2 นักวิจัย สวทช. รับพระราชทานโล่รางวัลกลุ่มนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มอบดอกไม้แสดงความยินดีกับ 2 นักวิจัย สวทช. ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลกลุ่มนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2565 ประเภทกลุ่ม ได้แก่ โครงการ“ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน” (Dam Safety Remote Monitoring System: DS-RMS) โดย ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (ACERG) และทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ได้แก่ โครงการ “โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง” (High Performance Computing Infrastructure for Advanced Materials Research) โดย ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ หัวหน้าทีมวิจัยโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

รางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และ “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนเห็นเป็นรูปธรรม สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับประเทศได้ ผลงานเทคโนโลยีที่ได้รับพิจารณาอาจเป็นผลงานของนักเทคโนโลยีที่มาจากภาครัฐหรือเอกชน ผลงานหลักที่เสนอเพื่อรับรางวัลควรจะเป็นผลงานที่อยู่ในรูปต้นแบบ (prototype) สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบต่างๆ รายงานทางเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง (technical report) และผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ ความโดดเด่นและนวัตกรรมของเทคโนโลยีนั้น ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองและสามารถแข่งขันได้ ส่วนรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เริ่มมีผลงานวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เป็นที่ประจักษ์ถึงศักยภาพและความทุ่มเท ในการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง