Archive for category Press release

สวทช. ขานรับ นโยบาย รมว.วท. เร่งผลักดันนโยบายด้าน ว & ท สู่ภาคเอกชน

[singlepic id=574 w=320 h=240 float=]
สวทช. ขานรับ นโยบาย รมว.วท. เร่งผลักดันนโยบายด้าน ว & ท สู่ภาคเอกชน หวังขยายตลาดทุนในอนาคต พร้อมเตรียมพื้นที่วิจัยรองรับแก่เอกชน กว่า 124,000 ตารางเมตร ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ

[singlepic id=577 w=320 h=240 float=]

5 กันยายน 2554 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี : ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานร่วมประชุมหารือกับภาคธุรกิจเอกชน ผู้เช่าสถานที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กว่า 40 ราย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆที่จะรองรับความต้องการและสนับสนุนภาคเอกชน  เพื่อเร่งสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่สังคม

[singlepic id=580 w=320 h=240 float=]

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วท กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี   ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 หนึ่งในนโยบายหลักทั้งแปด คือ นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม โดยมีนโยบายที่สำคัญอยู่หนึ่งข้อ คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างแหล่งงานเพื่อรองรับบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งผลักดันนโยบายดังกล่าวสู่เชิงปฏิบัติและสร้างบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มกำลังแข่งขันของธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานที่จะก้าวสู่ตลาดทุนในอนาคต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่ง มีหน้าที่สร้างคุณค่าให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน ด้วยการนำองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาถ่ายทอดสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

[singlepic id=586 w=320 h=240 float=]

นอกจากนี้  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเอกชนเพื่อทำการวิจัย หรือร่วมวิจัยกับภาครัฐ โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย(Thailand Science Park) ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์รวมการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาด้าน ว และ ท ที่ครบวงจร เชื่อมโยงกิจกรรมวิจัยพัฒนาให้เกิดการขยายผลในเชิงพาณิชย์และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ต่อพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งพัฒนากำลังคนและสร้างมวลรวม (Critical Mass) ด้านวิจัยพัฒนา ให้กับประเทศ และกระตุ้นจูงใจให้เอกชนมีการลงทุนด้านธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันได้ขยายการดำเนินงานในระยะที่ 2 โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารนวัตกรรม 2 ซึ่งจะมีขนาดพื้นที่อาคารเพิ่มขึ้นอีก 124,000 ตารางเมตร จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2556 ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้

ดร.ปลอดประสพฯ รมว.วท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. คงจะเน้นหนักในเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับ phase 2 และเติมเต็มสิ่งที่ขาด เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีเพิ่มเติมจากระยะที่ 1 ที่ให้บริการเต็มพื้นที่แล้ว ซึ่ง สวทช. ได้ลงทุนเพิ่มเติมในส่วนห้องปฏิบัติการวิจัยของภาครัฐเพื่อรองรับความจำเป็นเร่งด่วนด้าน ว และ ท ของประเทศ คาดว่าเมื่อเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบแล้วจะมีผู้ประกอบการเทคโนโลยีเช่าพื้นที่ประมาณ 200 ราย เกิดการจ้างงานประมาณ 2,000 คน และจะทำให้ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย(Thailand Science Park)  เป็นแกนกลางในการเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ

[singlepic id=583 w=320 h=240 float=]

ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการทั้งหมดที่เช่าใช้พื้นที่Thailand Science Park ใน Phrase 1เพื่อทำวิจัยพัฒนาปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 115 บริษัท แบ่งเป็นประเภทของธุรกิจ เช่น ด้านอาหาร การเกษตร และการแพทย์   ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ พลังงานและสิ่งแวดล้อม คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ Business Support โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความพึงพอใจและได้รับประโยชน์ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อทำการวิจัยพัฒนา อาทิ เครือเบทาโกร ซึ่งได้มาจัดตั้ง Betagro Science Center เพื่อเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาของเครือเบทาโกร และให้บริการตรวจวิเคราะห์และเป็นห้องปฏิบัติการกลางเพื่อการทดสอบอาหารสัตว์ การเฝ้าระวังสุขภาพและวินิจฉัยโรคสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค หรือบริษัท ไฮกริม เอนไวรอลเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช จำกัด ซึ่งร่วมทุนวิจัยกับไบโอเทค สวทช.วิจัยและผลิตสารชีวบำบัดจากจุลินทรีย์ เพื่อขจัดและบำบัดน้ำมัน น้ำเสีย ในโรงงานอุตสาหกรรม และปั๊มน้ำมัน และยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นกลยุทธ์การสร้างความสามารถทางการแข่งขันใหม่ (Green Strategy) ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ และบริษัท แอร์ โพรดักส์ เอเชีย (เทคโนโลยีเซ็นเซอร์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร ที่ตัดสินใจตั้งศูนย์เทคโนโลยีอาหารแห่งใหม่ในเอเชีย เพื่อที่จะนำเอาเทคโนโลยีการแช่เย็น และระบบบรรจุภัณฑ์แบบใหม่มาสู่ลูกค้าในเอเชีย ก็ตัดสินใจเข้ามาทำงานในอุทยานวิทยาศาสตร์เนื่องจากเล็งเห็นความพร้อมในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนห้องปฏิบัติการทางจุลวิทยาที่จำเป็นที่อยู่ที่ศูนย์ไบโอเทค สิ่งนี้ได้ช่วยทำให้สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ ฯลฯ

สวทช. และ เมอร์ค ร่วมวิจัยพัฒนาพลาสติกเพื่อการเกษตรลดความร้อนภายในโรงเรือนด้วยผงสีโซล่าร์แฟลร์®

[singlepic id=556 w=320 h=240 float=]

Thai International Plastics and Rubber Exhibition 2011

ห้องสัมมนา  ไบเทค บางนา

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2554

บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาของบริษัท เมอร์ค เคจีเอเอ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกทางด้านเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ได้พัฒนาสารเติมแต่งชนิดพิเศษ โซล่าร์แฟลร์® ที่สามารถกรองรังสีความร้อนช่วงใกล้จากดวงอาทิตย์  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาแผ่นฟิล์มพลาสติกคลุมโรงเรือนเพาะปลูกสำหรับลดความร้อนแรงของแสงแดดภายในโรงเรือน จึงได้ร่วมดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัย Development of SolarFlair® filled plastic films covered Greenhouse for solar heat reduction กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแผ่นฟิล์มพลาสติกคลุมโรงเรือนที่สามารถลดการส่องผ่านของรังสีความร้อนช่วงใกล้จากดวงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรขณะเติบโต ให้ผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐาน  อันจะเป็นประโยชน์และช่วยเร่งให้เกิดการก้าวกระโดดแห่งนวัตกรรมในประเทศไทย และจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโครงการความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของเมอร์คที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสังคมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

มร. อมันน์ บัตทาจาร์จี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ค จำกัด กล่าวว่า “การร่วมมือวิจัยในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมวิจัยครั้งแรกในแถบเอเซีย ซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาด้านการเกษตร เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ส่งผลให้เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะปลูกมีความสำคัญและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น  เพราะเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยประหยัดพลังงาน  และลดการสูญเสียผลผลิตจากสภาวะโลกร้อน”

[singlepic id=559 w=320 h=240 float=]

ด้าน สวทช. มีความเห็นว่า การเผยแพร่ผลงานวิจัยในครั้งนี้ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน  ที่มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ในการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานและหวังว่าจะเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนให้เทคโนโลยีโรงเรือนมีการนำไปใช้แพร่หลายมากขึ้น

ผงโซล่าร์แฟลร์® เป็นผงโปร่งแสง ที่มีคุณสมบัติสะท้อนรังสีความร้อน ลดการส่องผ่านของรังสีความร้อนช่วง 780 – 1400 นาโนเมตร และหากผสมลงในพลาสติกใสในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้แสงช่วงที่ตามองเห็น ซึ่งเป็นช่วงแสงที่เหมาะต่อการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของพืช ส่องผ่านได้ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการนำไปใช้เป็นพลังงานของพืช ด้วยคุณสมบัตินี้จึงสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแผ่นฟิล์มพลาสติกคลุมโรงเรือนลดความเข้มของรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่สูงเกินไปของระบบการเพาะปลูกในโรงเรือน

[singlepic id=562 w=320 h=240 float=]

ในการศึกษาครั้งนี้ได้เลือกใช้โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกมาเป็นต้นแบบ ซึ่งผลการทดสอบพบว่าผักไฮโดรโพนิกที่ปลูกภายใต้โรงเรือนที่คลุมด้วยพลาสติกที่มีผงสีโซล่าร์แฟลร์® เป็นส่วนประกอบ  มีปริมาณและคุณภาพของผลผลิตดีกว่าผักไฮโดรโพนิกภายใต้โรงเรือนที่คลุมด้วยพลาสติกที่มีขายในท้องตลาด   ผลการทดสอบนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจน     สำหรับการทดสอบในภูมิภาคตะวันออกเฉียง-เหนือ

จากผลความสำเร็จของการวิจัยครั้งนี้ บริษัท เมอร์ค จำกัด  ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย  ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการลดความร้อนภายในโรงเรือนด้วยฟิล์มผสมผงสี โซล่าร์แฟลร์® ในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2554 ณ ห้องสัมมนา MR219 ภายในงาน Thai International Plastics and Rubber Exhibition 2011

[singlepic id=565 w=320 h=240 float=]

ในงานสัมมนาครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้และเปิดโลกทัศน์ด้านงานวิจัยแล้ว ภายในงานสัมมนายังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจในงานวิจัย และผลิตภัณฑ์ ทำการเจรจาธุรกิจเพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ภาคการตลาด ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษ ในการรับโปรโมชั่นจากทางคณะผู้จัดงานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผงโซล่าร์แฟลร์® อีกด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับ สวทช.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการดำเนินการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม ให้บริการทางเทคนิค และวางรากฐานการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก อีกทั้งยังให้การสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม และด้านอื่นๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่องค์กรของรัฐและเอกชน ลงทุนและให้การสนับสนุนในกิจการ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) และศูนย์แห่งชาติอีก 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ (MTEC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ทั้งนี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th

ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เมอร์ค จำกัด

บริษัท เมอร์ค จำกัด ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2534 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เมอร์ค เคจีเอเอ ประเทศเยอรมนี และบริษัท บี. กริม (ประเทศไทย) ถือเป็นการขยายกิจการของกลุ่มบริษัท เมอร์ค ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในประเทศเยอรมนี ที่มียอดขายถึง 9.3 พันล้านยูโรในปี 2553 และมีประวัติยาวนานกว่า 340 ปี มีพนักงานประมาณ 40,000 คน ใน 67 ประเทศทั่วโลก เมอร์ค ประเทศไทย เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่ายให้กับโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย โดยผงสีโซล่าร์แฟลร์อยู่ในส่วนผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผงสีมุกในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ สิ่งพิมพ์ พลาสติก การเคลือบ ยานยนต์ และผงสีมุกสำหรับเครื่องสำอางค์ นอกจากนี้ เมอร์คยังมีเคมีภัณฑ์เพื่อตอบสนองความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อาทิ Liquid Crystal สำหรับจอทีวี น้ำยาเคลือบเลนส์  สารเรืองแสงสำหรับหลอดไฟ LED และสารเคลือบทำแผงโซล่าเซลล์ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมอร์ค ประเทศไทยได้ที่ www.merck.co.th และข้อมูลเกี่ยวกับเมอร์ค เคจีเอเอได้ที่  www.merck.de

สวทช.จับมือ 15 สถาบันการศึกษา และบริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไอทีให้แก่บุคลากรไทยในภาคการผลิต และบริการ

[singlepic id=535 w=320 h=240 float=]

สวทช.จับมือ 15 สถาบันการศึกษา และบริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไอทีให้แก่บุคลากรไทยในภาคการผลิต  และบริการ  เพื่อรับมือกับ AEC 2015  ในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในวิชาชีพด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

24 สิงหาคม 2554: สถาบันวิทยาการ สวทช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับ 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และบริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและพิธีแถลงข่าวการจัดตั้งเครือข่ายในโครงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิตและบริการ  โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล   ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  เป็นประธาน

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล   ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ/ สวทช. กล่าวว่า  การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในครั้งนี้  เป็นความร่วมมือและการสนับสนุนระหว่าง สวทช. และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรจากภาคเอกชน  ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านมาตรฐานวิชาชีพไอทีขั้นสูงของนักศึกษาและบุคลากรของไทย  ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่ได้มาตรฐานสากลอย่างแท้จริง เพื่อให้องค์กรสามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา สรรหา คัดเลือก ปรับ/ เลื่อนตำแหน่ง บุคลากรกรสายไอที  ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้สถาบันการศึกษามีแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน   การดำเนินการสอบวัดมาตรฐานทักษะความรู้ด้านไอที  จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคลากรที่สอบผ่านได้รับใบรับรองในคุณภาพของความรู้และทักษะวิชาชีพด้านไอทีระดับมาตรฐานสากล เป็นเครื่องมือในการรับประกันคุณภาพและความเชื่อมั่นที่ดีแก่ผู้ประกอบการหรือตลาดแรงงานทั้งในและนอกประเทศ   และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเตรียมพร้อมของแรงงานไทยที่จะรับมือในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ในสาชาวิฃาชีพด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  ของการเป็นภาคีหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 2015 ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจำนวน 15 แห่งในครั้งนี้   เป็นรูปแบบที่สถาบันการศึกษาจะให้การสนับสนุนการจัดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอทีในฐานะเป็นศูนย์สอบและศูนย์ติวสอบ  และสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรทั้งภายในและเครือข่ายภายนอกเข้าร่วมสอบ    โดยสถาบันการ ศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้  ประกอบด้วย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ,  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,  มหา วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,  มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์,   มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์,  มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,  มหาวิทยาลัยสยาม,มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และสถาบันการจัดการปัญญาวิภัฒน์

[singlepic id=538 w=320 h=240 float=]

ผศ.ดร.เมธี สรรพานิช รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้แทนของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ  เปิดเผยว่า  การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ส่งผลให้สถาบันการศึกษาของไทยต้องปรับตัวทั้งในแง่ของหลักสูตร  การจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน   เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  การสอบวัดมาตรฐานความรู้วิชาชีพ ITPE  จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับมาตราฐานความรู้ของบัณฑิตไทยโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   ซึ่งสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเครือข่ายในวันนี้  ต่างได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่นักศึกษาของตนจะได้รับจาก ITPE  ทั้งในแง่ของการยอมรับในความสามารถของบัณฑิตจากนานาประเทศ   โอกาสการได้งานทำทั้งในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน  นอกจากนั้น การสอบมาตรฐานยังทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดการยกระดับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น

และพร้อมกันนี้  บริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด  ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำด้านไอทีได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการนี้  โดยได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านไอทีขององค์กร  และการสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องกับไอที   จึงได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานที่ผ่านโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพ ITPE    มีการจัดส่งบุคลากรของบริษัทฯ เพื่อร่วมติวและร่วมสอบในโครงการฯ  อย่างต่อเนื่อง  ตลอดจนมีการสนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนบุคลากรประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานด้านไอที   ในกรณีที่มีการประชุม–สัมมนาเชิงวิชาการ  การจัดอบรม และการเรียนการสอนในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไอที

[singlepic id=541 w=320 h=240 float=]

นอกจากนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ผอ. สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง สวทช. ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาการ สวทช. (NSTDA Academy) จัดทำโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที (Information Technology Professional Examination-ITPE) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ Information Technology Promotion Agency (IPA) ภายใต้การกำกับดูแลของ Minister of Economy, Trade and Industry (METI)   หรือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้มีการสอบมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่อิงผลิตภัณฑ์ในประเทศขึ้น โดยร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ภายใต้ชื่อ IT Professionals Engineer Examination Council (ITPEC)

โครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2549 และจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมีวิชาเปิดสอบในปัจจุบันจำนวน 2 วิชา คือ Fundamental Information Technology Professional Examination (FE)  และ วิชา Information Technology Passport Examination (IP) และมีนักศึกษา และคนทำงานในสายวิชาชีพไอที สมัครเข้าร่วมในโครงการจำนวน 5,579 คน มีผู้เข้าสอบจำนวน 5,037 คน และมีผู้สอบผ่านจำนวน 493 คน  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยของการสอบผ่าน 9.79 %  การดำเนินความร่วมมือเพื่อจัดตั้งเครือข่ายในครั้งนี้   จะผลักดันให้มีจำนวนผู้สมัครสอบโดยรวมของประเทศทั้งสิ้นมากกว่า 2,000 คนต่อปี

สำหรับการสอบในปี 2554 นี้ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าสมัครสอบ โดยมีศูนย์ติวสอบทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกแนวทางในการเตรียมตัวสอบ พร้อมตัวอย่างข้อสอบเก่าที่ได้รวบรวมไว้ที่หน้าเว็บโครงการฯ สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันวิทยาการ สวทช. โทร. 02-642-5001   โทรสาร 02-642-5014 หรือ http://www.nstdaacademy.com/ และ e-mail: mailto: itpe@nstda.or.th

สวทช.กระทรวงวิทย์ฯ ส่งมอบรถบรรทุกอเนกประสงค์ “ไทยพัฒนา” มาตรฐานปลอดภัยสูง บรรทุกได้3 ตัน นำร่อง 10 อบต

[singlepic id=514 w=320 h=240 float=]

เมื่อ 2 พฤษภาคม 2011 เวลา 14:27 น. บันทึกการเปลี่ยนแปลงของคุณแล้ว 2 พฤษภาคม 2554 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี : ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบรถบรรทุกอเนกประสงค์เพื่อการเกษตร มาตรฐานความปลอดภัยสูง รับน้ำหนักบรรทุกได้ 3-4 ตัน ใช้ไบโอดีเซลประหยัดน้ำมัน 12 กิโลลิตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการขนย้ายผลิตผลทางการเกษตรไปยังแหล่งรับซื้อและจำหน่ายต่างๆ โดยเน้นการออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรงมากขึ้น ทั้งระบบเบรค แชสซี ความสูงความตัวรถเพื่อให้สามารถลงคันนาได้ ตลอดจนอำนวยความสะดวกยิ่งขึ้นให้เกษตรกรด้วยการติดตั้งปั๊มน้ำ และกระบะด้านท้ายสามารถเปิดได้ทั้ง 3 ด้าน โดยได้นำไปทดสอบการใช้งานจริงในแปลงสวนปาล์มน้ำมัน พืชไร่ แล้วนำมาพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ตามข้อมูลจากการทดสอบและข้อคิดเห็นของผู้ใช้จนสมบูรณ์ พร้อมส่งมอบให้ 10 อบต. ครอบคลุมพื้นที่ เหนือ อีสาน และใต้ โดยตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้รับมอบ ทั้งนี้ งบประมาณการจัดสร้าง รถบรรทุกอเนกประสงค์ “ไทยพัฒนา”ดังกล่าว โครงการวิจัยการออกแบบและสร้างโครงฐานรถอเนกประสงค์มาตรฐาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) ได้รับการสนับสนุนนำร่องจากโครงการไทยเข้มแข็งจำนวน 4 ล้านบาท โดย ดร.วีระชัยเปิดเผยในรายละเอียดว่า

[singlepic id=517 w=320 h=240 float=]

“การที่นักวิจัยของ สวทช. ได้พัฒนารถบรรทุกอเนกประสงค์เพื่อการเกษตร แล้วนำมาส่งมอบเพื่อให้เกษตรกรได้นำไปทดลองใช้บรรทุกผลิตผลทางการเกษตรของตนแทนรถอีแต๋นนั้น สอดคล้องกับนโยบายที่ผมได้ประกาศเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับตำแหน่งว่าจะเร่งนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน เพราะการพัฒนารถบรรทุกอเนกประสงค์ดังกล่าวขึ้นมาถือได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศ และผลงานที่วิจัยพัฒนาขึ้นมาได้สำเร็จนี้ก็สามารถนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ในการสร้างรายได้ ลดรายจ่ายของพี่น้องเกษตรกรได้จริง เนื่องจากรถอเนกประสงค์ดังกล่าว มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง แต่มีราคาที่ประหยัดกว่ารถบรรทุกทั่วไป อีกทั้งยังช่วยประหยัดน้ำมัน และมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำ จึงเหมาะกับการใช้งานจริงของพี่น้องเกษตรกรทั้งในด้านประสิทธิภาพและต้นทุน ซึ่งรถบรรทุกอเนกประสงค์ที่ผลิตขึ้นยังสามารถขอจดทะเบียนรถได้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถวิ่งได้บนท้องถนนทั่วไป ”

[singlepic id=520 w=320 h=240 float=]

รศ.ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติเปิดเผยเพิ่มเติมว่า รถบรรทุกเพื่อการเกษตร หรือรถอีแต๋น ที่รู้จักโดยทั่วไปของเกษตรกรผู้ใช้งาน ส่วนใหญ่ ตัวรถจะถูกประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนมือสองหรือชิ้นส่วนเก่าของรถยนต์ที่ปลดระวางแล้ว ทำให้รถอีแต๋นที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาทางด้านมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย เนื่องจากการประกอบรถ ไม่ได้ใช้หลักวิชาทางวิศวกรรมที่ถูกต้อง จึงทำให้รถอีแต๋นเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงขึ้น และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปได้ง่าย อีกทั้งการใช้ชิ้นส่วนมือสองทำให้ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้รถเพิ่มสูงตามไปด้วย ดังนั้น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการวิจัยการออกแบบและสร้างโครงฐานรถอเนกประสงค์มาตรฐานขึ้น ทั้งนี้ รถบรรทุกอเนกประสงค์ รุ่น ไทยพัฒนา (Thai pattana) มีขนาดน้ำหนักตัวรถรวมบรรทุก 3 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 1 ลูกสูบ ขนาด 14 แรงม้าเป็นต้นกำลังขับเคลื่อนนอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศและเป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย

ดร. ฉัตรชัย จันทร์ เด่นดวง หัวหน้าโครงการ นักวิจัยเอ็มเทค กล่าวว่า “ผลงานการผลิตรถบรรทุกอเนกประสงค์ต้นแบบนี้เป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีการออกแบบชิ้นส่วนมาตรฐานตามหลักโครงฐานรถที่สำคัญ 5 ชิ้นส่วน ได้แก่ แชชซี ดุมล้อและระบบเบรก ระบบบังคับเลี้ยว เฟืองท้าย และระบบกันสะเทือน มาประกอบเป็นรถอเนกประสงค์ขึ้น โดยมีการคำนวณการออกแบบตามหลักวิศวกรรมที่ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาชิ้นส่วนโครงฐานที่ไม่ได้มาตรฐานและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งได้พัฒนาโครงสร้างของตัวรถให้มีขนาดเล็กแต่มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรถอีแต๋น นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งระบบปั๊มน้ำไว้ที่ตัวรถ เพื่อใช้สามารถใช้งานในพื้นที่ทำการเกษตรและในชุมชนได้อีกด้วย

3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลัง สร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

 

        [singlepic id=511 w=320 h=240 float=]    

     สวทช./วว./อพวช. เดินหน้าความร่วมมือการจัดการข้อมูลงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์เร่งด่วนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หวังสร้างฐานข้อมูลภาพรวมงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ มีประโยชน์ทั้งในแง่การบริหารจัดการทรัพยากร วางนโยบาย และการใช้ประโยชน์

 [singlepic id=508 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีพิธีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดการข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

 [singlepic id=505 w=320 h=240 float=]

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า  ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังที่จะบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สร้างกลไกการทำงานร่วมกัน และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน และอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้

 [singlepic id=502 w=320 h=240 float=]

หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง มีความเข้มแข็งในสาขาแตกต่างกันไป กล่าวคือ  สวทช. มีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ นำไปประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและสิ่งแวดล้อม สำหรับ วว. มีการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายและพืช เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน  ส่วนอพวช. มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างต้นแบบที่พบครั้งแรกในโลก

 [singlepic id=499 w=320 h=240 float=]

“การบรูณาการข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำให้ได้ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ไม่น้อยกว่า 100,000 ข้อมูล โดยจะมีการประเมินโครงสร้างฐานข้อมูลของแต่ละแห่ง ดึงความโดดเด่นของข้อมูลสิ่งมีชีวิตออกมา นำมาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท  ดูสถานภาพการแพร่กระจาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่หายาก ชนิดเฉพาะถิ่น และใกล้สูญพันธุ์  มีกลไกการประเมินศักยภาพ ตลอดจนการตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อแสดงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2554 ” ดร.วีระชัย กล่าว

 

ผลที่ตามมาจากการทำฐานข้อมูล  จะทำให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ในรูปแบบมาตรฐานสืบค้นได้ง่าย ข้อมูลจะถูกแบ่งลำดับชั้นการเข้าถึง  มีการกำหนดวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม  ข้อมูลเหล่านี้เป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ และเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อศึกษาวิจัยต่อสำหรับนักวิชาการ ที่สำคัญ ฐานข้อมูลทำให้ประเทศมีข้อมูลอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยในเวทีโลก

 

ด้าน ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เป็นเรื่องที่น่ายินดี ทำให้งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อความรู้และข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปบริหารจัดการ และวางนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะประสานต่อไปยังฐานข้อมูลอื่นๆ ของประเทศในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ผนึกกำลังในการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในครั้งนี้

ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง/สวทช.ร่วมกับสถาบันทันตกรรม/กรมการแพทย์จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ

[singlepic id=496 w=320 h=240 float=]

ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง/สวทช.ร่วมกับสถาบันทันตกรรม/กรมการแพทย์จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมมอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยยอดผู้ใช้บริการรากฟันเทียมเกินเป้า เตรียมขยายผลเข้าสู่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

วันที่ 31 มีนาคม 2554  ณ โรงแรมวีวัน จ.นครราชสีมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้แทน ในการมอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กับ ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมอบให้กับตัวแทนของแต่ละจังหวัดในเขตตรวจราชการ 14 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ นำไปมอบให้กับคนไข้ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ได้รับการฝังรากฟันเทียมเรียบร้อยแล้วต่อไป โดย ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า

[singlepic id=493 w=320 h=240 float=]

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งส่งผลให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมลงและทำลายคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ว่าการใส่ฟันเทียมทดแทนฟันธรรมชาติจะสามารถบรรเทาปัญหาการสูญเสียฟันในการบดเคี้ยวอาหารของผู้ป่วยไปได้ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่กลับพบว่าผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งยังไม่สามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวอาหารได้ เนื่องจากมีการละลายตัวของสันกระดูกขากรรไกร ทำให้ฟันเทียมหลวม และไม่สามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวอาหารให้ได้ดี ดังนั้นการฝังรากฟันเทียมให้แก่ผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ที่มีปัญหาการใส่ฟันปลอมทั้งปาก และจำเป็นต้องได้รับการฝังรากฟันเทียม โดยจะทำการฝังรากฟันเทียมจำนวน 2 ราก บริเวณขากรรไกรล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว 

[singlepic id=490 w=320 h=240 float=]

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการรากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 พรรษ  5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีหน่วยบริการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 75 จังหวัดเข้าร่วม ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในเครือข่ายบริการ “รากฟันเทียม” ของเขตตรวจราชการที่ 14 โดยมีเป้าหมายในการให้บริการฝังรากฟันเทียมจำนวนทั้งสิ้น 100 ราย ปัจจุบันได้ให้บริการไปแล้วจำนวน 118 ราย ผลการดำเนินงานที่เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผล     ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง สวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะกรรมการโครงการรากฟันเทียมระดับเขต เขต 14 กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีมอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่ทันตบุคลากรและผู้รับบริการปลูกรากฟันเทียม พร้อมจัดอบรม “การผ่าตัดรากฟันเทียมระยะที่ 2 และการบำรุงรักษาช่องปากผู้ป่วยที่มีรากฟันเทียม” ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำการศึกษาวิจัยระบบรากฟันเทียมนี้ขึ้นในประเทศไทย จนได้รับการับรองมาตรฐานนานาชาติ ISO 13485 และการรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมายเครื่องมือแพทย์ของกลุ่มประเทศสมาคมเศรษฐกิจร่วมยุโรป ที่ MDD 93/42/EEC จากตัวแทนกรรมาธิการด้านสาธารณสุขของสหภาพยุโรป นับเป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เราควรภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย”

 

หากท่านใดใส่ฟันปลอมทั้งปาก และมีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลวม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการรากฟันเทียมฯ ได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1638 และ 1396 หรืออสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ call center  Tel. 0 2564 8000

สวทช.กระทรวงวิทย์ฯ หนุน บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด สร้างนวัตกรรมผ้าเบรกไร้ใยหินสำเร็จครั้งแรกในไทย พร้อมมอบติดตั้งรถรับจ้างในพัทยา หวังสร้างกระแสให้เกิดBig Impact ด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมในไทย

[singlepic id=469 w=320 h=240 float=]

25 มีนาคม 2554 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คุณเกษม อิสระพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด รวมทั้งคุณอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Green Pattaya by Compact Brakes และร่วมปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะปลอดใยหินซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์การใช้ผ้าเบรกไร้ใยหินของสหกรณ์รถรับจ้างทั้งหมดในพัทยาที่ได้รับการสนับสนุนผ้าเบรกโดยไม่คิดมูลค่าจากบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ทั้งนี้ นวัตกรรมผ้าเบรกไร้ใยหินดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่ บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทยหรือ ITAP

[singlepic id=472 w=320 h=240 float=]

สวทช.ให้สามารถพัฒนาการออกแบบและปรับปรุงสูตรการผลิตจนสามารถผลิตจริงในโรงงาน  โดยคุณภาพของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับเทียบเท่าสูตรผ้าเบรกของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ส่งโรงประกอบรถยนต์โดยตรง (Origianl Equipment Manufacturer ) หรือ OEM   ซึ่งปัจจุบันบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้เพิ่มยอดขายในตลาดในฐานะผู้ผลิตผ้าเบรกให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ  อันเป็นเป้าหมายของบริษัทหลังจากที่สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นในตลาดชิ้นส่วนทดแทนซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว โดย ดร.วีระชัย กล่าวในรายละเอียดว่า

[singlepic id=475 w=320 h=240 float=]

“การสนับสนุนและผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปในภาคการผลิตและบริการ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เป็นนโยบายที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯให้ความสำคัญและได้ผลักดันไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง โดยได้ฝากให้ สวทช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. กับหน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน  ภาควิชาการ และภาคชุมชน  ตั้งแต่ขั้นตอนของการกำหนดโจทย์การวิจัยและพัฒนา  การพัฒนานักวิจัย   และการร่วมทุนในการวิจัยพัฒนา  ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และสนองตอบต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในภาพรวม และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างจริงจังและรวดเร็ว  กลไกในการทำงานที่สำคัญประการหนึ่งคือการอุดหนุนให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี เพื่อมาปรับปรุงวิธีการผลิตหรือบริการ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

[singlepic id=478 w=320 h=240 float=]

 ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา ได้หันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันมีสาเหตุมาจากการผลิตหรือการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมาก เช่น มีการออกกฎหมายสำหรับวงการยานยนต์ เพื่อห้ามใช้สินค้าหรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการกำหนดมาตรการทางการตลาดต่างๆ ที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระบุให้เลือกใช้เฉพาะวัตถุดิบที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

[singlepic id=481 w=320 h=240 float=]

สำหรับที่มาของโครงการ Green Pattaya ในวันนี้ ซึ่งมาจากความสำเร็จของการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทยหรือ ITAPได้ให้การสนับสนุนบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหิน ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี (NON Asbestos Organic) หรือ NAO ให้กับบริษัทนำไปใช้พัฒนาการออกแบบ พร้อมกับพัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิตจนได้คุณสมบัติตามความต้องการ และสามารถนำสูตรดังกล่าวมาผลิตจริงในโรงงานได้ อันเป็นประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกระแสที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในสังคมไทยและโลก ทั้งนี้การจัดกิจกรรมสนับสนุนผ้าเบรกไร้ใยหินเพื่อใช้กับรถรับจ้างสาธารณะในเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวถึงไปทั่วโลก จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองพัทยาต่อไป “ ดร.วีระชัยกล่าว

[singlepic id=484 w=320 h=240 float=]

ด้านนายเกษม อิสระพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า  “บริษัทฯ เป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าเบรก ก้ามเบรก และดิสก์เบรกสำหรับรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันเราได้ค้นคว้าและพัฒนาผลิตพันธ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าพร้อมกับการสร้างความสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันเราสามารถผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน Non Asbestos Organic Brake (NAO Brake) โดยได้รับรางวัล iTAP Award ด้าน Best Green Product Development จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

[singlepic id=487 w=320 h=240 float=]

        ด้วยเหตุดังกล่าวเบื้องต้นทางบริษัทฯ ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทศบาลเมืองพัทยา จึงได้จัดโครงการ Green Pattaya by Compact ขึ้นเพื่อเป็นการร่วมรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ใช้รถและประชาชนทั่วไปในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการลดมลพิษทางอากาศ  เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและปลูกจิตสำนึกที่ดี ในการรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยมอบผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกไร้ใยหิน  ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่บรรดารถโดยสารสาธารณะในเมืองพัทยา จำนวน  700 คัน มูลค่ารวมกว่า 4 ล้านบาท  โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ในเมืองพัทยาได้มากขึ้นสืบไป”

งาน NAC 2011 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

[singlepic id=454 w=320 h=240 float=]

สวทช. โชว์ผลงาน  อุปกรณ์ช่วยหายใจขณะเพลิงไหม้และก๊าซพิษ,โคมลอยทนไฟ,พริกเผ็ดรักษาโรค,เครื่องขนย้ายผู้ป่วยฝีมือคนไทย,เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์สำหรับผลิตวัสดุฝังในแก้ไขความบกพร่องของร่างกาย และ กราฟีน(GrapheneX :วัสดุแห่งอนาคต ฯลฯ ในงาน NAC 2011 :  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

 [singlepic id=457 w=320 h=240 float=]

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔  ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   -สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ประกาศจัดงาน NAC 2011 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาที่ได้ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา   โดยดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า      

          “มนุษย์ สภาวะแวดล้อม และภัยพิบัติ  3 ความเชื่อมโยงกับภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์”  คือตัวการสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น จากสภาพของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายลงตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันได้ส่งผลย้อนกลับมาจนกลายเป็น ปัญหา “ภัยพิบัติ” ที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเฮติ ที่ผ่านพ้นไปไม่นาน ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่เมืองไคร์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่นที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตลอดจนบ้านเรือนและทรัพย์สินได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ก็เกิดภัยพิบัติขึ้นหลายครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ ดินถล่ม ภาวะภัยแล้ง เรื่อยมาจนปีที่แล้วต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้คนไทยต่างก็เริ่มตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติมากขึ้น จนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภัยพิบัติเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะจนไม่อาจเพิกเฉยอีกต่อไปได้  หลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจและตระหนักต่อแนวทางการป้องกันและแก้ไขเพื่อจะบรรเทาภัยพิบัติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เช่นกัน เพราะผมมั่นใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญและมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยรับมือกับปัญหาภัยพิบัติได้ หากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเราจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ รับมือ ภัยธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึง การพัฒนา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ นิติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับการเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม การก่อการร้าย ตลอดจนการเตือนภัย การป้องกัน และการเยียวยารักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ” ดร.วีระชัย กล่าว

[singlepic id=460 w=320 h=240 float=]

ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยรับมือภัยพิบัติได้ และนับเป็นความท้าทายของนักวิจัย สวทช. อย่างมากในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้สร้างผลงานวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว อาทิ ข้าวทนน้ำท่วม ข้าวทนดินเค็ม การวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคระบาดต่างๆ ทั้งในคน สัตว์และพืช ระบบสื่อสารฉุกเฉิน อุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เสื้อเกราะกันกระสุน และล่าสุดกับผลงานวัคซีนไข้เลือดออก Dengue เป็นต้น

[singlepic id=463 w=320 h=240 float=]

“การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ในปีนี้ จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการและนักวิจัยได้นำเสนอความรู้และผลงานในการรับมือภัยพิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู ที่จะช่วยเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของนักวิจัยสวทช. ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านหัวข้อการประชุมกว่า ๓๐ เรื่อง และการจัดแสดงนิทรรศการผลงานกว่า ๑๐๐ ผลงาน”   ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

[singlepic id=463 w=320 h=240 float=]

สำหรับตัวอย่างผลงานเด่นที่นำมาจัดแสดงในงานแถลงข่าวครั้งนี้ อาทิ แกรฟีน : วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งนักวิจัยสวทช. ได้เตรียมพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหาร ชุดช่วยหายใจหนีไฟและก๊าซพิษ นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยมีอากาศหายใจเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่หาทางออกจากพื้นที่ประสบภัย รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถยืนได้และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์ (Rapid Prototyping) สำหรับออกแบบและขึ้นรูปวัสดุฝังใน เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า ๘๕๐ ราย ในโรงพยาบาล ๗๗ แห่งทั่วประเทศได้ใช้บริการแล้ว

[singlepic id=466 w=320 h=240 float=]

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการประชุมเรื่อง Facing Climate Change Impact with Science & Technology: From Urban Flood to Forest Fire โดยProf. Xing Chen วิทยากรจากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สาธารณรัฐจีน และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของไทย รวมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีต่างๆ กับภัยพิบัติในหลากหลาย    รูปแบบ อาทิ นวัตกรรมเตือนภัยและแจ้งเหตุภัยธรรมชาติ, ยุงยุคโลกร้อน, เกราะกันกระสุน…นวัตกรรมไทยป้องกันภัยคุกคาม, ข้าวทนน้ำท่วม…ทางรอดของชาวนาไทย, รับมือภัยพิบัติลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย,  สิ่งมีชีวิตพยากรณ์…เตือนภัยสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีในการจัดการปัญหาหมอกควัน ภัยใกล้ตัวชุมชนเมือง เป็นต้น

[singlepic id=439 w=320 h=240 float=]

งานประชุมและแสดงผลงานประจำปีของ สวทช. หรืองาน NAC 2011 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจัดแสดงผลงานและโครงการวิจัยที่ สวทช. ได้ดำเนินการ ภายในงานจะมีการสัมมนา นิทรรศการแสดงผลงาน การเจรจาธุรกิจ และเปิดให้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัยแห่งชาติ โดยมุ่งให้เกิดการวิจัยต่อยอดและการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจ ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/nac2011/

[singlepic id=445 w=320 h=240 float=]

[singlepic id=448 w=320 h=240 float=]

[singlepic id=451 w=320 h=240 float=]

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ชนานันท์/ปิยพร  โทรศัพท์ ๐ ๒๕๖๔ ๗๐๐๐ ต่อ ๑๔๖๕, ๑๔๖๗

เกี่ยวกับ สวทช.

สวทช. มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สวทช. ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา โดยเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำงานใกล้ชิด และเข้าถึงความต้องการของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร สวทช. ขับเคลื่อนด้วยนักวิจัยและเจ้าหน้าที่กว่า ๒,๐๐๐ คน โดยครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือปริญญาโท

สวทช./กระทรวงวิทย์ฯ โชว์ “วัคซีนไข้เลือดออก” งานวิจัยไทยทำ ครั้งแรกของอาเซียน

[singlepic id=418 w=320 h=240 float=]

           วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.พูนสุข กีฬาแปง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ  จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ/สวทช.  รศ.นพ.สุธี ยกส้าน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันไข้เลือดออกครั้งแรกของโลก ตลอดจนการลงนามอนุญาตให้บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย รับสิทธิ์ในการรับไปพัฒนาต่อเป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้ โดย ดร.วีระชัยเปิดเผยในรายละเอียดว่า

[singlepic id=421 w=320 h=240 float=]

          “ปัจจุบัน การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นงานสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเมินความก้าวหน้าของประเทศในสายตานานาชาติ  ยิ่งถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดด ยิ่งจำเป็นต้องใช้งานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถไปเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุด ที่ผมได้ให้นโยบายไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ ผมเน้นการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มที่ อนาคตถัดจากนี้ประเทศไทยจะต้องหันมาให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้นเพราะจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศและมนุษยชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการเกษตรและการแพทย์ ดังตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญในวันนี้คือการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันโรคไข้เลือดออก

[singlepic id=424 w=320 h=240 float=]

          สำหรับโรคไข้เลือดออกนี้ เริ่มอุบัติขึ้นมาในโลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วแถบภูมิภาคเขตร้อน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และเมื่อปี 2501 ได้ระบาดเข้ามายังประเทศไทย จนปี พ.ศ. 2515 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย ในปี 2553 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจำนวนกว่าหนึ่งแสนราย และเฉพาะเดือนมกราคมของปี 2554 มีผู้ป่วยแล้วประมาณ 1,200 ราย  ซึ่งผมเชื่อว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงนี้ ต้องมีมากกว่าตัวเลขที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการอย่างแน่นอน รวมทั้งแนวโน้มการระบาดหรืออุบัติการณ์ของโรคน่าจะสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากโรคนี้มีแหล่งระบาดอยู่ในเมือง ซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตามลำดับ การคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นทำให้เชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งสถานการณ์ภาวะโลกร้อนซึ่งอาจทำให้ยุงมีจำนวนมากขึ้นในหลายๆแห่ง

[singlepic id=427 w=320 h=240 float=]

โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีถึง 4 ชนิด เมื่อคนติดเชื้อไวรัสชนิดใดจะสามารถปกป้องไวรัสเฉพาะชนิดนั้นได้ตลอดชีวิต แต่ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อซ้ำโดยไวรัสเด็งกี่ชนิดอื่น และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดนี้ อาจทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันเด็งกี่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งนอกจากต้องสร้างวัคซีนให้ครบทุกชนิดแล้ว ยังต้องทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนมีระดับที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมขณะนี้เราถึงยังไม่มีวัคซีนไข้เลือดออกใช้กัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนมาแล้วกว่า 30 ปี

[singlepic id=430 w=320 h=240 float=]

          สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การนำของ ศ.นพ. ณัฐ ภมรประวัติ เป็นผู้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เป็นรายแรก และต่อมามี รศ.นพ.สุธี ยกส้าน เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์  ด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนาวัคซีนที่มีมานาน  และความเชี่ยวชาญของ  นพ.สุธี ที่ได้การยอมรับจากนานาชาติด้านไข้เลือดออก ร่วมกับความสามารถทางพันธุวิศวกรรมของ รศ.นพ. นพพร สิทธิสมบัติ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบกับการสนับสนุนด้านงบประมาณ รวมทั้งการบริหารจัดการและผลักดันงานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อให้เกิดวัคซีนลูกผสมทางพันธุวิศวกรรมชนิดเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์อีกหนึ่งชุด  ที่ในวันนี้บริษัทไบโอเนท-เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยได้ขอรับไปพัฒนาต่อเพื่อให้ประชาชนไทยจะได้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้ต่อไป” ดร.วีระชัยกล่าว

          ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต แม้จะยังไปได้ไม่เร็วเท่าอัตราของประเทศผู้นำด้านนี้ แต่งานวิจัยของไทยหลายอย่างก็ช่วยให้เราสามารถติดตามความก้าวหน้าต่างๆได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของ สวทช.เองยังมองว่างานวิจัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในส่วนตัวอยากเห็นการลงทุนด้านนี้แม้ว่าจะต้องใช้เวลา ความอดทนสูงและรอจังหวะที่จะนำศักยภาพผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบทบาททิศทางการดำเนินงานของ สวทช. ในปัจจุบันและอนาคตจะเน้นทั้งบทบาทวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาความรู้ที่ได้ ไปสร้างเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยจะรักษาสมดุลระหว่างการวิจัยและพัฒนานี้ไปด้วยกัน

          สำหรับความสำเร็จของการวิจัยและอนุญาตใช้สิทธิในการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันโรคไข้เลือดออกดังกล่าว จะสำเร็จขึ้นไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากทั้ง3 ภาคส่วน คือ สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว เป็นการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และสาธารณสุข ลดอัตราการชีวิตของผู้ป่วยเด็กที่ได้รับเชื้อ   อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงการควบคุม รักษาโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคตด้วย”  ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

สวทช. เปิด 2 โครงการ เรียนรู้ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ ผลิตกล้องดูดาวจากท่อพีวีซี

สวทช. เปิด 2 โครงการ เรียนรู้ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ ผลิตกล้องดูดาวจากท่อพีวีซี  พร้อมส่งเสริมเยาวชนร่วมทดลองผลงานวิจัย บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ประเทศญี่ปุ่น

[singlepic id=415 w=320 h=240 float=] 

วันที่ 2  กุมภาพันธ์ 2554  ณ อาคารอิมแพค เมืองทองธานี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามลคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ด้วยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา/สวทช. และบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้แก่เยาวชนไทย ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนและเยาวชนไทยได้เรียนรู้หลักทางวิศวกรรมพร้อมกับความรู้เกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพ รวมทั้งการออกแบบและประดิษฐ์กล้องดูดาวด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมการออกแบบและสร้างกล้องดูดาวซึ่งใช้ท่อพีวีซีเป็นส่วนประกอบ  ที่สามารถใช้ดูดาวแกแลกซีและดูดวงอาทิตย์ได้

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างสวทช.กับ Japan Aerospace Exploration Agency (JAZA) ประเทศญี่ปุ่น  ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักเรียน และนักศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศของไทย โดยเปิดโอกาสให้ร่วมส่งผลงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ และขึ้นทำการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนเที่ยวบินพาราโบลิก

[singlepic id=412 w=320 h=240 float=]

นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า  “โครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ นี้ เป็นโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิศวกรรมให้แก่เด็กและเยาวชนไทย  ได้มาเรียนรู้ ร่วมประดิษฐ์ ออกแบบกล้องดูดาวที่ทำมาจากท่อพีวีซี ด้วยตนเอง  ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้าก้าวไกล ให้เยาวชนเกิดความคิดอย่างเป็นระบบและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อันเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยผ่านค่ายกิจกรรมของสวทช.  และสามารถใช้กล้องดูดาวที่ประดิษฐ์ขึ้นมาได้ เป็นสื่อในการเรียนรู้ต่อไป นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโรงเรียนและศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และศูนย์การเรียนรู้ ที่จะได้รับกล้องดูดาวเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป สำหรับโครงการ JAXA เป็นที่คาดหมายได้ว่า ผลจากความร่วมมือนี้น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการค้นพบผลงานวิจัยใหม่ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ที่นอกจากจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความตื่นตาตื่นใจมาสู่สาธารณชนแล้ว ยังเปิดโลกแห่งการค้นคว้าวิจัย ให้กับวงการวิชาการในหลายๆสาขา  ไม่ว่าจะเป็นด้านยารักษาโรค วัสดุชนิดใหม่ รวมไปถึงการแปรเปลี่ยนยีนส์ที่ทำให้ได้พืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ ซึ่งการวิจัยทดลองด้านต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ได้ทั้งข้อมูลและการปรับประยุกต์ใช้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติต่อไปในอนาคต”

[singlepic id=409 w=320 h=240 float=]

ด้านดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. มีโครงการความร่วมมือที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ ด้วยดีเสมอมา อย่างเช่นโครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เป็นโครงการที่สวทช.โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาได้ร่วมมือกับบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีความตั้งใจที่จะนำเสนอโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้แก่เยาวชนไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และยกย่องในอัจฉริยะภาพการทรงเป็นนักประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงมีบทบาทในการส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาชุมชนในชนบทของไทย ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนและเยาวชนไทยได้เรียนรู้หลักทางวิศวกรรมพร้อมกับความรู้เกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพ รวมทั้งการออกแบบและประดิษฐ์กล้องดูดาวด้วยตนเอง ที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่การออกแบบและการลงมือประดิษฐ์ ทำให้เยาวชนได้มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหา เกิดการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมที่นำไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสนักวิจัย นักเรียนและนักศึกษา สามารถส่งข้อเสนอโครงการเข้าร่วมประกวด. เพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกพร้อมเจ้าของผลงานจะได้ขึ้นทำการทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาลาโบลา  โดยสวทช.จะสนับสนุนในการพัฒนาชุดการทดลองและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย“