กิจกรรมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน Revolutionizing the Future: Agro and Bio Industry Through Bio-Innovation ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมฐานชีวภาพ

กิจกรรมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน Revolutionizing the Future: Agro and Bio Industry Through Bio-Innovation
ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมฐานชีวภาพ

สวทช. ชวนเอกชนลงทุน R&D หนุนยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จาก “เกษตรดั้งเดิม” สู่ “เกษตรอัจฉริยะ”ด้วยนวัตกรรมฐานชีวภาพ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ: ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม วิทยากร และผู้เข้าร่วมงาน “กิจกรรมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมฐานชีวภาพ” ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นเวทีของการแบ่งปันความรู้ และแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีฐานชีวภาพที่สามารถนำไปใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตร และต่อยอดการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อทำให้ผู้ประกอบการปรับตัว เตรียมความพร้อม ยกระดับและสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม รวมถึงทราบสิทธิประโยชน์ของภาครัฐเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ 

โอกาสนี้ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า “สวทช. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ได้มุ่งส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์ ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลก ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมฐานชีวภาพ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ สวทช. ในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (ST Implementation for Sustainable Thailand) คือ การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยใช้กระบวนการทางชีวภาพ เคมี หรือกายภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สวทช. ยังให้การสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ การร่วมวิจัย รับจ้างวิจัย การให้คำปรึกษา และบริการรับรองเพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีการลงทุนวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้รับสิทธิประโยชน์ของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ที่จะช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น และนำไปสู่การทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น”

ในช่วงที่ 2 มีการบรรยาย เรื่อง “ใช้สิทธิประโยชน์ภาครัฐให้คุ้มค่ากับงานวิจัยที่สร้างผลกำไร” โดยคุณภาณุทัต ธรรมบุศย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สวทช. มาให้ข้อมูลมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปสู่ในเรื่องของการเกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยทางภาครัฐหวังว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจะสามารถสร้างผลกระทบต่าง ๆ ได้ตามที่มุ่งหวัง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการที่มีมาตรการสนับสนุนที่หลากหลายที่มาช่วยผู้ประกอบการเอกชนทั้งมิติในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่, การปรับปรุงกระบวนการ หรือการหาแหล่งเงินทุนการจัดตั้งธุรกิจ รวมไปถึงเรื่องของการสนับสนุนด้านตลาด ในส่วนมาตรการภาครัฐของ สวทช. อาทิ มาตรยกเว้นภาษี 200% (ยกเว้นภาษีเงินได้ ตาม พรฎ. 598), เงินบริจาค RDI (อ้างอิงตาม พรฎ. 770), การรับรองธุรกิจเทคโนโลยี, รับรองโครงการเพื่อขอสินเชื่อ (บริษัทที่ผ่านการประเมิน I 4.0 index จาก สวทช.) และการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ให้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับบริบทขององค์กร เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและสร้างผลกำไร

ในช่วงที่ 3 เป็นการบรรยาย เรื่อง “ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม SME ไทย ด้วยกลไก ITAP” โดย คุณพีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ ฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) สวทช. และคุณเปรมฤดี ศรีทัพไทย ที่ปรึกษาอาวุโส งานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ ITAP สวทช. มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย โดยเน้นการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และยกระดับมาตรฐานการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และสนับสนุนงบดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์ ซึ่งช่วงปี 2566 – 2568 ทาง ITAP ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ในโครงการต่าง ๆ มากกว่า 500 โครงการ โดยมีหลากหลายโครงการ อาทิ การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพไทย, การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและส่วนผสมฟังก์ชันเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย พร้อมให้คำปรึกษาและทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในสารออกฤทธิ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ เป็นต้น หากผู้ประกอบการมีความสนใจบริการของทาง ITAP สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.itap.nstda.or.th

และ ช่วงที่ 4 เป็นการบรรยาย เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรสู่อุตสาหกรรมชีวภาพด้วยนวัตกรรม” โดย ดร.วรินธร สงคศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช. ได้กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 4.2 ล้านล้านบาท และมีโรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 300 แห่ง รวมถึงมีครัวเรือนเกษตรกรที่เกี่ยวข้องถึง 4 ล้านครัวเรือน แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตร กำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า และกระแสการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเชิญชวนผู้ประกอบการมาร่วมกันแสวงหาแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดทั้งในประเทศ และระดับโลก

ดร.วรินธร ได้กล่าวถึงนโยบาย BCG Economy Model ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยทาง สวทช. มีความพร้อมและศักยภาพในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์เดิม ปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับจากสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าหลักสิบ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น Functional Sugar, Nutraceutical, Biocomposite, Oleochemical, Lignin และ Biomethane เป็นต้น

ภายในงาน สวทช. ได้นำเสนอตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำตาล มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพปลายน้ำ โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน อาทิ เทคโนโลยีการแปรรูปชีวมวล ชีวเคมีภัณฑ์ ชีวกระบวนการ เอนไซม์ เทคโนโลยีการหมัก การบำบัดของเสีย และการพัฒนาวัสดุชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ สวทช. พร้อมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในการร่วมวิจัยและพัฒนา และแก้ไขโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

ภายในงานยังมีการเสวนา “แบ่งปันมุมมอง แนวคิดและประสบการณ์ แปลงงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่วงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรม ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งในด้านโอกาส ความท้าทาย และแนวทางการผลักดันผลงานวิจัยให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.นาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล ผู้อำนวยการแผนงานด้านพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), ดร.ปกรณ์ พิรุณฤกษ์กุล ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด, คุณอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), คุณหทัยกานต์ กมลศิริสกุล Head of Strategy, Sustainability & Innovation, Head of New Business Group, and Chief of Staff บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และ ดร.เจตสุดา จิรวุฒิวงศ์ชัย ผู้จัดการแผนกนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.ศรีสกุล ตระการไพบูลย์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ (IBBG) BIOTEC สวทช.

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “One-on-One Consulting บริการให้คำปรึกษางานวิจัยกับผู้ประกอบการ” ที่มีความสนใจสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่, เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจและลงทะเบียนเข้าร่วมงานจาก 88 หน่วยงาน จำนวน 110 คน โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับคำปรึกษาภายในงานจำนวน 14 หน่วยงาน

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีบูธบริการ ของ สวทช. และ บพข. ที่มาร่วมจัดแสดงในงานอีกด้วย