เกี่ยวกับ CPS

ศูนย์ระบบไซเบอร์กายภาพ

ศูนย์ระบบไซเบอร์-กายภาพ เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์นวัตกรรมยั่งยืน ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบไซเบอร์-กายภาพและไอโอที ให้บริการที่ปรึกษา และถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านระบบไซเบอร์-กายภาพและไอโอที เพื่อตอบโจทย์การใช้งานจริงของประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการของประเทศในตลาดโลก เนคเทค-สวทช. มีเป้าหมายส่งเสริมให้เป็นแนวทางสำหรับอนาคตที่ผนวกรวมความเชี่ยวชาญจาก 3 ด้านหลักของศูนย์ ได้แก่ เซนเซอร์, ระบบ/เครือข่าย และปัญญาประดิษฐ์/วิทยาการวิเคราะห์ข้อมูลเข้าด้วยกัน โดยกลจักรทั้งสามส่วนนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนและตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศ

พันธกิจ

  • มีความเป็นเลิศด้านวิจัยและพัฒนา
  • ช่วยประสานให้องค์ประกอบย่อยต่างๆ ของระบบทำงานร่วมกันได้
  • ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation)
  • เป็นตัวกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้และจัดสอน
  • ทำให้สังคมเกิดความตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี
  • สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานและประโยชน์ของเทคโนโลยี 

วิสัยทัศน์

เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ให้เกิดการนำเทคโนโลยีระบบไซเบอร์-กายภาพไปใช้ในชีวิตประจำวัน และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยในยุค 4.0

เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบไซเบอร์-กายภาพ

 

     ระบบไซเบอร์-กายภาพ (Cyber-Physical Systems : CPS) คือระบบทางวิศวกรรมที่บูรณาการโลกกายภาพ (Physical World) กับโลกไซเบอร์ (Cyber World) เข้าด้วยกัน โลกกายภาพประกอบด้วยสิ่งต่างๆ เช่น อุปกรณ์ เครื่องจักร มนุษย์ ระบบต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมถึงสภาพแวดล้อม ส่วนโลกไซเบอร์หรือโลกดิจิทัลนั้นเป็นโลกแห่งการประมวลผลและการควบคุม การผนวกสองโลกเข้าด้วยกันเริ่มจากการเชื่อมต่อของสิ่งต่างๆ ในโลกกายภาพแบบเป็นเครือข่าย ซึ่งเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อ (Connectivity) การสื่อสาร (Communication) และการนำข้อมูลจากอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือสภาวะแวดล้อมต่างๆ ในโลกกายภาพส่งต่อไปให้โลกของไซเบอร์ช่วยประมวลผล (Computing) วิเคราะห์คำนวณ หรือตัดสินใจ เพื่อส่งข้อมูลย้อนกลับมาควบคุม (Feedback Control) โลกกายภาพอีกทีอย่างเป็นอัตโนมัติ

     การหลอมรวมของสองโลกนี้ทำให้สิ่งต่างๆ ในระบบสามารถเชื่อมต่อทำงานร่วมกันได้ สามารถตรวจสอบและควบคุมเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาวะต่างๆ ของระบบได้ตามความเหมาะสม แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยจากการนำศาสตร์แขนงต่างๆมาบูรณาการร่วมกัน ประกอบไปด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า (อิเล็กทรอนิกส์,คอมพิวเตอร์,ระบบควบคุม) วิศวกรรมเครื่องกล วิศกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมการผลิต เป็นต้น ระบบไซเบอร์-กายภาพจึงเป็นภาพที่ใหญ่กว่า IoT เนื่องจากเป็นการบูรณาการการสื่อสาร การประมวลผล และการควบคุม เข้ากันเป็นระบบที่ชาญฉลาดนั่นเอง

MIDYEAR REPORT

Download now!