ดร.มาซาฮิโกะ อิซากะ นักวิจัยอาวุโส ไบโอเทค ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปีงบประมาณ 2566

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ดร.มาซาฮิโกะ อิซากะ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเคมีอินทรีย์ชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเคมีอินทรีย์และสารสกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหารและพนักงาน สวทช. นำโดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร. มาซาฮิโกะ อิซากะ เนื่องในโอกาสรับทุนดังกล่าวด้วย

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร. มาซาฮิโกะ อิซากะ

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร. มาซาฮิโกะ อิซากะ

ดร.มาซาฮิโกะ อิซากะ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเคมีอินทรีย์ชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทคสวทช. ได้รับรางวัลทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) สาขาวิทยาศาสตร์เคมีอินทรีย์ ประจำปีงบประมาณ 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางเคมีของเห็ดในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางยา (Chemical Research on Thai Mushroom Resources for their Medicinal Utilization)” เพื่อนำทรัพยากรเห็ดที่มีความหลากหลายในประเทศไทย รวมถึงเห็ดรับประทานได้ (edible mushrooms) และเห็ดสมุนไพร (medicinal mushrooms) มาทำการศึกษาและค้นหาสารองค์ประกอบของเห็ดที่มีศักยภาพสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ โดยค้นหาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อก่อโรค (มาลาเรีย วัณโรค และแบคทีเรียก่อโรค) สายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางการแพทย์โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและดื้อยาหลายชนิด และสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบจากเห็ดโดยเฉพาะกลุ่มเห็ดหิ้ง (bracket mushrooms, shelf fungi หรือ polypores) รวมทั้งดัดแปลงโครงสร้างของสารออกฤทธิ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือฤทธิ์ทางชีวภาพด้วยการสังเคราะห์ทางเคมี นอกจากนี้ค้นหาและศึกษาทางชีวเคมีของสารสกัดจากเห็ดที่มีฤทธิ์ต้านเบาหวานหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเพื่อระบุเป้าหมายหรือกลไกการออกฤทธิ์ และองค์ประกอบทางเคมีที่มีความสำคัญต่อฤทธิ์หรือประสิทธิภาพของสารสกัดจากเห็ดสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ทางยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ โดยภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างหน่วยงานภายในและนอกประเทศ และการสร้างเครือข่ายกลุ่มวิจัยด้านการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากทรัพยากรเห็ดในประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 7,500,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี (2566 – 2569)

ทั้งนี้ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) เป็นทุนที่ วช. สนับสนุนนักวิจัยอาวุโสที่มีความสามารถ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีความสามารถทางวิชาการสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเกียรติในฐานะที่ได้สร้างผลงานดีเด่นมาตลอดชีวิต โดยเน้นการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาประเทศและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ รวมถึงการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อสร้างศักยภาพเชิงปัญญาระยะยาวของชาติ ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนส่งเสริมการวิจัยต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้สรรหาจากการสำรวจรายชื่อนักวิจัยชั้นนำ รวมทั้งการเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิ