บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.ศิวัช สังข์ศรีทวงษ์

บทสัมภาษณ์ ดร.ศิวัช สังข์ศรีทวงษ์ นักวิจัยอาวุโสนักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ ดร.ศิวัช สังข์ศรีทวงษ์ นักวิจัยอาวุโสนักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

• ดร.ศิวัช สังข์ศรีทวงษ์ (อายุงาน 30 ปี)
• ตำแหน่ง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์ (APNT) กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG)
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
• บทบาทหน้าที่ นักวิจัยด้านโคนม เริ่มทำงานด้าน Reproductive Physiology งานวิจัยด้านระบบสืบพันธุ์เป็นงานแรก และได้รับมอบหมายให้ดำเนิน
งานวิจัยด้านอาหารสัตว์ แต่ยังคงเน้นการทำงานด้านระบบสืบพันธุ์เป็นหลัก

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิจัย และแนวคิดสำคัญในการทำงาน

“ส่วนตัวไม่มีแรงบันดาลใจใด เป็นคนที่ไหลไปตามสถานการณ์ และรู้ตัวเองเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้น เมื่อรู้ว่ากำลังทำอะไรก็จะทำหน้าที่นั้นของตัวเองให้ดีที่สุด ส่วนแนวคิดสำคัญในการทำงาน มีความรู้สึกว่า ถ้าเค้าจ้างเราแล้ว เราต้องทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือน”

ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

โดยส่วนตัวไม่ได้มีงานชิ้นใดเป็นงานที่เด่น จึงไม่ได้มีความรู้สึกว่ามีงานชิ้นใดที่ภาคภูมิใจ แต่ความภาคภูมิใจอยู่ที่ “ผลลัพธ์ของงาน” มากกว่า คือ เราทำงานกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ทำงานร่วมกันมามากกว่า 20 ปี ปัจจุบันก็ยังทำงานร่วมกันอยู่ และเราก็เห็นว่าเค้ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากฟาร์มเล็กๆ ธรรมดาในอดีต ปัจจุบันสามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติได้ สิ่งนี้เป็นความภูมิใจและเป็นความสำเร็จหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกร

จากตรงนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ ลูกของเกษตรกรที่เราลงไปทำงานด้วย เมื่อเรียนจบจะไม่มีใครทำเกษตรต่อจากพ่อแม่ ขณะนี้สถานการณ์ด้านการเกษตรของประเทศไทยเป็นการทำเกษตรด้วยคนที่สูงอายุ แม้จะมีคนเมืองที่อยากจะใช้ชีวิตแบบ slow life โดยไปทำการเกษตร แต่ลักษณะนั้นไม่สามารถเป็นแรงผลักดันให้เกิดเป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ เป็นการทำตามกระแสมากกว่า

ขณะที่ปัจจัยความสำเร็จในการทำงานของตนเองนั้น มองว่าเป็นเรื่องของ “ดวง” [หัวเราะ] ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนทำงานเก่ง งานที่พัฒนาและใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ design synchronization protocols ที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เรา design synchronization protocols ครั้งแรกก็ใช้ได้เลย และหลังจากนั้นเป็นการทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้น คนเป็นนักวิจัยจะ “เก่งอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเฮงด้วย” บางคนทำงานอย่างหนักก็อาจจะไม่มีอะไรโดดเด่นเพราะโชคไม่เข้าข้าง แต่ก็ยังเชื่ออยู่เสมอว่าคนที่ทำงานมากโอกาสก็ย่อมจะมากไปด้วย โอกาสมีอยู่สำหรับทุกคน เพียงแต่ว่าเมื่อโอกาสมาถึงเราจะพร้อมที่จะรับโอกาสนั้นไว้ได้หรือไม่ สำหรับคนที่ทำงานมากก็จะมีความพร้อมรับกับโอกาสที่เข้ามามากกว่าคนที่ทำงานน้อย

ความท้าทายสำคัญในการบริหารและดำเนินงานวิจัย

ความท้าทายในการบริหารและดำเนินงานวิจัยมีมาก เนื่องจาก สวทช. เป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านทุนวิจัยและด้านยุทธศาสตร์ที่ต้องการจะผลักดัน เมื่อเกิดความท้าทายขึ้นเราก็ต้องไหลไปตามสถานการณ์ หันไปพิจารณาว่าตัวชี้วัดสำคัญ (Key Performance Indicator : KPI) ของ สวทช. คืออะไร และเราจะมีส่วนช่วยให้ สวทช. บรรลุตัวชี้วัดสำคัญนั้นได้อย่างไร

แนวทางในการสร้างเครือข่าย เพื่อผลักดันงานวิจัยด้านโคนม

ด้วยตนเองเป็นคนเบื่อง่าย ดังนั้น เมื่อเรียนจบระดับปริญญาตรีได้เริ่มต้นทำงานกับบริษัทเอกชนสักระยะ จากนั้นก็ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ และกลับมาประเทศไทย เมื่อทำงานได้สักระยะ ก็ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศอีก และกลับมาทำงานที่ประเทศไทย

ตนเองมีโอกาสได้ทำงานในหลายพื้นที่ จึงมีเครือข่ายจำนวนมากจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายจากคนที่เคยทำงานร่วมกันเมื่อสมัยจบปริญญาตรี รวมถึงเจ้านายเดิมก็ยังติดต่อกันอยู่ ในสมัยที่ศึกษาปริญญาโทก็มีโอกาสได้รู้จักคนมากขึ้น ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งก็มีโอกาสรู้จักคนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นจึงเหมือนมีเครือข่ายเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความพยายามใดเลย ถือเป็นความโชคดีของตนเองในเรื่องของการมีเครือข่ายแบบอัตโนมัติ

แนวทางการบริหารจัดการและการดำเนินงานวิจัยในช่วงสถานการณ์ COVID-19

งานของห้องปฏิบัติการมีอยู่ 2 งานใหญ่ๆ คือ งานวิจัย และงานบริการ

งานวิจัย ไม่ได้หยุด ทีมงานยังคงเข้ามาทำงานในห้องปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอ ส่วนงานบริการ ก็ให้บริการตามปกติ ยกเว้นหากทีมงานไปใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็จะให้ทั้งทีมหยุดและกักตัวเอง 10 วัน ตามมาตรฐานของงานความปลอดภัย ซึ่งโชคดีว่าในทีมวิจัยไม่มีใครเคยติดเชื้อ COVID-19

สำหรับส่วนของงานที่ไม่สามารถทำไม่ได้เลย คือ ส่วนของการรับจ้างวิจัย เพราะลูกค้าไม่ได้เปิดให้มีการเข้าพบหารือ และในส่วนของต้นแบบ (prototype) คือ เมื่อพัฒนาต้นแบบในห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ต้นแบบนั้นจะต้องถูกนำไปทำการทดสอบจริง ซึ่งทีมงานไม่สามารถทำได้ ทำให้งานรับจ้างวิจัยล่าช้าออกไป

เมื่อไม่สามารถทำงานรับจ้างวิจัยได้ ทีมงานจึงต้องหันไปทำงานอื่น ด้วยพื้นฐานห้องปฏิบัติการของทีมนั้นเน้นผลิตงานที่สามารถนำออกไปใช้ประโยชน์ ไม่ค่อยมีผลงานประเภทงานเขียนหรือการตีพิมพ์มากนัก ดังนั้นเมื่อไม่สามารถทำงานรับจ้างวิจัยได้ จึงนำงานที่เคยทำมาเขียนรายงานเชิงเทคนิคเพื่อเขียนเป็นต้นแบบ (prototype) เขียน manuscript เพื่อการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ รวมถึงการเขียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/ความลับทางการค้า ดังนั้น ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผลงานเขียนของห้องปฏิบัติการจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลงานของห้องปฏิบัติการไม่ได้ตกลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น

แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน รวมถึงการสร้าง successor

ต้องยอมรับว่าตัวผมเองจบปริญญาเอกมา 30 ปี เด็กที่จบมาใหม่เค้าเก่งกว่าผม ด้วยเทคโนโลยีที่เค้าถืออยู่ในมือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าที่ผมมีอยู่ ดังนั้น เรื่องวิชาการเราไม่ต้องเป็นห่วงเค้า เค้าเก่งอยู่แล้ว แต่เรื่องที่ถ่ายทอดเป็นเรื่องของ soft skill เกี่ยวกับการจัดการทีมวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานกับภาคเอกชน และการเจรจากับภาคเอกชน เพื่อให้ได้ข้อสรุปและเงินทุน

สิ่งหนึ่งที่ห้องปฏิบัติการเน้นมาก คือ การนำเสนอผลงาน เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งมากแค่ไหน แต่ถ้านำเสนอไม่เป็น ก็ไม่โดดเด่น โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานให้กับบริษัทเอกชน ถ้าการนำเสนอนั้น too informative และ too scientific (เป็นข้อมูลมากเกินไป และเป็นวิทยาศาสตร์มากเกินไป) อาจจะน่าเบื่อ เนื่องจากคนส่วนมากมีสมาธิในการฟังไม่นาน จึงต้องนำเสนอให้กระชับและชัดเว่าเขาจะได้อะไรจากเรา ซึ่งอาจจะแตกต่างจากการเสนอผลงานในเวทีวิชาการ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเก่งมาก แต่ขอให้นำเสนอผลงานให้เป็น ให้รู้ว่าตัวเองกำลังเสนอผลงานให้เอกชนฟัง หรืออยู่บนเวทีวิชาการ สวทช. ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้มากๆ สมัยที่ศึกษาในระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาเน้นเรื่อง presentation หรือ การนำเสนอมาก อาจารย์เข้ามาประกบนักศึกษาแบบตัวต่อตัวเพื่อแนะนำและช่วยแก้ไขไปทีละสไลด์ ผมมีประสบการณ์อย่างนี้มาบ้าง และสมัยเด็กพ่อกับแม่ก็ส่งผมไปเรียนที่ John Robert Powers (สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ จอห์น โรเบิร์ต เพาเวอร์ส) สถาบันนี้จะสอนเรื่องนี้เยอะมาก ผมมีโอกาสได้เห็นการนำเสนอโปสเตอร์จำนวนมากแล้วรู้สึกหงุดหงิด เพราะใส่ทุกอย่างที่ตัวเองทำมาลงไป จนบุคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจับจุดยากว่าความสำเร็จหรือผลของงานนี้จริงแล้วคืออะไร เอาไปใช้อะไรต่อได้ ซึ่งไปบดบังความเก่งของนักวิจัยไปมาก

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.

“ประทับใจทีมสนับสนุน ซึ่งเป็นทีมที่เข้มแข็งมาก ผมทำงานร่วมกับบริษัท มหาวิทยาลัย กรม กอง ต่างๆ หลายแห่ง สวทช. สุดยอดมากที่สุดในเรื่องของทีมสนับสนุน ด้วยทีมที่แข็งแกร่งนี้ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ได้งานมากขึ้น ลดภาระต่างๆ ที่เราไม่เชี่ยวชาญ อาทิ การเงิน เอกสารต่างๆ หรือแม้กระทั่งกฎและระเบียบบางอย่างที่เราไม่รู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้มีคนเข้ามาช่วยดูแลจัดการให้ ทำให้เรามีเวลาไปโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ได้มากขึ้น”

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณ

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ ต้องเริ่มเตรียมตัวมาตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือก่อนหน้า มาเตรียมตัวใกล้จะเกษียณไม่น่าจะทันแล้ว

การเตรียม คือ การเตรียมเงินให้เพียงพอกับการใช้จ่ายหลังเกษียณ มองว่าหลังเกษียณไม่ควรที่จะมีความเครียดใดๆ แล้ว ทำตัวให้มีความสุข ไม่ต้องวางแผนอะไร อยากไปไหนก็ไปได้เลย ไม่ต้องรออะไร อาจจะเพราะ happiness set point (กรอบหรือระดับของความสุข) ของผมค่อนข้างต่ำและสั้น ที่ว่าต่ำ คือ ผมสามารถมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบๆ ตัวได้ และที่ว่าสั้น คือ เวลา happiness level มันสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราถูกรางวัล happiness level ก็จะพุ่งสูงขึ้นไป แต่ผ่านไป 5-6 วัน happiness level ก็จะลดลงมาสู่ set point ที่จุดเดิม ส่วนตัวผมเวลาได้อะไรใหม่ เช่น รถยนต์คันใหม่ ก็จะมีความสุขมากขึ้น ผ่านไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็เป็นรถเก่าแล้ว เมื่อรู้ตัวก็ไม่ได้อยากได้อะไรพร่ำเพรื่อ เพราะรู้ว่าตัวเองเบื่อเร็ว ไม่พยายามดิ้นรนที่จะได้มา ชีวิตที่มีความสุขสำหรับผมนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ไม่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ และไม่หลอกตัวเอง คำว่าไม่หลอกตัวเอง คือ ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆ รอบตัวเรา รวมถึงตัวเราเองจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ

ภาพของ สวทช. ในอนาคต ที่คาดหวัง

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตของ สวทช. คือ น้องรุ่นใหม่เก่งมาก ดังนั้น มองเห็นว่าอนาคตของ สวทช. จะต้องดีขึ้นแน่นอน แต่น้องรุ่นใหม่อาจจะทำงานหนักกว่ารุ่นผม เพราะย้อนกลับไปช่วงที่ทำงานแรกๆ การทำงานของ สวทช. จะมีลักษณะเป็น forefront หรือเป็น frontier มาก หรือทำงานที่เป็น cutting age มากๆ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยเก่งขึ้นมาก เพราะฉะนั้น สวทช. ก็ต้องใส่ความพยายามเข้าไปมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านการรับจ้างวิจัย มหาวิทยาลัยมีอัตราค่าจ้างเพื่อทำงานวิจัยต่ำกว่า สวทช. เนื่องจากค่าตัวนักวิจัย ค่าบริหารโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยน้อยกว่า สวทช. เพราะฉะนั้น เมื่ออัตราค่าจ้างของ สวทช. สูง ผลงานที่ผลิตก็จะต้องดีกว่าด้วย

ผมเคยทำงานวิจัยกับบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ สวทช. ต้องการทำสัญญาเป็นภาษาไทย ทางบริษัทบอกว่าจะต้องส่งสัญญาไปให้บริษัทแม่อนุมัติ จะต้องทำสัญญาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เรื่องนี้ก็ตกลงกันอยู่นาน ด้วยในสมัยนั้นอาจจะเพิ่งเริ่มต้นเรื่องแบบนี้ จนต้องทำสัญญาเป็น 2 ภาษา ผู้ประสานงานถามผมว่าทำไมจะต้องจ้าง สวทช. จริงๆ ไปจ้างมหาวิทยาลัยราคาถูกกว่านี้และเร็วกว่านี้ ผมบอกให้ผู้ประสานงานไปถามเจ้านายว่าทำไมถึงเลือก สวทช. ก็เพราะเจ้านายคุณรู้ว่าเค้ากำลังเลือกของดี ดังนั้น เมื่อเราจะแพงกว่า เราก็จะต้องดีกว่า เราต้องมีความแตกต่าง ต้องส่งมอบผลงานที่ดีที่สุดให้กับเค้า