บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.เฉลิมพล ตู้จินดา

บทสัมภาษณ์ ดร.เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ด้านสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม สวทช. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ ดร.เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ด้านสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม สวทช. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

แนะนำตัวเอง

ดร.เฉลิมพล ตู้จินดา ทำงานกับ สวทช. ที่ สวทช. มาประมาณ 13 ปี โดยเริ่มทำงานที่ สวทช. วันเดียวกันกับที่ Thai BISPA (สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย) จัดตั้งขึ้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ดูแลบริหารทีม ITAP (ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) และ ทีม TLO (สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี) นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่องกลไกการเงินต่างๆ ในการช่วยเหลือและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ความรู้และความสามารถที่สำคัญในงาน เทคนิควิธีในการทำงาน และคติประจำใจในการทำงาน

ตนเองศึกษาทางด้าน Digital Electronic และศึกษาต่อทางด้าน Computer และ MBA (Master of Business Administration) จึงมี background ทางด้าน IT

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ร่วมกับลูกพี่ลูกน้องสร้างบริษัทที่เริ่มต้นสร้างกัน จากคน 3 คน ภายใน 4-5 ปี มีคนในบริษัท 450 คน โดยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับงานด้านข้อมูลที่มีความ real-time โดยออกแบบระบบการส่งข้อมูล จากนั้นไปทำงานกับ บริษัท Router ซึ่งต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ตนเองได้เข้าไปนำให้กับบริษัท เริ่มจากคนเพียง 10 คน และเติบโตขึ้น มีคนกว่า 1,600 คน ในระยะเวลาเพียง 4-5 ปี การทำงานจุดนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารคนมากขึ้น ทำงานที่ บริษัท Router ประมาณ 10 ปี จึงลาออก

เริ่มต้นมาทำงานที่ สวทช. เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งต้องขอขอบคุณ ดร.ชัชนารถ เทพธรานนท์ และคุณสุวิภา วรรณสาธพ ที่ชักชวน เริ่มแรกทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) และเป็นผู้อำนวยการ โดยเป็นผู้อำนวยการ ประมาณ 5 ปี ผลักดันเรื่องอุตสาหกรรม IT และได้มารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ด้านสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม) จนถึงปัจจุบัน

“การทำงานจะต้องเข้าใจทีมงาน และต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายซึ่งมีความรู้และความสามารถในการบริหารจัดการ เมื่อขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. สิ่งที่ผมทำ คือ ผมเข้าไปเรียนรู้กับเขา และถามคำถามเขาเยอะ ด้วยเหตุผล 3 ประการ

ประการที่ 1 ถามเพราะไม่รู้ ผมถามคำถามเยอะ เพราะต้องการทำความเข้าใจก่อน ผมจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าผมไม่เข้าใจ ประการที่ 2 ถามเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ผมเข้าใจนั้นเป็นเรื่องจริง และ ประการที่ 3 ถามเพื่อให้ไปคิด คำถามที่ถามผม ผมจะตอบด้วยคำถาม เพราะผมไม่อยากจะป้อนอะไรให้เขา เพราะอะไรที่ทำให้เขาคิดเองและเข้าใจเอง สามารถทำให้เขาคิดอะไรได้มากขึ้น”

คติในการทำงาน คือ งบประมาณของ สวทช. มาจากภาษีประชาชน หน้าที่ของเราคือทำให้เงินภาษีประชาชน ก่อประโยชน์ให้มากที่สุด แล้วการที่เราไปช่วยเหลือเอกชนหรืออุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งในที่สุดแล้วต้องสามารถเติบโต
สร้างรายได้ และสร้างกำไรเพื่อคืนภาษีกลับมา เพื่อให้เรานำไปใช้ เกิดเป็นวงจรและความยั่งยืนได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ

โชคดีที่ตนเองมีโอกาสร้างสรรค์งานหลายอย่าง โดย สวทช. เปิดโอกาสให้ได้คิดนอกกรอบ เพื่อจะผลักดันงานไป

ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

ทุกผลงานที่ทำคือความภาคภูมิใจ และแต่ละผลงานที่สำเร็จไม่ใช่ตนเองทำเพียงคนเดียว แต่เป็นการทำร่วมกับทีม ตนเองทำหน้าที่ในการให้ไอเดีย

ช่วงทำงานอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand)

    • การนักศึกษาพร้อมใช้ โปรแกรมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับมหาวิทยาลัย โดยให้นักศึกษาฝึกงานกับบริษัท และบริษัทที่รับนักศึกษาไปฝึกงานจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักศึกษา
    • การพัฒนา data scientist ตนเองได้ทำงานกับคนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงจัดทำหลักสูตรทางด้าน data scientist ขึ้น เชิญอาจารย์เพื่อมาสอนคนที่อยากเป็น multiplier ให้กับประเทศไทย เชิญ data scientist จากประเทศออสเตรเลีย มาบรรยายให้ฟังว่า 1 วันของ data scientist ทำอะไรบ้าง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของ data scientist ให้แก่ผู้ที่เข้าเรียนในหลักสูตร
    • startup ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เมื่อพูดถึง startup ยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้ ตนเองจึงได้เชิญผู้จัดการจาก Silicon Valley มาให้ความรู้เรื่อง startup กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แยก session เล่าให้ฟังว่า การเงินในระบบของ startup เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ปีถัดไป ตนเองเสนอจัดสัมมนาทางด้านการเงินให้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.). โดยตั้งชื่องานว่า Technology Investment Conference ซึ่งจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี ติดต่อกันมา 6 ปี ในช่วงปีแรกมีการให้ความรู้เรื่องการเงินของ startup ทั้งหมด

ช่วงทำงานอยู่ที่ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

    • startup Thailand มี 3 องค์กร คือ สวทช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกันดำเนินงาน โดยแบ่งการรับผิดชอบดำเนินการ คือ สวทช. ดูแลหัวข้อการสัมมนา และการ pitching ขณะที่ สวทน. ดูแลโครงสร้างโปรแกรมของงาน สนช. ดูแลการจัดการ (organization) งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักลงทุนรู้จัก startup มากขึ้น หลังจากนั้น สวทน. ได้ผลักดันการให้ความรู้แก่นักศึกษา โดยมีทีม BIC ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เป็นผู้ดูแล ซึ่งรู้สึกว่าเรามีส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยรู้จัก startup มากขึ้น
    • technology translation research รัฐบาลมีงบประมาณแท็บแล็ต โดยที่ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีต้องการผลักดัน startup การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ และประเทศไทยยังไม่มีใครทำเรื่องเกี่ยวกับ technology translation research ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีจึงทำเรื่องนี้ขึ้น การทำ translation research ตนเองตีความว่าเป็นการนำผลงานวิจัยออกมาสู่เชิงพาณิชย์ จึงตั้งโครงการชื่อ Research Gab Fun นำงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล มาปิด gab จุดนี้ ตนเองออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานในห้องปฏิบัติการออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ การดำเนินงานต้องหารือกับหน่วยงานหลัก เช่น ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.ขอนแก่น และ ม.เทคโนโลยีระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงความเป็นไปได้ในการเดินหน้าสิ่งที่ดำเนินการ
    • startup voucher เพื่อช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในกิจกรรมทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ โดยเชื่อมโยงกับโครงการ Research Gab Fun

ความท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีการจัดการ

เรื่องของคน ต้องเข้าใจและต้องใกล้ชิดทีม ต้องพยายามเข้าใจสมาชิกในทีมว่ารู้สึกอย่างไร มีปัญหาอะไร แล้วเราในฐานะหัวหน้าทีมสามารถเข้าไปช่วยอะไรได้บ้าง

งบประมาณในการดำเนินกิจกรรม สวทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ราชการ หนึ่งในนโยบายของ สวทช. คือ การหารายได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ ในแง่ของมุมมองหรือภาพที่ภาคเอกชนมองเข้ามาที่ สวทช. มองว่า สวทช. เป็นหน่วยงานที่ควรสนับสนุนภาคเอกชน เพราะ สวทช. ได้รับงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชน และหารายได้เพิ่มเติมจากประชาชนอีก จุดนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับภาคเอกชน

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) ของ สวทช. มีหน้าที่ในการช่วยเหลืออุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ถูกมอบหมายให้ไปหารายได้ ดังนั้น สิ่งที่ ศจ. พยายามที่จะจัดการคือการขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานราชการที่เป็นหน่วยงานที่ให้ทุน แทนการขอทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน

คุณสุวิภา วรรณสาธพ ได้ให้คำแนะนำ ตั้งแต่สมัยทำงานที่ Software Park Thailand ว่า เราควรจะไปทำภารกิจหน้าที่ที่คนอื่นต้องการทำ แต่ทำไม่ได้ สวทช. มีกลไกที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทยในการช่วยเหลือ และผลักดันอุตสาหกรรมของไทย โดยถ้าพิจารณาวงจรตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (product development) ซึ่ง สวทช. มีกลไกช่วยเหลือตั้งแต่ด้านการเงิน องค์ความรู้ หรือว่าการสนับสนุน ถัดมาในแง่การพัฒนาธุรกิจ (business development) สวทช. มีกลไกที่ช่วยบริษัททำธุรกิจอย่างไรได้บ้างให้เติบโต ถัดไปเกี่ยวกับการขยายตลาด (market expansion) สวทช. มีโครงการที่ช่วยบริษัททำการขยายตลาดอย่างไรบ้าง ถ้าพิจารณาในวงจรของผลิตภัณฑ์แล้ว สวทช. มีกลไกครบทุกอย่าง

“ประเด็นปัญหาของ สวทช. คือ สวทช. ทำงานเยอะมากที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน แต่การรับรู้ของคนน้อย เพราะ สวทช. เป็น นักทำ มากกว่า นักประชาสัมพันธ์ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องของงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ในอนาคตสามารถทำให้ดีขึ้น เพื่อโปรโมทสิ่งที่ สวทช. ทำให้คนรับรู้มากยิ่งขึ้น”

การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารในช่วงสถานการณ์ COVID-19

COVID-19 มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อการดำเนินงาน

ผลกระทบเชิงบวก คือ COVID-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตค่อนข้างมาก สำหรับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP)  ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทีมงานจะต้องเดินทางบ่อยครั้งเพื่อไปหาลูกค้าและติดตามงาน การเดินทางเป็นแบบบินไปตอนเช้า และบินกลับตอนเย็น ตนเองเห็นแล้วรู้สึกเหนื่อยแทน จึงลองเปลี่ยนให้มาใช้วิธี video conference เพื่อประชุมออนไลน์กับลูกค้าแทน ช่วงแรกยังไม่ค่อยคุ้นชิน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 เป็นเหมือนภาคบังคับ เพราะการเดินทางลงพื้นที่ไปพบลูกค้าและติดตามงานไม่สามารถทำได้ ทีมงานต้องใช้วิธี video conference การทำวิธีนี้เป็นผลกระทบเชิงบวก คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้น การเดินทางลดลง งบประมาณในการเดินทางก็ลดลงด้วย

ผลกระทบเชิงลบ คือ การทำงานบางส่วนของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 คือ ไม่สามารถหาแหล่งทุนเพื่อหางบประมาณมาจัดสัมมนาเพื่อหารายได้ได้ ไม่สามารถจัดกิจกรรมสัมมนาแบบ onsite เพื่อหารายได้

แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน รวมถึงการสร้าง successor

การถ่ายทอดหรือการส่งต่อประสบการณ์เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาทำงาน ไม่ใช่เฉพาะใกล้เปลี่ยนงานหรือใกล้เกษียณถึงจะถ่ายทอด

การทำงานของตนเองจะเป็นการทำงานแบบถามแล้วให้ทุกคนช่วยกันออกความเห็น และทุกคนสามารถสร้าง
สิ่งใหม่ ขึ้นมาด้วยกันได้ พยายามให้เกิดการเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานใหม่ๆ ตลอดเวลา การทำเช่นนี้เป็นการค่อยๆ สร้างคนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็น ไม่ได้ตำหนิและถือเป็นความผิดหากพูดผิดหรือคิดผิด เมื่อทีมงานกล้าที่จะแสดงออกทางความคิด รู้ว่าสิ่งใดผิดถูก ต่อไปจะเริ่มมีการเรียนรู้และเก่งขึ้นเอง เพราะฉะนั้น ตนเองจะเน้นให้ทีมงานช่วยกันออกความเห็นมากที่สุด

การใช้ open dialogue คือ การคุยกันและพยายามที่จะให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น

ตนเองจะไม่สั่งงานใครทั้งสิ้น แต่เน้นให้ทีมงานคิดให้มากขึ้น ให้ลงมือทำ เพื่อลองผิดลองถูกและเรียนรู้ หน้าที่ของตนเอง คือ ถ้าทีมงานทำผิดจะต้องเข้าไปช่วย โดยแนะนำว่าผิดอย่างไรและวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ที่สำคัญต้องทำให้ทีมงานไม่รู้สึกว่าผิดแล้วจะถูกตำหนิโดยคนอื่นๆ สิ่งที่ทำนี้ เรียกว่า safe environment คือถ้าทีมงานผิดแล้ว ตนเองจะต้องเป็น buffer หรือกันชนตรงกลางระหว่างลูกทีมและหัวหน้า ให้ลูกทีมรู้สึกว่าปลอดภัย

วิธีการทำงานให้คนเปิดใจเปิดกว้างขึ้น ก็พยายามพาไปเห็นข้างนอกบ้างว่าคนอื่นทำอะไรและเป็นอย่างไรบ้าง เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่าให้อยู่ในองค์กรหรืออยู่ในห้องเพียงอย่างเดียว

ตนเองคิดว่า ไม่ว่าตนเองเข้าไปที่ใดก็คาดหวังว่าถ้าตนเองออกมาแล้ว ที่นั่นดีกว่าตอนตนเองเข้าไป ดังนั้น ถ้าตอนที่เข้าไปแล้วออกมาเหมือนเดิม ไม่รู้เข้าไปทำไม เข้าไปไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าไปทำอะไรต้องทำให้มีคุณค่า ทุกคนต้องมีคุณค่าในตัวเอง

สิ่งสำคัญ คือ ต้องใส่ไฟลูกน้องเยอะๆ เพื่อให้เขามีไฟ ถ้าไฟเขามอดเขาก็จะทำงานเพื่อคอยเวลาให้หมดไปในแต่ละวัน ขณะเดียวกันก็ต้องใส่ไฟให้ตัวเองด้วย ทำอย่างไรให้มีพลังทำงานร่วมกัน

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.

“สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีทีมงานที่ดี ทำงานกลมเกลียวกัน ให้ความช่วยเหลือกันดี และเป็นองค์กรที่โปร่งใส ทุกคนพยายามทำงานอย่างเต็มที่ และทำเพื่อ Nation First ดังนั้น NSTDA ที่เป็น Core Value ของ สวทช. เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนถือปฏิบัติแบบจริงจัง อันนี้เป็นอะไรที่ประทับใจ

อีกสิ่งคือเวลาไปไหนบอกว่ามาจาก สวทช. จะได้การต้อนรับอย่างดี เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ มีองค์ความรู้ และทำเรื่องราวจริงๆ ดีๆ ให้กับประเทศ มีผลงานจำนวนมาก ตลอดทั้งสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้

สวทช. เป็นองค์กรที่มีทั้งภาพลักษณ์ บุคลากร และชื่อเสียงที่ดี สิ่งนี้ต้องพยายามเชิดชูไว้ และพยายามสร้างให้เข้มแข็งขึ้นไป เป็นหัวใจสำคัญ”

องค์ความรู้ของคน สวทช. ไม่ด้อยไปกว่าที่ใดเลย สวทช. มีนักวิจัยเก่งๆ และ สวทช. ได้รับมอบหมายงานสำคัญจากรัฐบาล ทั้งนี้ความประทับใจส่วนใหญ่ของตนเองที่มีต่อ สวทช. คือ คน

อยากจะเห็น สวทช. เข้มแข็งขึ้น สามารถเดินหน้าและสร้างผลกระทบให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณ  

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ ต้องเตรียมล่วงหน้านานๆ ไม่ใช่เตรียมตัวกันแค่ 1 ปี 2 ปี 5 ปี ต้องเริ่มตั้งแต่เริ่มทำงาน เพราะหลังเกษียณเป็นเวลาที่น่าจะ enjoy กับชีวิตมากที่สุด แต่ว่าไม่มีรายได้แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเตรียมความพร้อมในด้านการเงิน ให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหา ตนเองเตรียมตัวมานานแล้ว ลงทุนมาตั้งแต่อายุ 30 เช่น การลงทุนในหุ้น

คำว่า เกษียณ ถูก invest จากประเทศเยอรมันมาหลายปีแล้วว่า อายุ 60 เกษียณ ซึ่งจริงแล้วมีความรู้สึกว่าตอนนั้นคนอายุ 65-70 ก็อาจจะเสียชีวิตแล้ว มีเวลาอยู่แค่ 5-10 ปี แต่ตอนนี้เรายังมีเวลาอยู่ถึง 90 ปี มิใช่น้อยเลย และคนที่อายุประมาณ 60 ปีสมัยนี้ เท่ากับคนวัยกลางคน เพราะสุขภาพและอาหารทำให้เราแข็งแรง

ขณะเดียวกัน connection และความคิดของเราหลายอย่างอยู่ในจุดที่สามารถไปทำอะไรต่อได้ เพราะฉะนั้น ตนเองมองว่าหลังเกษียณแล้วก็คงจะไม่ได้หยุดทำงาน แต่จะไปทำอะไรบางอย่างที่สามารถช่วยเหลือสังคม โดยการใช้องค์ความรู้และประสบการณ์สิ่งที่ได้สั่งสมมา เช่น การเป็นที่ปรึกษา จะใช้เวลาหลังเกษียณให้มีค่า

ภาพของ สวทช. ในอนาคต ที่คาดหวัง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งผลกระทบกับ สวทช. มากพอสมควร พันธกิจหลักของ สวทช. จะเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

ส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง คือ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวข้องโดยตรงกับการวิจัยและพัฒนา แต่เกี่ยวข้องในแง่ของการผลักดันเทคโนโลยีออกสู่ตลาด ซึ่งสองส่วนนี้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยที่ผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา และ ศจ. ที่ถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับภาคอุตสาหกรรม

สวทช. มีสองส่วนที่เข้มแข็งมาก คือ ส่วนวิจัย และส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรม โดย ศจ. มีกลไกที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดในประเทศไทย สามารถสร้างประโยชน์ได้มาก ในอนาคตต้องนำส่วนวิจัย และส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรม มา synergize (ผนึกกำลังกัน)

การทำงานวิจัยแต่ละ TRL (Technology Readiness Level หรือ ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี) ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ต้องการ โดย ศจ. สามารถเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง สวทช. ต้องพยายามทำการวิจัยและพัฒนาที่นำไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น โดยการวิจัยและพัฒนาจาก TRL level 2, level 3, level 4 ต้องมีมุม market development และมุมการทำธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องตั้งไว้ในใจว่าจะวิจัยและพัฒนางานนี้แล้วจะไปขายใคร และเข้าไปใน value change อย่างไร บางครั้งในระยะเวลาพัฒนา TRL level 4 ที่ยังเป็น double type ขณะเดียวกันอาจต้องพัฒนาส่วนพัฒนาลูกค้าที่จะมาซื้อผลงานด้วยว่าใครควรจะมาซื้อ เรื่องนี้คือสิ่งสำคัญ

มหาวิทยาลัยเป็น peer กับ สวทช. เพราะฉะนั้น สวทช. ต้องสร้างจุดเด่น สวทช. ไม่มีนักศึกษาอย่างเช่นมหาวิทยาลัย สวทช. มี ศจ. ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่สามารถไป tap ได้ มหาวิทยาลัย และ สวทช. มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ถ้า สวทช. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมากขึ้นในแง่ของบางเรื่องได้ ก็จะทำให้เชื่อมโยงกันได้มากยิ่งขึ้น ถ้ามองว่าทุกหน่วยงานเป็นพันธมิตรกันไปหมด พยายามที่จะยื่นมือช่วยเหลือกันและกัน จะสามารถแบ่งงานและดำเนินงานได้รวดเร็วขึ้น สิ่งสำคัญ คือ สวทช. ต้องมองและโฟกัสจุดแข็งของตนเอง