บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา

บทสัมภาษณ์ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส รักษาการรองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส รักษาการรองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา
  • ตำแหน่ง นักวิจัยอาวุโส รักษาการรองผู้อำนวยการ ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

แนะนำตัวเอง

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ชอบแนะนำตัวเองว่าเป็นนักวิจัยอาวุโส ที่เรียกว่าอาวุโสเพราะแก่แล้ว [หัวเราะ] ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ดูแล Subpillar เกษตร เป็นผู้อำนวยการประเด็นมุ่งเน้น ดูแล Agenda Modern Agriculture เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน BCG สาขาเกษตร และช่วยงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่แบบขยายขนาดของ BIOPOLIS ที่ EECi ยังมีหน้าที่ดูแลกลุ่มวิจัย Integrative Crop Biotechnology and Management Research Group (ACBG) และ ดูแลทีมวิจัย Innovative Plant Biotechnology and Precision Agriculture Research Team และ Innovative Herbal Plant Factory Research Team

ทำงานกับ สวทช. มา 22 ปี เริ่มทำงานในปี ค.ศ. 2000 ก่อนที่จะมาทำงานกับ สวทช. เคยทำงานอยู่ที่องค์กรนานาชาติ CIMMYT ประเทศไทย มาก่อน โดยทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ธัญพืชเมืองหนาว ข้าวสาลีข้าวบาร์เลย์ และทริติแคลลี่ จากนั้นมาทำงานที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทางด้านวิจัยทางการเกษตร เป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย และทำงานด้านปรับปรุงพันธุ์ข้าวบาร์เลย์

มีความฝันว่าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ยุคนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะงานทางด้านจีโนมที่นำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ รู้สึกสนใจงานด้านนี้จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ทุนส่วนตัวที่ทำงานมา และได้ทุนเป็น Research Assistance ของโครงการข้าวบาร์เลย์ที่ Prof. Dr. Patrick M. Hayes เป็นหัวหน้าและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นรุ่นแรกที่ทำงานด้าน Marker Assisted Selection ความตั้งใจเดิมหลังจบปริญญาเอก ไม่ได้คิดอยากกลับประเทศไทย [หัวเราะ] คิดจะทำงานที่ต่างประเทศ ทำ Post-Doctoral อยู่ประมาณ 6 เดือน และพยายามขอGreen Card แต่ไม่ได้ จึงต้องเดินทางกลับมาประเทศไทย มีคนที่รู้จักจากหลายหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สวทช. ชวนไปทำงาน จังหวะเดียวกันเพื่อนร่วมงานเดิมสมัยทำงาน CIMMYT ด้วยกัน คือ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง (อดีตผู้อำนวยการ ศช. ปี พ.ศ. 2559-2562) และ ศ.ดร.อภิชาต วรรณวิจิตร อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ทำงานอยู่ในหน่วยงานร่วมระหว่าง สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งสองคนนี้เป็นเหมือน key หลัก ที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมงานกับ สวทช. เพราะเป็นการทำงานด้านการวิจัยซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวอยู่แล้ว

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิจัย

จุดเริ่มต้นตั้งแต่เรียนด้านเกษตร เป็นนักเรียนที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น ถ้าในรุ่นที่เรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยกันเค้าจะเรียกว่า “กาแฟ” คือ ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่เด็กๆ มหาวิทยาลัยเขาทำกัน แต่สิ่งที่ชอบคือการไปดูแปลงทดลองของอาจารย์ บางทีก็ได้อาหารติดไม้ติดมือกลับมาหอบ้าง ผมไม่ใช่เด็กกิจกรรม มักเก็บตัวเงียบ ช่วงวันหยุดก็จะไม่กลับบ้าน จะขอไปทำงานวิจัยกับอาจารย์ไปลงแปลงจริงๆ ส่วนตัวชอบงานด้านการเกษตร ที่บ้านทำประมงแต่ไม่อยากเรียนด้านนี้ เพราะเบื่อรู้จักปลาเกือบทุกชนิดแล้ว ขอไปขึ้นเขาแทน [หัวเราะ] ชอบที่สุด คือ ป่าไม้ งานแบบลุยๆ ชอบงานที่อยู่กับท้องไร่ท้องนา และสนใจมากด้านชีววิทยา โดยประทับใจตั้งแต่เรียน เช่น ให้ฮอร์โมนแล้วทำให้ลูกไก่มีหงอนได้
มันน่าตื่นเต้นดี เป็นจุดแรกๆ ที่ทำให้สนใจงานด้านวิชาการ

จบการศึกษาปริญญาตรี งานแรกที่ทำ คือ เป็นผู้ช่วยวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ ทำงานกับ CIMMYT ประเทศไทย ทำเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ญพืชเมืองหนาวเป็นครั้งแรกที่ได้ลงมือปฏิบัติเรื่องการผสมพันธุ์พืช นอกจากปรับปรุงพันธุ์พืชและการทดสอบในแปลงของศูนย์และสถานีแล้ว เวลานั้นทำที่ศูนย์ข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ ไร่สุวรรณ อีกงานหนึ่งคือการทำ multi-location trials เพื่อประเมินศักยภาพและการปรับตัวของสายพันธุ์พืชที่นำเข้า ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ได้สะสมประสบการณ์การทำงานที่ทำกับต่างชาติ และการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ ขณะเดียวกันได้เดินทางไปทั่วภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การทำวิจัยในสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีที่ลึกๆ หรือ ขั้นสูงอะไร ระบบคอมพิวเตอร์ก็เป็นรุ่นบุกเบิกที่ใช้แผ่นดิสก์ ตนเองจะทำงานทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลค่อนข้างมาก ใช้เวลาในการวิเคราะห์ทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้งานเสร็จ ดังนั้น จึงทำให้เห็นมุมมองของการวิจัย ชอบการวิเคราะห์และสถิติ การทำงานช่วงนี้เป็นการทำงานไปด้วยและเรียนในระดับปริญญาโทไปด้วย

จบการศึกษาระดับปริญญาโท ได้ทำงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวบาร์เล่ย์ ที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในจังหวัดเชียงราย มิติที่ได้รับจากการทำงานกับบริษัท ไม่ใช่แค่เรื่องการวิจัย แต่มีโอกาสทำงานร่วมกับ ดร.เฉลิมภาภ ช่วยประสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์สอนงานด้านการเขียนจดหมายติดต่อราชการและธุระกิจ และการติดต่อประสานงาน ทำให้เริ่มมีทักษะ บวกกับตนเองทำงานในพื้นที่ค่อนข้างมาก องค์ความรู้เลยรวมกันในหลายมิติ งานที่ทำมันก็ไม่ได้เป็นงานปรับปรุงพันธุ์ ยังได้รับมอบหมายให้ไปดูงานด้านปศุสัตว์และด้านไม้ผล จนสุดท้ายต้องไปคุมการก่อสร้างโรงงาน และดูแลเรื่องการรับซื้อผลผลิตเข้าสู่โรงงาน เป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาจากการทำงานเอกชนที่มีหลากหลายมิติ แต่ความชอบของตนเอง คือ งานด้านการวิจัย

ในยุคเริ่มแรกของ Biotechnology ทางการเกษตรเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานวิจัยมากขึ้น ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ได้ไปศึกษาต่อด้านนี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานั้นตนเองยังทำงานอยู่กับ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด พอทั้ง 2 คน สำเร็จการศึกษากลับมาเมืองไทยและบุกเบิกงานด้านนี้ เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆ ของวิจัยด้านจีโนม  ทำให้ตนเองสนใจงานด้านนี้มากขึ้น เหมือนกับเป็นเทคโนโลยีที่ breakthrough งานด้าน breeding ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง รากฐานของการปรับปรุงพันธุ์เป็นสิ่งที่ตนเองชอบและสนใจโดยส่วนตัวอยู่แล้ว ก็ไปเรียนต่อด้านนี้ จนกระทั่งกลับมาทำงานที่ สวทช. ก็ทำงานด้านนี้จริงจังและเชื่อมั่นว่าทักษะที่มีจะทำให้การพัฒนางานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ดีขึ้นไปได้อีก

แนวคิดในการดำเนินงานและการบริหารงานวิจัย

“ผมบอกได้เลยว่าผมไม่ใช่นักบริหาร แต่ต้องมาทำงานบริหาร [หัวเราะ] เก่งหรือไม่ ไม่รู้เลย แต่สิ่งที่ผมทำ คือ หากผมต้องบริหารงานผมจะต้องบริหารให้ถึงใจคน หมายความว่า เราจะต้องเข้าใจคนในทีมที่เราบริหาร

ตอนแรกที่จะต้องมาทำงานบริหาร ถูกให้มาช่วยดูกลุ่มวิจัยด้านการเกษตรของ ศช. พบว่างานวิจัยด้านการเกษตรค่อนข้างจะไม่เข้มแข็งทางวิชาการเมื่อเทียบกับหน่วยเครือข่าย เมื่อมาพิจารณาดูทำให้รู้ว่า นักวิจัยของเราไม่ได้ถูกสอนให้คิดและตั้งสมมุติฐานอย่างเป็นระบบ หมายถึง เขาเรียนจบมาก็จริง แต่เขายังไม่ใช่นักคิด เพราะฉะนั้น ตนเองจะสอนน้องๆ เสมอว่าเราจะต้องมองปลายทางให้ออก เวลาทำงานจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ จะตอบคำถามนี้ได้อย่างไร แล้วปลายทางที่ทำ ทำแล้วได้อะไร ไม่ใช่ทำไปเรื่อย มองไม่ออกว่าสุดท้ายปลายทางแล้วได้อะไร เราต้องสร้าง partnership หรือ พันธมิตร ไม่เฉพาะแค่ภายใน แต่ต้องสร้าง partnership ภายนอกด้วย เพราะฉะนั้น การบริหารส่วนหนึ่งคือการสร้าง network หรือ เครือข่าย การทำงานให้ถึงผู้ปฏิบัติคือจะต้องเข้าใจเขาจริงๆ ลงไปช่วยได้ และต้องมีการวางแผนที่ดี โดยส่วนตัวทำงานให้บรรลุเป้าหมายจะมีแผนงานเยอะมาก มีหลายระดับ และไม่เร่งร้อนหากผลไม่ได้ในวันนี้ ก็จะต้องได้ในวันข้างหน้า ที่มีแนวคิดแบบนี้ได้มาจากตอนที่ทำงานกับภาคเอกชน ที่จะต้องเอาตัวรอด มีแผนสำรอง และต้องมีแผนในใจเสมอ บางทีการวางแผนหลายระดับ ลูกน้องไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน เข้าไม่ถึงก็มี [ยิ้ม] ก็ไม่เป็นไร ก็พยายาให้ลูกน้องเดินตามแนวทางเป็น step-by-stepการทำงาน step แรกยังไม่เสร็จ เราก็ต้องคิดถึง step ถัดไปแล้ว

“สิ่งสำคัญในการทำงานไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัยหรือด้านอื่น คือ การปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และการเจรจาต่อรอง นักวิจัยต้องมีทักษะเหล่านี้ คำว่า negotiation หรือ การเจรจาต่อรอง หมายถึง การพูดคุยแล้วสามารถทำให้เกิด win-win กันได้”

ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

“การทำงานที่ สวทช. ผมภูมิใจที่ผมเป็น Molecular Plant Breeder เพราะทำงานทางด้านการปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรี น้อยคนนะที่จะได้จับงานด้านใดด้านหนึ่งมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เรียนจบการศึกษา มาจนถึงปัจจุบัน ความภาคภูมิใจของผม คือ พันธุ์พืชที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้”

ความภูมิใจเรื่องพัฒนาพันธุ์พืชมีตั้งแต่ระยะการพัฒนาพันธุ์ธัญพืชเมืองหนาวสำหรับเขตร้อน ตนเองเป็นคนแรกๆ ที่ปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ เช่น ข้าวสาลีสายพันธุ์อินทรีย์ 1 และอินทรีย์ 2 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอไปทำงานกับ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ บรบ. 9 ที่เป็นข้าวบาร์เลย์แบบ 2-row barley พันธุ์แรกของประเทศไทย ในช่วงที่ศึกษาปริญญาเอกในต่างประเทศ ก็ได้พัฒนาพันธุ์ Step 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ชนิด 6-rows และได้ขึ้นทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวขณะที่ทำงานที่ สวทช มีหลายพันธุ์สายพันธุ์ที่เกษตรกรได้นำไปใช้ เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน น่าน59 หอมนาคา ข้าวเจ้าหอมชลสิทธิ์ หอมจินดา ไรท์เบอร์รี่ สินเหล็ก ฯลฯ

“กลับมาเมืองไทยทำงานด้านข้าว ได้พันธุ์ข้าวหลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะข้าวเหนียวธัญสิริน คือความภาคภูมิใจ เพราะเป็นข้าวพันธุ์แรกที่ได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และข้าวเหนียวธัญสิรินสามารถใช้ได้จริง โดยข้าวเหนียวธัญสิรินได้แก้ปัญหาของจังหวัดน่าน ซึ่งประสบปัญหาการระบาดของโรคไหม้ ทำให้ข้าวไม่พอบริโภคในจังหวัด หลังจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวเหนียวธัญสิริน ก็เปลี่ยนจากเมืองที่ผลิตข้าวไม่พอกิน เป็นเมืองที่ผลิตข้าวเหลือกิน และส่งขายไปจังหวัดใกล้เคียงได้”

ข้าวแต่ละสายพันธุ์มีความโดดเด่นแตกต่างกัน การที่จะให้พันธุ์ข้าวที่พัฒนาออกไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เส้นทางที่เราเดินอาจจะต่างจากการทำงานในด้านของหน่วยงานอื่น เราทำงานกับชุมชน  ในกรณีของพันธุ์ข้าว สวทช. ไม่ได้ทำงานเดินตามขั้นตอนที่กรมการข้าว ที่เป็นหน่วยงานหลักด้านข้าว  แต่ สวทช. ทำงานในลักษณะของการมีส่วนร่วมของเกษตรกร หรือ ชุมชน สายพันธุ์ที่พัฒนาออกไปนั้นสามารถใช้ได้จริง ตอบโจทย์พื้นที่ และที่สำคัญงานของเราเป็นพื้นฐานความรู้สำหรับ
การทำ
Marker Assisted Selection และเป็น genetic resource สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ซึ่งหน่วยงานทุกหน่วยงานในประเทศไทยใช้องค์ความรู้และแหล่งพันธุกรรมเหล่านี้ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย นี่คือความภาคภูมิใจของตนเองอีกประการหนึ่ง

“อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ คือ การได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นับเป็นความภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิตที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด และยังจำได้ขึ้นใจ พระองค์ท่านตรัสว่า “คนไทยต้องกินข้าวไทย เราต้องรักษาข้าวไทยไว้ให้คนไทย” คนทำงานด้านนี้จะรู้ว่าคำนี้เป็นแรงบันดาลใจว่าเราทำงานแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ”

การทำงานของตนเองไม่ได้มองถึง career path ของตัวเองมากนัก ทำเพราะชอบที่จะทำ สมัยก่อนผู้ใหญ่ต้องชี้เป้าว่าเลื่อนตำแหน่งได้แล้ว ขยับขึ้นได้แล้วทำงานมาตั้งมาก เพราะตนเองจะไม่ได้สนใจเสนอขอปรับตำแหน่งเลย อาจจะเป็นเพราะอยู่หน่วยเครือข่ายด้วย ต้องยอมรับว่าตนองไม่ได้มองเรื่องนี้จริงๆ คิดแค่ว่า พอใจกับสิ่งที่ได้ทำ แต่อยู่ที่ สวทช. เราเป็นนักวิจัย 100% ดังนั้น จึงทุ่มเทไปในสิ่งที่เรารัก ในสิ่งที่เราชอบที่จะทำ มันไม่มีกรอบ และสิ่งที่เราทำ การทำงานก็ไม่มีใครมาชี้นำว่าต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดเอาเองว่าจะทำอะไร หลายอย่างจึงเกิดขึ้นจากแนวคิดของเรา

คนเราจะสำเร็จได้ สิ่งแรกคือความมุ่งมั่น มีเป้าหมายที่ชัดเจน แสวงหาโอกาส โอกาสไม่ได้เดินมาหาเรา เราต้องเดินไปหามัน การได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่ก็เป็นสิ่งที่สร้างโอกาสให้กับเราเช่นกัน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากทำงานคนเดียว เรามีพรรคพวก เพื่อนฝูง และผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะงานที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ผมไม่สามารถออกไปทำงานชุมชนได้ทุกครั้ง ดังนั้น การมีพรรคพวกที่มีแนวคิดเหมือนกันก็เดินไปในจุดหมายเดียวกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จ โดยสรุป ปัจจัยความสำเร็จจะต้องมีทั้งโอกาส กัลยาณมิตร ความมุ่งมั่น และสุดท้ายมีครอบครัวที่คอยสนับสนุนให้สามารถทำงานที่รักได้อย่างเต็มที่

ความท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีการจัดการ

ทุกงานมีความท้าทายในตัวของมันเอง ในฐานะนักวิจัยที่อยู่ในทีมวิจัยเครือข่าย ตนเองทำหน้าที่เหมือนเป็นแม่บ้านของหน่วยฯ คือจะต้องเข้าไปดูแลจัดการทั้งคน งบประมาณ สถานที่ ความท้าทายที่สำคัญคือการหางบประมาณ หรือ ทรัพยากรได้เพียงพอในการขับเคลื่อนหน่วยฯ ถ้าไม่พอก็จะไม่สามารถบริหารงานวิจัยกลุ่มใหญ่ได้ ดังนั้นเป็นความท้าทายที่สำคัญคือจะสามารถหา resource ให้เพียงพอในการทำงานวิจัยได้อย่างไร

ขยับขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จากการเป็นนักวิจัยที่ทำงานโดยมีเป้าหมายของตนเองและทีมวิจัยแล้ว ในมิติที่ตนเองถูกมอบหมายให้ดูแลประเด็นมุ่งเน้นของ สวทช. ซึ่งเป็นมิติในภาพรวมด้านการเกษตรและบูรณาการระหว่างศูนย์ฯ เพราะฉะนั้น เวลามองต้องมองสิ่งใหม่ๆ ว่าอนาคตการเกษตรควรจะไปอย่างไร  ความท้าทายสำคัญคือการปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีของการเกษตรสมัยใหม่ให้ได้ การเปลี่ยนไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมต้องทำให้อะไรๆ ดีขึ้น

ตนเองมีความเชื่อส่วนตัวในการดำเนินงานให้ได้เป้าหมาย สิ่งสำคัญคือ การเป็นผู้กำกับงบประมาณ เพื่อที่จะสั่งการงานไปได้ จากประสบการณ์การทำงานกับหลายมิติ คนที่กุมงบประมาณ คือ คนที่กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ในการนำทีมนั้น เราจะต้องเป็นผู้หาและบริหารงบประมาณ ก็จะสามารถพาทีมทำงานบรรลุเป้าหมายให้ได้

ในปัจจุบันมีประเด็นเรื่องของงบประมาณอยู่บ้างที่เราไม่ได้เป็นผู้ถืองบประมาณ ดังนั้นก็ต้องไปหางบประมาณ ตนเองไปทุกที่มีโอกาส เมื่อมีโอกาสแล้วจะต้องไม่ท้อ หากไปของบประมาณแต่ไม่ได้รับ ก็เก็บมาเป็นข้อปรับปรุง challenge ใน
การบริหารทีมวิจัยว่าจะทำอย่างไรให้ทีมวิจัยเดินได้ตามเป้าหมายและบรรลุพันธกิจขององค์กร

งานเรื่อง BCG เป็นงานยากและมีข้อจำกัดเรื่องของงบประมาณ แต่สามารถดำเนินงานไปได้เพราะความสัมพันธ์อันดี และมีเครือข่ายค่อนข้างมาก ซึ่งเบื้องต้นต้องพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติและสร้างการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

ความท้าทายที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่องจะต้องหาวิธีในการทำงานเพื่อรับมือ ตนเองเมื่อรับงานแล้วจะทำให้สำเร็จและ
ไม่ยอมให้งานที่รับมานั้นล้มเหลว

เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการให้ได้รับทุนวิจัย และการเขียนบทความเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่ได้รับการยอมรับ

“การเขียน proposal หลักๆ สิ่งที่นักวิจัยควรรู้เป็นอันดับแรก คือ จะไปขอทุนที่ไหน เพราะแหล่งทุน
แต่ละแหล่งมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เทคนิคผม คือ ต้องเขียน proposal ที่แหล่งทุนอยากได้ ไม่ใช่เขียนแบบเราอยากทำ และที่สำคัญต้องแน่ใจว่าสามารถส่งมอบได้ตามกรอบเวลา”

การเขียน proposal จะต้องเขียนให้เห็นประเด็นที่เป็น pain point สำหรับนักวิจัยใหม่จะเขียน proposal อาจจะยากสักนิด นอกจากประสบการณ์ในมุมกว้างยังไม่มีแล้ว ยังไม่มีเครดิตหรือเป็นที่รู้จัก ตนเองแนะนำนักวิจัยใหม่เขียน proposal ขอทุนที่สามารถดำเนินงานแล้วเสร็จใน 1 ปี และส่งมอบผลงานได้ เพื่อสร้างเครดิต และทำให้ชื่อของนักวิจัยและโครงการวิจัยปรากฏอยู่ในระบบ เนื่องจากการขอทุนที่ใหญ่ขึ้น กรรมการจะพิจารณา resume ของผู้เสนอขอทุนวิจัย สิ่งนี้สำคัญมาก

การเขียน proposal จะต้องดูความต้องการของแหล่งทุน ในแต่ละแหล่งทุนจะมีกลุ่มของกรรมการ ซึ่งกรรมการในประเทศไทยยังมีไม่มาก ซึ่งนักวิจัยที่มีประสบการณ์อาจจะรู้ได้เลยว่าแนวคิดของกรรมการคนนี้คิดอะไร ตนเองแทบจะรู้เลยว่ากรรมการคนนี้จะ comment ประเด็นอะไร เพราะทำงานพิจารณาโครงการร่วมกับกรรมการมาด้วยกันเยอะ นักวิจัยใหม่ๆ มักจะเกรงใจกรรมการมาก และแสดงให้กรรมการเห็นว่าอยากได้ทุนมาก แต่สำหรับตนเองนั้น จะไม่แสดงความต้องการให้กรรมการเห็นว่าต้องการทุนของแหล่งทุนมาก แต่จะทำให้แหล่งทุนแสดงความต้องการที่อยากจะได้เราทำงานวิจัยชิ้นนั้นๆ หากคุณไม่ให้ทุนเรา คุณจะเสียโอกาสมาก โดยก่อนที่จะเขียน proposal เพื่อขอทุน จะต้องศึกษาและเตรียมข้อมูลมาก่อนว่ามีการวางแผนการดำเนินงานวิจัยและมีขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร รวมถึงการแจงประเด็นทางเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจน

นอกจากจะต้องเข้าใจการเขียน proposal ตามความต้องการของแหล่งทุน และแจงประเด็นทางเทคโนโลยีได้ชัดเจน การระบุงบประมาณที่ reasonable เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ตนเองไม่เคยให้แหล่งทุนมาต่อรองเรื่องงบประมาณ เพราะถ้าไม่ได้คำนวณงบประมาณ overestimate จะลดงบประมาณลงได้อย่างไร [หัวเราะ] หากบอกว่าไม่เป็นไร ลดงบประมาณ ตามกรรมการเสนอ อันนี้ไม่ได้ หน้าที่ของนักวิจัยคือการชี้แจงงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานด้วยความสุภาพ และฉลาดที่จะตอบข้อซักถาม ส่วนกรรมการจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นกรรมการเป็นคนตัดสิน

“การเขียน paper ถ้าเขียนอะไรที่ซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจ ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ สังเกตนักวิจัยที่เขียน paper เก่งๆ มักจะเขียนเรื่องอ่านง่ายไม่ซับซ้อนเกือบทุกเรื่อง แต่ละเรื่องนำเสนอไม่กี่ประเด็น การเขียนที่ทำให้เข้าใจง่ายและชัดเจน เน้นประเด็นหลักและเขียนตามประเด็น มักจะประสบความสำเร็จ”

ทักษะการเขียน paper ของแต่ละคนไม่เท่ากัน นักวิจัยที่ทำวิจัยเก่งไม่ได้หมายความว่าจะเขียน paper ได้ดี กลับกันบางครั้งคนที่เขียน paper เก่ง อาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ [หัวเราะ] คนที่เขียน paper เก่ง หมายถึง คนที่มีมุมมอง เหมือนกับเวลาที่ไปพูดเพื่อนำเสนอผลงาน จะเห็นว่าเนื้องานอาจจะไม่ได้มีอะไรเด่น แต่นำเสนอได้เก่งมาก สามารถชี้ประเด็นได้ชัดเจน

การที่จะเขียน paper ให้ประสบความสำเร็จต้องฝึกเขียนให้มาก และต้องรู้จักวารสาร เพราะแต่ละวารสารมีแนวทางในการตีพิมพ์ที่ไม่เหมือนกัน อย่าเขียนอะไรที่ซับซ้อน เนื้อหามีความทันสมัย หากทำได้ก็จะได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่างานบางอย่างก็ตีพิมพ์ยาก

ส่วนตัวเองมองเรื่องของการตีพิมพ์ผลงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะประกอบใน resume เนื่องจากการเป็นนักวิชาการ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะมาวัดว่าวิชาการแข็งแค่ไหนจากผลงานตีพิมพ์

แนวทางในการสร้างเครือข่าย เพื่อผลักดันงานวิจัย

การสร้างเครือข่ายขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ และงานที่เกี่ยวข้อง  ต้องสร้างขึ้นมาจากหลายแนวทางโดยส่วนตัวคิดว่าคนที่จะมีเครือข่ายได้ต้องมีพื้นฐานไม่เห็นแก่ตัว ช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น และมีแนวคิดแบบบวก เมื่อมีเครือข้ายแล้วก็ต้องหาผู้นำที่มีเป้าหมายแนวทางเดียวกันกับเรามาเป็นพันธมิตร…

เราต้องมีพื้นฐานในการช่วยเหลือคนอื่น ตนเองสอนน้องๆ ว่าเราช่วยผู้อื่นโดยไม่คิดหวังสิ่งใด มันจะ pay off (ตอบแทน) เราสุดท้ายนั่นเอง คนที่เราไปช่วยเขาก็จะเป็นเครือข่ายของเราในอนาคตทั้งนั้น เพราะสุดท้ายแล้วเขาจะสนับสนุนเราเอง ดังนั้น เครือข่ายของตนเองเกิดขึ้นจากการที่ไปสนับสนุนคนอื่นก่อน เท่าที่เราสามารถทำได้

ถัดมา เราต้องหาคนที่มีเป้าหมายเดียวกันกับเรา โดยส่วนตัวมีเครือข่ายระดับผู้นำกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเครือข่ายแบบกว้างขวาง มีคนถามว่า ดร.ธีรยุทธ มีเครือข่ายกว้างขวางขนาดนี้เลยเหรอ ตนเองตอบได้เลยว่า ไม่มีเครือข่ายขนาดนั้น แต่เรามีเครือข่ายระดับผู้นำกลุ่ม ซึ่งพรรคพวกเราต่างหากที่มีเครือข่ายแบบกว้างขวาง การสร้างเครือข่ายจะต้องค่อยๆ สร้างมาตั้งแต่ต้นๆ ของการทำงานของเราเอง เรามีเป้าที่จะทำงานนี้ร่วมกันใช่หรือไม่ มีกลุ่มที่มีเป้าตรงกันที่จะไปถึง และสร้างพันธมิตรการทำงานไปด้วยกัน มันจะเกิดเป็น network (เครือข่าย)

เครือข่ายในต่างประเทศก็มี ด้วยการทำงานแรกๆ ของตนเองทำงานกับ Rockefeller Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานต่างชาติ เมื่อทำแล้วสำเร็จได้รับความเชื่อถือ ก็ได้โครงการจาก Rockefeller Foundation มาเรื่อยๆ และต้องสร้าง network (เครือข่าย) โดยทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านจึงมี network เพิ่มขึ้น

การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและการดำเนินงานวิจัย ในช่วงสถานการณ์ COVID-19

ทุกงานช่วงแรกเป็นอะไรที่ช็อก ไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ และงานส่วนใหญ่เป็นงาน wet lab (ห้องปฏิบัติการเปียกหรือห้องปฏิบัติการทดลอง เป็นห้องปฏิบัติการประเภทหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องใช้สารเคมีประเภทต่างๆ) ยังต้องเข้ามาทำงานโดยสลับกันเข้ามาทำงานทุกวัน โดยมีมาตรการการดูแลอย่างดีที่สุด การส่งมอบผลงานไม่ได้ติดขัดอะไรยังสามารถส่งมอบผลงานได้ตามปกติ COVID-19 ทำให้ปรับเปลี่ยนการทำงานหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น การประชุม ที่เปลี่ยนไปเป็นการประชุมแบบออนไลน์ ซึ่งสามารถประชุม หารือ และติดตามงานได้ทุกที่ทุกเวลา แม้กระทั่งการประชุมหารือกับต่างประเทศ ไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ผลกระทบมีบ้าง แต่จะเป็นผลกระทบในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของบุคคลเป็นส่วนมาก การทำงานก็ปรับไปให้เดินได้อย่างเหมาะสม สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับมันได้

แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน รวมถึงการสร้าง successor

คำถามเรื่องการสร้าง successor เป็นคำถามยอดนิยมที่มักถูกถามอยู่เสมอ [ยิ้ม] ซึ่งก็ไม่เคยตอบได้เลยว่าจะมีหรือไม่ [ยิ้ม] ความหมาย คือ “ไม่มีใครสามารถมาแทนใครได้” เพราะแต่ละคนมีเอกลักษณ์และการทำงานเป็นของตัวเอง เด็กรุ่นใหม่
มีเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่ง ตนเองมีความเชื่อเสมอว่า ไม่ใช่ว่าหมดรุ่นตนเองแล้วจะไม่มีใครมาทำได้ อย่างไรเสียก็ต้องมีคนมาทำได้
แต่อาจจะไม่ใช่แนวทางแบบที่เราคิดหรืออยากให้เป็นก็ได้

ตนเองพยายามที่จะให้เข้าใจว่า ตนเองทำงานเหมือนแม่บ้านที่ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ความเป็นอยู่ของลูกน้องทุกคน  ห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือ เพราะฉะนั้น คนที่จะทำงานเป็นหัวหน้าทีมหรือหัวหน้ากลุ่ม จะต้องเป็นคนที่เป็นผู้ให้มากๆ เห็นแก่ส่วนรวม สิ่งที่พยายามถ่ายทอด คือ การบริหารทีมและบริหารกลุ่ม ต้องเป็นการทำงานร่วมกัน มีจิตใจเกื้อกูลต่อกันอย่าเห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวแล้ว รับรองไปไม่รอดทั้งทีม หรือหากตนเองรอดตอนนี้ แต่อาจไปเจออุปสรรคข้างหน้าแล้วไม่มีใครมาช่วย เพราะไม่เคยช่วยคนอื่น

สำหรับ successor ทำไมตนเองถึงดูลำบาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ยึดตัวเองเป็นหลักค่อนข้างเยอะ ไม่ได้ว่าเขานะเพราะเป็นยุคของเขา ปัจจุบันบริบทเปลี่ยน องค์กรเปลี่ยน ถึงแม้ว่าเราจะบอกหรือแนะนำ ก็ไม่เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จะเป็นอย่างในยุคก่อนได้ แต่ด้วยความที่แต่ละคนยึดตัวเองเป็นหลัก ดังนั้นคงต้องมีพันธกิจอะไรบางอย่างมาล็อคเพื่อเป็นตัวกำกับให้เดินไป

แนวคิดของเด็กรุ่นใหม่คิดไม่เหมือนเรา เวลาเราสร้างคน เราก็ต้องสร้างแบบใหม่ จะมาสร้างแบบเดิมไม่ได้

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช. รวมถึงภาพของ สวทช. ในอนาคตที่คาดหวัง

สวทช. ในยุคแรกๆ มีระบบบริหารงานที่ค่อนข้างทันสมัย อิสระ ไม่ติดกับรูปแบบของราชการมากเกินไป แต่ในช่วงหลังขยับได้ค่อนข้างช้า ด้วยอะไรก็แล้วแต่ ส่วนตัวเอง สวทช. ยังเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่ใช้ได้ และยังทำอะไรได้อีกมาก สวทช. contribute ในงานต่างๆ มากมาย แต่คนไม่ค่อยเห็น ซึ่ง สวทช. อาจจะทำงาน basic science ค่อนข้างมาก อาจจะไม่มีกลุ่มคนทำ translational มากนัก ผลงานเชิงการนำไปใช้ประโยชน์เลยมีจำกัด

สิ่งที่อยากเห็น คือ ประโยชน์ของการทำงานวิจัยที่ไม่ใช่เรื่องการตีพิมพ์ แต่อยู่ที่คุณูปการของการผลักดันประเทศไปในมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ สวทช. ทำทำด้วยงบประมาณประเทศซึ่งมีจำกัด สิ่งเหล่านั้นจะต้องมีประโยชน์ ต้องไปถึงผู้ที่ควรจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และคิดว่าปัจจุบัน สวทช. ก็มาทิศทางนั้น จริงๆ ปัจจุบัน สวทช. มองถึงการนำออกไปใช้ประโยชน์มากที่สุด

“เมื่อมีคนถามว่าอยู่ สวทช. ภูมิใจหรือไม่ ผมตอบได้ว่าภูมิใจ ไปไหนผมก็จะบอกเสมอว่าผมอยู่ ศช. สวทช. สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากคน สวทช. รุ่นที่ผ่านมา และรุ่นใหม่ที่จะสร้างต่อให้เป็นหลักของประเทศ”

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณ  

ตนเองทำงานวิจัยมาทั้งชีวิต ชอบทำ ชอบคุย ได้ค้นหาและพัฒนาสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ค่อยได้เตรียมตัวเรื่อง
หลังเกษียณว่าจะต้องทำอะไร แต่มีความฝันจะไปทำไร่ทำสวน แต่ดูเหมือนจะเป็นความฝันไปเสียหน่อย ด้วยเรื่องของครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องลูก ด้วยตนเองลูกช้า ลูกยังเรียนไม่จบ

การเตรียมตัวหลังเกษียณจะเป็นห่วงเรื่องงานมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรที่จะมีคนมาสานต่องานที่เราทำไว้ ห่วงลูกน้อง
ลูกศิษย์ ว่าจะอยู่อย่างไร หาโครงการวิจัยกันได้ไหม และจะอยู่ร่วมกันโดยเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้หรือไม่ เพราะมีภาระทิ้งไว้เยอะเหลือเกินที่ยังทำไม่เสร็จ ก็คงจะพยายามสานต่อให้แล้วเสร็จ เมื่อถึงคราวที่จะต้องวางมือจะได้ไปอย่างสบายใจ