง สามารถทำลายหัวกระสุนที่มีความเร็วสูงให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ และความแข็งช่วยให้กระจายแรงได้ดี ทั้งนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงดังกล่าว มีน้ำหนักเพียง 8 กิโลกรัม มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า เพราะสามารถทนต่อความชื้นและแสงแดดได้ดีกว่า เสื้อเกราะที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนดังกล่าว ผ่านการทดสอบคุณภาพจากกองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันภัยของเกราะบุคคลในระดับ 3A (ยิงด้วยกระสุน .44 แม็คนั่ม และ M855)  และมีประสิทธิภาพในระดับ 3  (ยิงด้วยกระสุน 7.62 มม.) เมื่อใช้ร่วมกับเสื้อเกราะอ่อน 3A  ตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) ของสหรัฐอเมริกา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เอ็มเทคยังมีโครงการวิจัยอื่นที่มีการต่อยอดจากโครงการดังกล่าว เพื่อเลือกใช้วัสดุเซรามิกส์ที่เบากว่า แต่มีความแข็งแรงเท่ากับอลูมินา เพื่อนำไปทำเป็นเกราะสำหรับงานประเภทอื่นนอกเหนือจากเสื้อเกราะป้องกันกระสุน

ก.พลังงาน จับมือ กระทรวงวิทย์ ฯ ชู MOU บูรณาการด้านการส่งเสริม วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทน หวัง 2 กระทรวงประสานงานใกล้ชิด ด้านงบประมาณและบุคลากร ยันเป็นแรงผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนโดยคนไทย สร้างงานให้คนไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

[singlepic id=367 w=320 h=240 float=]

วันนี้ (13มค.) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ วิจัย และพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีผู้บริหารระดับสูง และผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานทั้ง 2 กระทรวง พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากทุกแขนง เข้าร่วมงาน และเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 2 กระทรวงพลังงาน

[singlepic id=364 w=320 h=240 float=]

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และการร่วมกันเซ็น MOU ในวันนี้ ถือเป็นการบรรลุข้อตกลงที่สำเร็จขึ้นครั้งแรกร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง และนับเป็นการบูรณาการความร่วมมือด้านงานวิจัยครั้งสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยกระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะได้มีข้อตกลงร่วมกัน ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทน ให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยเฉพาะตามแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานทดแทนแห่งชาติ 15 ปี

[singlepic id=361 w=320 h=240 float=]

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญของ MOU ครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความตั้งใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนในด้านต่างๆ ซึ่งจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยจ้างงานโดยคนไทย สร้างผู้ประกอบการไทยและนำมาซึ่งการลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่สำคัญของ MOU นี้ จะเกิดการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม หรือคณะทำงานร่วมกันของทั้ง 2 กระทรวง อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการดำเนินการด้านงบประมาณสนับสนุนในโครงการต่างๆ ระหว่างกันเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมด้านงานวิจัย และพัฒนาการเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังจะได้สนับสนุนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อประกอบการส่งเสริม งานวิจัย และการพัฒนาพลังงานเทคโนโลยี เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอย่างจริงจังในอนาคต และมั่นใจว่า MOU ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ ในการเร่งพัฒนา เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนอย่างรอบด้าน อาทิ ในภาคการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพืชพลังงานรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการผลิตความร้อนและกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ขยะ และก๊าซชีวภาพ อย่างจริงจังต่อไป

 

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่าพลังงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนโดยรวมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจด้านการผลิตและการขนส่งของประเทศ ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดหาพลังงานทดแทนจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศที่รับผิดชอบในด้านการวิจัยพัฒนา จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานของชาติ ได้แก่ การผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลมาใช้เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันการวิจัยโดยนำพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ขยะ ก๊าซชีวภาพมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ทำการวิจัยเพื่อนำพลังงานใหม่ๆ อาทิ พลังงานไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) พลังงานจากคลื่นทะเลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น มาทดแทนพลังงานที่กำลังจะขาดแคลน ซึ่งท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/index.php/nstda-r-and-d/2797-nstda-energy-env-cluster-201101

ดร.วีระชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การบูรณาการความร่วมมือด้านงานส่งเสริม วิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงพลังงานในวันนี้ จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทั้งการกำหนดสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนไว้ประมาณร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมด โดยร่วมกันกำหนดแนวทางการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับแผนแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตของวัตถุดิบที่ใช้ผลิต เอเทนอลและ ไบโอดีเซล ทั้งส่วนที่เป็นพืชอาหาร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม และพืชพลังงาน เช่น สบู่ดำ สาหร่าย รวมทั้งการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเอเทนอล และ ไบโอดีเซล โดยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานระหว่าง 2 กระทรวง ที่มีเป้าหมายเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริงในอนาคต

IRPCเสริมทัพงานวิจัยและพัฒนาจับมือ สวทช. ต่อยอดผลิตภัณฑ์

[singlepic id=346 w=320 h=240 float=]

IRPC เดินหน้างานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เต็มสูบ ประกาศจับมือ สวทช. ต่อยอดวิจัย 5 ผลิตภัณฑ์หลักให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ก่อนจะก้าวไปสู่ความร่วมมืออื่นๆในอนาคต ชี้เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะสร้างฐานความรู้ด้านงานวิจัยและต่อยอดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมของประเทศ

 

          วันที่ 7 มกราคม 2554 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อวิจัยและพัฒนาโครงการและผลิตภัณฑ์ของ IRPC ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ                 ด้วยการคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์สำคัญของบันทึกข้อตกลงฯ นี้ คือ เพื่อสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ                ให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการคิดค้นและวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการวิจัยของประเทศ ให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างฐานความรู้อย่างยั่งยืน

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า               การลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ IRPC ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการเป็นพันธมิตรระหว่างหน่วยงานทั้ง 2 ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือมุ่งหวังจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือนี้ สวทช. จะเข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนา              เพื่อต่อยอด 5 ผลิตภัณฑ์หลักของ IRPC ประกอบด้วย

  1. โครงการ Green ABS ที่ IRPC คิดค้นสำเร็จเป็นรายแรกของโลก โดย สวทช. จะทำการวิจัยและพัฒนาเพิ่มคุณภาพของยางพาราให้มีคุณภาพและใกล้เคียงกับยางสังเคราะห์มากขึ้นเพื่อจะเพิ่มปริมาณการทดแทนให้ได้ถึง 50% จากเดิมที่สามารถทดแทนยางสังเคราะห์ได้เพียง 20%
  2. โครงการ EPS for construction ที่นำโฟมมาผสมกับคอนกรีตเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานและลดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่ง สวทช. จะเข้ามาช่วยพัฒนาชิ้นงานให้บางและเบาขึ้น รวมทั้งเพิ่มคุณสมบัติการเป็นฉนวนให้ดีขึ้นไม่ติดไฟ และยังผสมโฟมลงไปในส่วนงานทำคอนกรีตที่ใช้ทำพื้น เพื่อช่วยในการกันความร้อนได้เลยเหมือนเป็นฉนวนไปในตัว

 

  1. โครงการ Compound Polymer Composite (WPC) ซึ่งเป็นการผลิตเม็ดพลาสติกผสมขี้เลื่อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถลดการตัดต้นไม้และลดการใช้พลาสติกได้มากที่สุดถึง 70% ซึ่ง สวทช. จะเข้ามาพัฒนาในส่วนงานขึ้นรูปพลาสติก เช่น เก้าอี้พลาสติก ไม้เทียม                        ที่จะนำไปใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งต่างๆ เป็นต้น
  2. โครงการ Renewable Chemical ที่นำน้ำมันพืชมาทดแทนน้ำมันดิบ ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นหรือ น้ำมันเครื่องด้วยการเติมไฮโดรเจนลงไป เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและสังคมที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นในปัจจุบัน โดย สวทช. จะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาให้คุณภาพน้ำมันที่ได้เหมาะสมกับการเป็นน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันหล่อลื่น
  3. โครงการ Acetylene Black คือการนำแก๊ส Acetylene มาเผาเพื่อให้ได้เขม่าดำสำหรับอุตสาหกรรมถ่านไฟฉายซึ่ง สวทช. จะเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพของเขม่าดำให้สูงขึ้นจนสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมโซล่าเซลล์ และ แบตเตอร์รี่รถยนต์ในที่สุด โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ให้นำมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 [singlepic id=349 w=320 h=240 float=]

ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ IRPC ก้าวไปสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำ ของภูมิภาคเอเชียในปี 2557 ดังนั้น บริษัทฯ จึงจะเพิ่มความเข้มข้นในการให้ความสำคัญกับงานด้านนี้มากขึ้น โดยในปีหน้าบริษัทฯ มีแผนจะลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับสินค้า Specialty พร้อมทั้งจะเพิ่มงบในการวิจัยพัฒนาในสินค้าเกรดพิเศษเป็นสัดส่วน 1% ของรายได้รวม จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 0.1% ของรายได้

 

“IRPC ถือเป็นเกียรติที่ได้ สวทช. เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านการวิจัยและพัฒนา ที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราหวังว่าจะมีความร่วมมืออื่นๆ อีกในอนาคต เพราะการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการสนับสนุนเราในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทชั้นนำของเอเชียเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการร่วมกันแสดงให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงศักยภาพด้านการวิจัยของคนไทยอีกด้วย” กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว

 

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนและรัฐ ในการขับเคลื่อนศักยภาพด้านงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ และเป็นภารกิจที่ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายพันธกิจสำคัญ คือการเป็นรากฐานในการสร้างเครือข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ

 

 

 

            “สวทช. มีนักวิจัยจากหลากหลายสาขาที่พร้อมจะสร้างงานวิจัยที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคมและประเทศชาติตามแนวโนบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการวิจัยของประเทศ เพื่อก้าวสำคัญ ในการพัฒนางานวิจัยให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และเห็นความสำคัญของการวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับของสังคมและสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานความรู้ พร้อมสร้างสรรค์พัฒนาก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีองค์ความรู้ผ่านกลไกการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การอุดหนุนและให้คำปรึกษากับเอกชนผ่านโครงการ iTAP ซึ่งอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมแก้โจทย์ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม โดยสวทช.ให้เงินทุนช่วยเหลือได้ 50% เงินอุดหนุนการวิจัยให้กับภาคเอกชนมากถึง 75% รวมถึงแรงจูงใจทางด้านภาษี สำหรับบริษัทเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาเทียบเท่ากับว่าลดภาษีน้อยลง เป็นกลไกกระตุ้นให้ภาคเอกชนต้องการทำงานวิจัยมากขึ้น

 

ในโอกาสอันดีนี้ ผมเชื่อมั่นว่าการที่สององค์กรที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้ผนึกกำลังจะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการวิจัยและพัฒนา และนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

 

 

———————————————–

 

ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ : ชนิดา  สัณหกร ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายกำกับและสื่อสารองค์กร บมจ.ไออาร์พีซี

โทรศัพท์ :  0 – 2649-7285, 0 – 2649 – 7271 

โทรสาร :   0 – 2649 – 7290    E-Mail:     chanida.s@irpc.co.th

 

วีระชัยนำสื่อมวลชนลงพื้นที่น้ำท่วมชมแปลงนาเกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ข้าว “หอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน” เตรียมจ่อนำเข้า ครม.ของบขยายเมล็ดพันธุ์แจกเกษตรกรสู้ภัยน้ำท่วมที่เป็นปัญหาซ้ำซาก

[singlepic id=298 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)  นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงนาของเกษตรกรในพื้นที่ อ.ผักไห่ อยุธยา ซึ่งปลูกข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน อันเป็นผลสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง ผลผลิตสูงให้ทนต่อสภาพน้ำท่วมฉับพลัน นอกเหนือจากแปลงนาเกษตรกรในพื้นที่ผักไห่นี้แล้ว ปัจจุบันยังมีการขยายผลไปในแปลงเกษตรกรพื้นที่ พิจิตร และเพชรบูรณ์ด้วย ดร.วีระชัย รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯเผยเตรียมจ่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายผลโดยขอสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบภัย วางแผนขยายโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีทนน้ำท่วมเพื่อแจกจ่ายเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งสามารถนำไปปลูกได้ 160,000 ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า1200 ล้านบาท  โดย ดร.วีระชัยเปิดเผยในรายละเอียดว่า

[singlepic id=301 w=320 h=240 float=] 

  “จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนหลักของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ไบโอเทค ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง ผลผลิตสูงให้ทนต่อสภาพน้ำท่วมฉับพลันและมีชีวิตอยู่ใต้น้ำได้ไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ อันจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติดังกล่าวได้ ปัจจุบันทดสอบและได้รับผลสำเร็จในหลายพื้นที่ทั้งในจังหวัดอยุธยา พิจิตร และเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สวทช.จัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัย จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ไวแสงจำนวน 2000 ตัน ซึ่งจะสามารถเพาะปลูกได้160,000 ไร่ ทั้งนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 1200 ล้านบาท “

[singlepic id=304 w=320 h=240 float=]

          ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วม กระทบโดยตรงกับการทำนา อาชีพหลักของเกษตรกร เมื่อข้าวไม่ทนต่อสภาวะน้ำท่วมขังย่อมส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิต พันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อน้ำท่วมขัง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในขณะนี้      ปัจจุบัน ไบโอเทค/ สวทช. ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอื่นๆอีกเช่น โรค และแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ได้แก่ สายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน, สายพันธุ์ กข 6 ต้านทานโรคไหม้, สายพันธุ์ข้าวแก้วเกษตรต้านทานโรคไหม้ และ  ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน  ซึ่ง สวทช. ได้นำสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ดังกล่าวไปเผยแพร่ ส่งเสริมให้เกษตรกรในหลาย ๆ พื้นที่แล้ว ได้แก่ สกลนคร อุบลราชธานี น่าน เชียงราย นครพนม ลำปาง ชัยภูมิ  นครพนม สุพรรณบุรี  นครปฐม ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุตรดิตถ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร พิจิตร เฉพาะพันธุ์หอมชลสิทธิ์นี้ ได้มีการเผยแพร่ไป ที่เกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมที่พิจิตร ตั้งแต่ปี 2551  แต่ได้มาส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สหกรณ์การเกษตรผักไห่เป็นแห่งแรก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 66 ล้านไร่ ต้องการเมล็ดพันธุ์ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยทั่วไปเกษตรกรใช้เมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวจากแปลงนาของตนเองเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูต่อไป การใช้ลักษณะนี้ติดต่อกันหลายฤดูปลูก ทำให้เกิดการปนของเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรจึงควรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์อย่างน้อยทุกๆ 3 ฤดู  การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เองและหรือจำหน่าย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของประเทศให้สูงขึ้น และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขายเป็นข้าวเปลือก  โดยปัจจุบันไบโอเทค สวทช.   ได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว คุณภาพดีสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งให้การอบรมและถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูก การดูแลรักษาแปลง การตรวจและกำจัดพันธุ์ปน และการตรวจคัดพันธุ์บริสุทธิ์ เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูต่อไปด้วย

 

 

ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา       หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน  ปรับปรุงพันธุ์ข้าว พันธุ์หอมชลสิทธิ์ ทนน้ำท่วมฉับพลัน โดยเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ข้าว IR57514 ซึ่งเป็นพันธุ์ทนน้ำท่วมฉับพลันกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวหอมชลสิทธิ์ถูกคัดเลือกให้มีคุณสมบัติการหุงต้มแบบข้าวขาวดอกมะลิ เมล็ดข้าวมีกลิ่นหอม สามารถปลูกได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี และสามารถทนอยู่ในน้ำได้นานถึง 2-3 สัปดาห์ มีผลผลิตข้าวเปลือกในระดับ 900 – 1000 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะกับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย เช่น พื้นที่ ต.ผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

นายบุญส่ง กุศลเอี่ยม    ประธานสหกรณ์การเกษตรผักไห่ ให้ข้อมูลว่าจากการประสบปัญหาน้ำท่วมในทุกๆปี ในเขตพื้นที่ ต.ผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลกระทบต่อการทำนาซึ่งนิยมปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลกเป็นหลัก ซึ่งข้าวพันธุ์นี้ไม่ทนต่อสภาวะน้ำท่วมขัง พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน จึงเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่นี้เป็นอย่างดี  ภายใต้ความร่วมมือกับ สวทช. เพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์นี้ สวทช. ได้ส่งนักวิจัยและนักถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาในพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์           การเตรียมการปลูก และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเป็นระยะ และเมื่อเดือนสิงหาคม ได้เริ่มทำแปลงสาธิตประมาณ 30 ไร่ พร้อมเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคมนี้ โดยเป้าหมายของสหกรณ์การเกษตรผักไห่ คือ ส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกรซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2000 คน   ได้ปลูกข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ ทนน้ำท่วมฉับพลัน ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ขยายพันธุ์และส่งไปยังตลาด         ที่มีความต้องการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

นายสุรชัย พงษ์แตง   เกษตรกรที่ทำเกษตรปราณีต  เจ้าของแปลงนาสาธิต 16 ไร่ กล่าวว่า ตนเองและเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อข้าวพันธุ์นี้ โดยเฉพาะลักษณะทางกายภาพของข้าว ได้แก่ การติดเมล็ดดี รวงสวย การเจริญเติบโตเร็ว การแตกกอดี ลำต้นแข็งแรง และนอกจากนี้เมล็ดพันธุ์สามารถเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเพื่อใช้ปลูกในฤดูต่อไป

 

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

โฆษกกระทรงวิทยาศาสตร์ฯ ฝ่ายกิจการพิเศษ

บริษัทไฮกริมหนึ่งในผู้เช่าอุทยานวิทย์ฯ เปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไบโอเทคโนโลยี แบรนด์ KEEEN ผลงานการร่วมวิจัยกับไบโอเทค

[singlepic id=271 w=320 h=240 float=]

ไฮกริม จับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ออก KEEEN นวัตกรรมแห่งพลังขจัดคราบน้ำมัน และบำบัดสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนเดียวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยการศึกษาแนวคิดพัฒนานวัตกรรมไบโอเทคโนโลยีจากเยอรมันมาคิดค้นต่อยอด ผลสำเร็จหลังทดลองให้บริการกับอุตสาหกรรมมานานกว่า 5 ปี พร้อมทำตลาดเชิงรุก ทุ่มงบกว่า 20 ล้านบาท เปิดตัวกระตุ้นตลาด คาดยอดขาย 5,000 ล้านบาทต่อปี

 

นายวสันต์ อริยพุทธรัตน์ ผู้ก่อตั้ง และผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรม ประธานบริหาร – นิเวศน์อุตสาหกรรม (Founder & Industry Pioneer, Chief Industrial Ecologist) บริษัท ไฮกริม เอ็นไวรอนเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช จำกัด กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นโจทย์สำคัญในการปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Industry) ด้วยเหตุนี้ตนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมในภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาวิจัยและคิดค้นด้วยเทคโนโลยีชีวภาพจนเกิดนวัตกรรมใหม่ มีชื่อเรียกว่า สารชีวบำบัดภัณฑ์ (Bioremediation Agent) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในการบำบัดของเสียก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ บริษัทได้นำผลิตภัณฑ์ KEEEN ออกให้บริการลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมานานกว่า 5 ปี มีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการบอกต่อถึงประสิทธิภาพ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จนได้รับการยอมรับจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (แท่นขุดเจาะน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน) อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโรงพยาบาล และอุตสาหกรรมโรงแรม คอนโด อพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่า 5 ปี บริษัทจึงมีความมั่นใจในทีมงานด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ จนเกิดความพร้อมที่จะขยายฐานลูกค้าด้วยการทุ่มเม็ดเงินกว่า 20 ล้านบาททำการตลาดแบบบูรณาการ โดยตั้งเป้ายอดขาย 5,000 ล้านบาทต่อปี

โดยปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ KEEEN มี 10 สูตรที่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม จำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าสินค้านำเข้า ขณะที่มีส่วนประกอบของจำนวนจุลินทรีย์และสารประกอบทางชีวภาพที่เข้มข้นกว่า เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพเองจากโรงงานผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยก เพาะเลี้ยงสายพันธุ์ จนกระทั่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ภายในห้องปฏิบัติการอันทันสมัย โดยเป็นการร่วมวิจัยกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

 

ผู้ส่งข่าว             นางลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ระดมสมอง นักฟิสิกส์ ทั่วประเทศ กำหนดแผนงานวิจัยในอนาคต กับสถาบันวิจัย CERN องค์กรชั้นนำด้านฟิสิกส์ระดับโลก ในงานประชุมวิชาการ โครงการ 1 st CERN School Thailand 2010

        [singlepic id=262 w=320 h=240 float=]

    7 ตุลาคม 2553 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ : ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา “โครงการ 1st CERN School Thailand 2010” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคทั้งจากนักวิชาการ นักวิจัย และนักปฏิบัติ  รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้นักศึกษา/บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ทั้งหลาย เกิดความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงการทดลองมากขึ้น  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกัน  และนำไปสู่การสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักฟิสิกส์ไทยด้วยกัน และระหว่างนักฟิสิกส์ไทยกับนักฟิสิกส์จาก CERN ซึ่งเป็นแหล่งรวมของนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลก  รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้นักฟิสิกส์ไทยมีโอกาสและมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานวิจัยร่วมกับนักฟิสิกส์ชั้นนำ  รวมทั้งเพื่อให้สถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านฟิสิกส์ของไทยสามารถแสวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาไปสู่การทำความร่วมมือเพื่อการวิจัยพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมวลมนุษย์ร่วมกับสถาบันฟิสิกส์ชั้นนำของโลกต่อไปในอนาคต

     [singlepic id=265 w=320 h=240 float=]

       ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท กล่าวว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงนามใน Expression of Interest in The Participation of Physicists from Universities and Research Institutes from Thailand in the CMS Experiment at the CERN LHC Accelerator  ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยเซริ์น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคกับกลุ่มการทดลอง CMS  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคของไทย และเปิดโอกาสให้นักศึกษาและครูจากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ CERN Summer Student Program  และ CERN  High School Physics Teacher Program  ซึ่งจัดในช่วงภาคฤดูร้อนของทุกปีเพื่อพัฒนาความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ด้านฟิสิกส์อนุภาค โดยนักศึกษาและครูจะได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการร่วมกับนักศึกษา ครู และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก

[singlepic id=268 w=320 h=240 float=]

            ซึ่งที่ผ่านมานั้น ความต้องการของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ของสถบันวิจัยเซริ์นได้ทำการวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากเครื่องเร่งอนุภาค Large Hadron (ฮา-ดรอน) Collider หรือ LHC ที่ CERN  ที่กำลังเดินเครื่องอยู่  และเชื่อมโยงเข้ากับแหล่งจัดเก็บข้อมูลในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การก่อกำเนิดและการพัฒนาระบบประมวลผลโดยเทคโนโลยี grid computing   ที่ทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ทั่วโลกในการจัดเก็บข้อมูลและนำข้อมูลที่ได้นำมาซึ่งเทคโนโลยีอันทรงคุณค่าต่อมนุษยชาติอย่างอเนกอนันต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์  เครื่องเล่น DVD  โทรศัพท์มือถือ การไขรหัสพันธุกรรม  การสร้างแบบจำลองการเกิดแผ่นดินไหว  แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการอาศัยองค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ เป็นผลิตผลจากความรู้ด้านฟิสิกส์อะตอมแทบทั้งสิ้น   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่อง MRI  การรักษามะเร็งด้วยนิวตรอน การประยุกต์ใช้รังสีในด้านต่าง ๆ เพื่อการวินิจฉัยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ  ก็ล้วนเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากความรู้ด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์และฟิสิกส์อนุภาค  ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าพลังงานปรมาณูนั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ เพื่อการรักษาชีวิตมนุษย์ได้ เป็นต้น

           

 

ผู้ส่งข่าว             นางลัดดา หงส์ลดารมภ์

โฆษกกระทรวง ฝ่ายกิจการพิเศษ

 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สวทช.ร่วมกับ คณะกรรมาธิการ ว และ ท เร่งมาตรการส่งเสริมงานวิจัยทคโนโลยี 5 ด้านหลักสู่ภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

[singlepic id=244 w=320 h=240 float=]

21 กันยายน 2553 ณ อาคารรัฐสภา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดนิทรรศการแสดงผลงานความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างวันที่ 21-30 กันยายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่มองเห็นและรับรู้ได้ชัดเจน ตลอดจนต้นแบบของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทและเศรษฐกิจโดยรวมของไทย

[singlepic id=247 w=320 h=240 float=]

            นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้มีการนำงานวิจัยมาต่อยอดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการนำไปประยุกต์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการสนับสนุนงานวิจัย คือจัดสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง” ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายน  2553 โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการสัมมนากว่า 400 คน เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้งานวิจัยสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดยคณะกรรมาธิการฯ จะนำผลการสัมมนาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

[singlepic id=250 w=320 h=240 float=]

สำหรับโครงการจัดนิทรรศการ “ผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม” คณะกรรมาธิการฯ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดของ สวทช. ซึ่งเป็นต้นแบบของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วม การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ เป็นต้น

 

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า  นิทรรศการที่นำมาแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 โซน ด้วยกันกล่าวคือ โซนที่ 1 เป็นการแนะนำสวทช. และหน่วยงานในสังกัด โซนที่ 2 เป็นงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการอยู่  เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วม การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มเพื่อเกษตรกร การวิจัยและพัฒนาพลาสติกคลุมโรงเรือน และงานวิจัยเพื่อพัฒนาถุงห่อผลไม้นาโน เป็นต้น ซึ่งผลสำเร็จของของงานวิจัยเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกลุ่มสำคัญของประเทศ สำหรับโซนที่ 3 ได้จัดแสดงเทคโนโลยีที่มีการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว เช่น เครื่องตรวจวัดกลิ่น E-nose ซึ่งจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สเปรย์สมุนไพรควบคุมและกำจัดไรฝุ่น ซึ่งจะแก้ปัญหาสุขภาพให้กับคนจำนวนมากซึ่งมักจะแพ้ไรฝุ่นในที่นอน เครื่องตรวจบัตรเครดิตปลอม ซึ่งเป็นประโยชน์ในวงการธุรกิจ และเทคโนโลยีการผลิตรากฟันเทียม ซึ่งนักวิจัยของสวทช. เป็นผู้วิจัยและพัฒนา โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และได้ดำเนินการภายใต้โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ  เพื่อผู้สูงอายุทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยี ที่ร่วมพัฒนากับภาคเอกชน มาจัดแสดงในโซนนี้ด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์นม bedtime milk ที่สวทช. ได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำการวิจัยให้กับบริษัทแดรี่โฮม ในการวิจัยให้แม่วัวผลิตน้ำนมที่มีเมลาโตนีนสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์เบรคไร้ใยหิน เป็นนวัตกรรมใหม่ ทดแทนการใช้ใยหินซึ่งเป็นสารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่ง สวทช. ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเบรคจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้พัฒนาการออกแบบผ้าเบรคไร้ใยหิน เพื่อเป็นช่องทางเลือกให้กับลูกค้า และเพื่อส่งผลที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายหลัก และมีการวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว

            ทั้งนี้ ผลงานกว่า 30 รายการ ที่นำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่างในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมที่สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อสาธารณประโยชน์โดยรวม สวทช. มีความคาดหวังว่าการจัดนิทรรศการผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ในครั้งนี้ จะนำไปการสร้างสู่ความรู้ ความเข้าใจ ในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อประเทศไทย ต่อไป ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวฯ

 

 

ผู้ส่งข่าว             นางลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โทรศัพท์            026448150-89  ต่อ 217,212,712