ลงทะเบียน
ผลงานที่จัดแสดง
Fish X-Change - อุปกรณ์แปลงเพศปลานิลด้วยวิธีไฟฟ้า
จุดเด่นของเทคโนโลยี
  • ลดระยะเวลาแปลงเพศปลานิลให้น้อยลงจากวิธีดั้งเดิม 21-28 วัน เหลือเพียง 5-15 นาที/ชุด
  • ลดปริมาณการใช้สารเคมี (ฮอร์โมนเพศผู้แอนโดรเจน) ที่ใช้ในกระบวนการแปลงเพศปลานิลน้อยลง 3,600 เท่า (คิดเทียบที่จำนวนปลา 10,000 ตัว/2 ไร่) และลดโอกาสปนเปื้อนสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม
  • สารละลายฮอร์โมนที่ใช้ในกระบวนการสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้ “Reuse hormone”
  • ชุดอุปกรณ์ใช้งานง่ายและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน “User Friendly”
  • เป็นเทคโนโลยีสะอาด “Green farm technology” รักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมนโยบายปลานิลส่งออกตามมาตรฐาน GAP

  • คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์
    ชุดอุปกรณ์ให้กำเนิดสัญญาณไฟฟ้าที่มีค่าเฉพาะ กระตุ้นให้เกิดการขยายรูที่เยื่อหุ้มผนังเซลล์ไข่สัตว์น้ำเพื่อนำพาสารฮอร์โมนเพศที่จำเป็นเข้าสู่ภายใน วิธีการใช้งานไม่ซับซ้อน เพียงใส่ไข่ปลาพร้อมสารละลายลงในชุดขั้วไฟฟ้า และกดปุ่มสั่งการชุดอุปกรณ์เพียงครั้งเดียว สามารถชักนำเพศไข่ปลาให้เปลี่ยนเป็นเพศผู้ได้สูงสุด 2,000 ฟอง/ครั้ง ภายในระยะเวลา 15 นาที (อัตรา 8,000 ฟอง/ชั่วโมง) น้ำยาสารละลายสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้ (175 มิลลิลิตร/2,000 ฟอง ใช้ซ้ำ 20 ครั้ง เฉลี่ยฟองละ 0.09 บาท) ไข่ปลาที่ผ่านการเหนี่ยวนำเพศด้วยวิธีไฟฟ้าสามารถนำไปเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตเป็นลูกปลาที่แข็งแรงด้วยระบบวิธีการเพาะเลี้ยงตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารปลาที่ผสมฮอร์โมนเพศอีกต่อไปจวบจนกระทั่งถึงช่วงอายุที่สามารถจับขายได้ (4-6 เดือน) ด้วยผลผลิตอัตราการตายที่น้อยกว่า 7% อัตราการฟักของไข่ปลา (hatching) 93-100% อัตราการรอด (survival rate) 63-98% และอัตราการแปลงเพศเป็นเพศผู้ไม่น้อยกว่า 82% ชุดอุปกรณ์ใช้งานได้นอกสถานที่ บริโภคกำลังไฟ < 1 มิลลิวัตต์/ครั้ง

    การประยุกต์ใช้งาน
  • ใช้เปลี่ยนเพศไข่สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นที่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน
  • บรรจุสารฮอร์โมน วิตามิน และสารอื่นที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของไข่ปลาด้วยวิธีการเดียวกับการแปลงเพศไข่ปลา
  • สนามไฟฟ้าทำให้ผิวเซลล์ไข่ปลาสะอาดปราศจากแบคทีเรียและสิ่งปนเปื้อน

  • กลุ่มลูกค้า / ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
    กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงปลานิล และที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนเพศไข่สัตว์น้ำเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์

    กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย
    นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่สนใจในเทคโนโลยีใหม่ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

    สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
  • คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 1501006035 ชื่อ “กระบวนการควบคุมเพศของไข่ปลาด้วยเทคนิคทางไฟฟ้าและสูตรน้ำยาที่ใช้ในกระบวนการดังกล่าว”
  • คำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1503001629 ชื่อ “อุปกรณ์กระตุ้นการขยายรูเยื่อหุ้มผนังเซลล์ไข่สัตว์น้ำด้วยสัญญาณไฟฟ้า”

  • สถานะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
    อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปลักษณ์และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าสู่ตลาด

    ภาพรวมตลาด
    อุตสาหกรรมการส่งออกปลานิลเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจน้ำจืดเนื้อขาวที่มีรสชาติดีและราคาไม่แพง เป็นปลาเศรษฐกิจดาวรุ่งอันดับต้นของประเทศและของโลก มีผลผลิตมวลรวมในประเทศเฉลี่ยประมาณ 18,400 ตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 30.4 ของผลผลิตสัตว์น้ำจืดและมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันความต้องการบริโภคปลานิลในตลาดโลกโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นปลาเนื้อขาว มีราคาถูกเมื่อเทียบกับปลาเนื้อขาวชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศกลุ่ม EU ทั้งนี้ปลาที่เพาะเลี้ยงโดยปราศจากสารพิษไม่ปนเปื้อนการเลี้ยงด้วยฮอร์โมนเพศสังเคราะห์และปลานิลที่ปราศจากกลิ่นสาบคาว กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเข้าปลานิลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือสาธารณรัฐประชาชนจีน

    ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

    คุณรัชวรรณ ฐานัตถวงศ์เจริญ
    สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.
    โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 1357
    Email: ratchawan.tanuttawongcharoen@nstda.or.th


    ดร.วงศกร พูนพิริยะ
    ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย (CPMO) สวทช.
    โทรศัพท์ 02 117 6439
    Email: vongsakorn@nstda.or.th


    รศ.ดร.ศักย์ชิน บุญถวิล
    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
    โทรศัพท์ 076 276 154
    Email: sakshin.b@phuket.psu.ac.th


    ศูนย์ลงทุน
    ฝ่ายบริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.
    โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 1359
    Email : nic@nstda.or.th