2 ผลงาน จากทีมเนคเทค และ A-MED คว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565

โครงการระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล (A-MED Telehealth) สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ โครงการสอนโค้ดดิ้ง วิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประเภทโครงการ ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 7 กรกฎาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565 ให้กับบุคคล หน่วยงาน และโครงการ ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งมีผลงานโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ และเป็นผลงานที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องถึงปี 2564 แบ่งประเภทผลงานออกเป็นด้านต่างๆ จำนวน 9 ด้าน มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้นจำนวน 54 ผลงาน ประกอบด้วยรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ 46 ผลงาน และใบประกาศเกียรติคุณ 8 ผลงาน ภายหลังการมอบรางวัลนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีและกล่าวชื่นชมกับผู้ที่ได้รับรางวัล พร้อมถ่ายภาพร่วมกับผู้ที่ได้รับรางวัล

โครงการระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล (A-MED Telehealth) สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาสาธารณสุข ดำเนินโครงการโดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โครงการสอนโค้ดดิ้ง วิทยาการข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา ดำเนินโครงการโดย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ร่วมกับ งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ ทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และทีมวิจัยการประมวลสัญญาณประสาท ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ในโอกาสนี้ ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค และ ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค ร่วมรับรางวัล พร้อมทั้งเป็นตัวแทนผู้อำนวยการ สวทช.  คณะผู้บริหาร และพนักงาน ร่วมแสดงความยินดีกับทั้ง 2 โครงการ ที่ได้รับรางวัล

โครงการระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล (A-MED Telehealth) สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19

A-MED Telehealth เป็น platform ระบบบริการแพทย์ทางไกล เริ่มใช้ platform นี้ช่วงโควิค-19 เป็นการเริ่มคิดค้นหาเครื่องมือที่ใช้ในพูดคุยระหว่างหมอกับผู้ป่วยที่ทำให้ไม่ติดเชื้อกัน เป็น platform ที่มีการออกแบบมาให้มีความง่ายและรวดเร็วในการพัฒนา และมีโอกาสได้ใช้งานจริงที่ รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ซึ่งเป็น รพ.สนามของผู้ป่วยคนพิการ โดยได้ผลตอบรับที่ดีเกิดคาด และมีการแนะนำให้กับกรมการแพทย์ และสำนักอนามัยของ กทม. เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่าจากสิ่งที่เราทำเล็กๆ ไปสู่ระดับการใช้งานทั่วทั้งกรุงเทพ ปัจจุบันมีการขยายไปกลุ่มร้านขายยา บริการ “เจอ-แจก-จบ” ดังนั้น digital platform จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตคนได้เหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการที่ดี แพทย์ และพยาบาลก็ไม่สามารถทำงานได้ในสถานการณ์ที่มีคนป่วยจำนวนมาก นอกจากนี้มีการต่อยอด A-MED Telehealth สู่ A-MED Care สำหรับร้านยา (Common Illness) เป็น platform สำหรับผู้ใช้บริการที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยไปรับยาจากร้านขายยา platform นี้จะช่วยเก็บบันทึกและทำการเบิกจ่าย และบริการดูแลผู้ป่วยใน ที่อยู่ที่บ้าน A-MED Home Ward ซึ่งจะเป็นการให้บริการเกี่ยวกับ 7 โรคสำคัญที่มีความเสี่ยงไม่มากสามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้ เพื่อจัดทำและพัฒนาโปรแกรม AMED Telehealth: แอปพลิเคชันรายงานสุขภาพประจำวันสำหรับผู้ที่กักตัวใน State Quarantine หรือ คนไข้ในโรงพยาบาลสนามและทีมแพทย์และพยาบาลสามารถติดตามคนไข้ได้อย่างใกล้ชิด โดยนำร่องในสถานที่กักกันตนเองของรัฐ (State Quarantine) และโรงพยาบาลสนาม

โครงการสอนโค้ดดิ้ง วิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน

จากความฝันที่อยากเห็นเด็กไทยได้ใช้อุปกรณ์เรียนโค้ดดิ้งอย่างง่ายเช่นเดียวกับเด็กนักเรียนในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. จึงได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาบอร์ดสมองกลฝังตัว ส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งและสะเต็ม ชื่อ KidBright จนประสบผลสำเร็จในปี 2559 (ค.ศ.2016) เนคเทคได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการผลิตบอร์ด จำนวน 500 บอร์ด และนำไปทดสอบใช้งานกับโรงเรียนนำร่อง 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนชิตใจชื่น ปราจีนบุรี, โรงเรียนบ้านนา นครนายก, โรงเรียนสามโคก ปทุมธานี, โรงเรียนในเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดล และนำผลการนำร่องมาพัฒนาปรับปรุง KidBright และในปี 2562-63 มีการขยายการเรียนโค้ดดิ้งไปยังกลุ่มโรงเรียนโสตศึกษาและกลุ่มโรงเรียนพิการทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้นักเรียนพิการได้เข้าถึงการเรียนเทคโนโลยีและโค้ดดิ้ง