โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อน
     (1) เซิร์น (CERN) หรือ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (The European Organization for Nuclear Research) 
     เซิร์นเป็นสถาบันวิจัยฟิสิกส์พื้นฐานระดับโลก ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักและเผยแพร่ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาค และเป็นแหล่งรวมนักวิจัย วิศวกร และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกในการออกแบบ จัดสร้างเครื่องเร่งอนุภาค  เครื่องตรวจวัดอนุภาค และวิจัยทั้งทางทฤษฎีและการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงการวิจัยที่เป็นฟิสิกส์แนวหน้า (Frontier Physics) เพื่อศึกษาผลของการชนกันของลำอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ที่เป็นจุดกำเนิดของจักรวาล โดยคาดว่าจะทำให้ค้นพบอนุภาคที่เป็นที่มาของอนุภาคมูลฐานของสสารได้ อันนำไปสู่การไขความลับเกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาล
     โครงการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วม CERN Summer Student Program จะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ในสาขาวิชาฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 4 คน เข้าร่วมกิจกรรมที่เซิร์น สมาพันธสวิส ระยะเวลา 8-12 สัปดาห์ ภาพรวมของกิจกรรมประกอบด้วยการเข้าร่วมฟังการบรรยาย การเยี่ยมชมสถานที่ภายในเซิร์น อาทิเช่น CERN Data Center เครื่องตรวจวัดอนุภาค ATLAS เครื่องเร่งอนุภาค Synchrocyclotron และการทำงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของเซิร์น ตามกลุ่มวิจัยแบ่งเป็น 2 กลุ่มวิจัยหลัก ได้แก่ กลุ่มวิจัยของ CMS และกลุ่มวิจัยของ ALICE โดยผลงานวิจัยที่นักศึกษาจัดทำจะเผยแพร่ไว้บนระบบฐานข้อมูลของเซิร์น

     (2) สถาบันเดซี (Deutsches Elektronen Synchotron: DESY) 
     สถาบันเดซีเป็นหนึ่งในบรรดาห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลก ด้านฟิสิกส์ของอนุภาคมูลฐาน และงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอน ทำวิจัยทางด้านอนุภาค มูลฐาน ที่เน้นการใช้เครื่องเร่งอนุภาค เพื่อที่จะค้นหาอนุภาคมูลฐาน ที่เกิดจากการชนกัน ของอนุภาคอิเล็กตรอนและอนุภาคโปรตรอน และงานวิจัยทางด้านแสงซินโครตรอนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ในงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ในสาขาฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี วัสดุศาสตร์ธรณีวิทยาและแพทยศาสตร์ 
     โครงการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วม DESY Summer Student Program จะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ในสาขาวิชาฟิสิกส์ จำนวน 3 คน เข้าร่วมกิจกรรมที่เดซี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระยะเวลา 8 สัปดาห์ ภาพรวมของกิจกรรมประกอบด้วยการเข้าร่วมฟังการบรรยาย การเยี่ยมชมสถานที่ทดลองภายในเดซี และการทำงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของเดซี โดยแบ่งกลุ่มการวิจัยเป็น การวิจัยในสาขาฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน การทดลองที่ใช้แสงซินโครตรอน งานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาค ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐาน งานเกี่ยวกับการคำนวณ

     (3) สถาบันวิจัยไอออนหนักเฮล์มโฮลทซ์จีเอสไอ (GSI Helmholtz Center for Heavy Ion Research) 
สถาบันวิจัยไอออนหนักเฮล์มโฮลทซ์จีเอสไอ เป็นหน่วยงานวิจัยด้านเครื่องเร่งอนุภาคไอออนหนัก งานวิจัยของสถาบันฯ มีทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและฟิสิกส์ประยุกต์ งานวิจัยที่สำคัญเป็นงานวิจัยในสาขาฟิสิกส์พลาสมา ฟิสิกส์ของอะตอมโครงสร้างนิวเคลียสและปฏิกิริยาของนิวเคลียส ฟิสิกส์ชีวภาพและการแพทย์ เป็นต้น ปัจจุบันมีพนักงาน 1,350 คน และยังมีนักวิจัยประมาณ 1,000 คน จากมหาวิทยาลัยและ สถาบันวิจัยทั่วโลกมาร่วมใช้อุปกรณ์ 
     โครงการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วม GSI Summer Student Program จะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ในสาขาวิชาฟิสิกส์ จำนวน 2 คน เข้าร่วมกิจกรรมที่จีเอสไอ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระยะเวลา 8 สัปดาห์ ภาพรวมของกิจกรรมประกอบด้วยการเข้าร่วมฟังการบรรยาย การเยี่ยมชมสถานที่ทดลองภายในจีเอสไอ และการทำงานวิจัยร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของจีเอสไอ 

     (4) ไอซ์คิวบ์ (IceCube) หรือหอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ (IceCube Neutrino Observatory) 
     หอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ตั้งอยู่ ณ สถานีขั้วโลกใต้อมันด์เซน-สก็อตต์ในทวีปแอนตาร์ติก (Amundsen–Scott South Pole Station) ไอซ์คิวบ์มีรูปแบบโครงสร้างการตรวจวัดอนุภาคนิวตริโนที่เป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยตรวจวัดแสง นับพันตัวกระจายอยู่ภายในนํ้าแข็งหนึ่งลูกบาศก์กิโลเมตรภายใต้ชั้นผิวหน้าของขั้วโลกใต้ ไอซ์คิวบ์ได้รับการออกแบบเพื่อทําหน้าที่ตรวจหาจุดกําเนิดของอนุภาคนิวตริโน นอกระบบสุริยะ (ซุปเปอร์โนวา, หลุมดํา, พัลซาร์ ฯลฯ) ในย่านพลังงานเทระอิเล็กตรอนโวลต์ เพื่อศึกษากระบวนการพลังงานสูงทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ทําให้เกิดอนุภาคนิวตริโน ไอซ์คิวบ์ตรวจพบอนุภาคนิวตริโนจํานวน 28 ตัวที่มาจากแหล่งกําเนิดภายนอกระบบ สุริยะ และการค้นพบอนุภาคพลังงานสูงพิเศษของไอซ์คิวบ์พบว่า อนุภาคพลังงานสูงดังกล่าวมีต้นกําเนิดมาจากเบลซาร์ ซึ่งเป็นหลุมดําที่ปล่อยลําเจ็ทมาที่โลกแบบพอดี การค้นพบดังกล่าวทําให้โครงการไอซ์คิวบ์เป็นโครงการขั้นแนวหน้า (Frontier) ในระดับโลก 
     โครงการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วม IceCube Summer Student Program จะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ในสาขาวิชาดาราศาสตร์ หรือฟิสิกส์ จำนวน 2 คน เข้าร่วมกิจกรรมที่ University of Wisconsin-Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา ระยะเวลา 8 สัปดาห์ ภาพรวมของกิจกรรมประกอบด้วยการเข้าร่วมฟังการบรรยาย วิจัยร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของ IceCube ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูล กลุ่มทำงานเชิงเทคนิค กลุ่มเครื่องมือวัดและแบบจำลอง กลุ่มการวิจัยและพัฒนา และกลุ่มงานอื่น ๆ และเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ IceCube Bootcamp การเยี่ยมสถานที่ทดลอง อาทิเช่น Helically Symmetric eXperiment, Physical Sciences Lab
9 December 2022