ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 ที่มีมติเห็น
ชอบในหลักการตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติให้เป็น
หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการและแผนการดำเนินการด้านนาโนเทคโนโลยี การ
จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงแผนพัฒนา
ศักยภาพของบุคลากร/นักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีและการสร้างผลลัพธ์ที่เสริมซึ่งกันและกัน (synergism)
โดยการประสานและร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง สำหรับการจัดสรรงบ
ประมาณดำเนินโครงการ ฯ ให้ สวทช. จัดทำแผนแม่บทด้านการพัฒนานาโนเทคโนโลยี ตามความเห็นของ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วยว่า ศูนย์นาโน
เทคโนโลยีแห่งชาติควรจะใช้รูปแบบการบริหารจัดการให้ยืดหยุ่นแบบธุรกิจเอกชนให้มากขึ้น และให้รัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรึกษากับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ถึงแนวทาง
ในการแสวงหาและรับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งจากในและต่างประเทศเข้ามาร่วมในการดำเนินงาน
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติต่อไป

โดยมติข้างต้นเป็นไปตามมติลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน
2545 เรื่อง นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) โดยมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประสานและร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมและเป็นไป
ได้ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร/นักวิชาการ เพื่อรองรับการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี
ซึ่งในขณะนี้ได้ทราบว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอเรื่อง การจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติผ่าน
คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 แล้ว จึงขอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเร่งรัด
การดำเนินการโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยในหลักการ หากมีความจำเป็นจะต้องเชิญหรือจ้างนักวิชา
การ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ในด้านนี้เข้ามามีส่วน
ร่วมในการดำเนินการและบริหารศูนย์ดังกล่าว ก็สมควรดำเนินการได้ ทั้งนี้ หากมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
ระเบียบ ข้อบังคับใด ให้หารือรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ก่อนการดำเนินการด้วย

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการดำเนินงานสนับสนุนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยมีภารกิจในการกำหนดแนวทางมาตรการ และแผนการดำเนินการด้านนาโนเทคโนโลยี จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยี และการสร้างผลลัพธ์ที่เสริมซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศ

วิสัยทัศน์

เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีชั้นนำที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศและมนุษยชาติ

กลยุทธ์ที่ 1 วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี
กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผลกระทบฯ โดยการใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี
กลยุทธ์ที่ 3 สร้างความเชื่อมั่นด้านนาโนเทคโนโลยีกับสาธารณชน
กลยุทธ์ที่ 4 ผลักดันและติดตามกรอบนโยบายการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (พ.ศ.2555-2564)
กลยุทธ์ที่ 5 บูรณาการความสัมพันธ์กับพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ
กลยุทธ์ที่ 6 พัฒนาบุคลากรและระบบบริหารจัดการภายในเชิงรุก

พันธกิจ

ดำเนินงานวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม และประยุกต์นาโนเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและสามารถถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ให้กับภาคการผลิต อันจะนำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นฐานสำคัญของประเทศไทย ส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพ การแข่งขันของประเทศไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้ความตระหนักในการรักษาและดูแลใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานเพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์และพันธกิจ ต้องอาศัยกลยุทธ์หลักในการดำเนินงานโดยแผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ได้กำหนดกลยุทธ์หลักในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์

นโยบายและการผลักดันทิศทางของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

National Importance
ทำงานในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทั้งในด้านสังคมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมรวมทั้งเป็นฐานและทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและสร้างนักนาโนเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

International Excellence
ดำเนินการวิจัย บริการ และสนับสนุนอย่างมีคุณภาพในระดับสากลโดยมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเทียบกันได้กับองค์กรชั้นเยี่ยมในระดับนานาชาติ

Global Visibility
ทำให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์รับรู้และได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

2546
จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนี้ เป็นผู้ศึกษาและดำเนินการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีเพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการ และแผนการดำเนินการด้านนาโนเทคโนโลยีระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวของประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาศักยภาพของบุคลากร นักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยี และการสร้างผลลัพธ์ที่เสริมซึ่งกันและกัน โดยการประสานและร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาได้เรียนเชิญ ศ.ดร.วิวัฒน์ ตันฑะพานิชกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิในการร่างแผนงานการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 13 สิงหาคม 2546

2547

  • ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิวัฒน์ ตันฑะพานิชกุล เป็น ผศน.คนแรก

เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้เชิญศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิวัฒน์ ตันฑะพานิชกุล ในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอนุภาคไทย และเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – 2551 นับว่าท่านเป็นผู้ริเริ่ม ผลักดันและวางรากฐานของ ศน.ให้เติบโตมาจนทุกวันนี้

 

  • จัดทำแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยีของประเทศ

ศน. ได้จัดทำแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ผ่านคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บท และคณะทำงาน 4 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุนาโน สาขาเทคโนโลยีชีวภาพนาโน สาขาอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาการศึกษาและพัฒนาบุคลากร โดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยทางด้านนาโนเทคโนโลยีให้พร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ และเพื่อสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในระยะยาว

2548

  • ย้ายที่ทำการมายังอาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

เนื่องจากช่วงแรกของการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ยังขาดความพร้อมในเรื่องสถานที่ทำงานและห้องปฏิบัติการ ต่อมา ได้รับการจัดสรรพื้นที่บางส่วนที่ชั้น 5 อาคารส่วนงานกลาง สวทช. เป็นพื้นที่สำนักงาน และเนื่องจากมีการเติบโตของ ศน. ทำให้สถานที่ไม่เพียงพอต่อการการดำเนินงาน จึงได้ย้ายสถานที่ทำงานมาที่ ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่อาคารโยธีและอาคารโรงงานต้นแบบ ห้อง 6 และ 7 ไบโอเทค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

  • จัดตั้งโครงการสร้างความตระหนักทางด้านนาโนเทคโนโลยี

เนื่องจากนาโนเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักและเผยแพร่ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีสู่สังคมและชุมชน จึงได้ริเริ่มพัฒนาบุคลากรตัวคูณ ภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาศักยภาพวิทยากรเครือข่ายทางด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นกลไกการต่อยอดและขยายองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันมีครู อาจารย์จากสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษาทั่วประเทศให้ความสนใจและเป็นสมาชิกเครือข่ายรวม 6 รุ่น จำนวน 165 คน โดยมีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรเครือข่ายฯ กว่า 200,000 คน

2549

  • จัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence) 8 แห่งทั่วประเทศ

การที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานหลักของการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุน สร้างความเชื่อมโยงและเร่งสร้างงานวิจัยให้กับประเทศ จากนโยบายนี้ จึงทำให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ แม้ว่าเพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน แต่มีจำนวนผลผลิต ทั้งบทความตีพิมพ์สิทธิบัตร ด้านวิจัยวิชาการทางด้านนาโนเทคโนโลยีจำนวนมาก และเป็นการสร้างกำลังคนด้านนาโนให้กับประเทศอีกด้วย

2550

  • คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ. 2550 – 2556

แผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ. 2550 – 2556 จัดทำโดยคณะกรรมการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี ศน. เป็นสำนักเลขานุการ จุดประสงค์คือ เพื่อกำหนดนโยบายของการพัฒนานาโนเทคโนโลยีให้สอดคล้องและสนองต่อนโยบายระดับชาติ โดยอาศัยการวิจัยเชิงนโยบาย รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มนักวิจัยเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และจัดทำระบบฐานข้อมูลเชิงบูรณาการ เพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป

  • เปิดตัวหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบอย่างเป็นทางการ

บทบาทในการวิเคราะห์ทดสอบด้านนาโนเทคโนโลยีนั้น นับวันจะมีความสำคัญต่อการแข่งขันในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากปัจจุบันมีการนำนาโนเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ดังนั้น ศน. จึงมีนโยบายที่นอกจากจะเป็นหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีแล้ว ยังมีบริการด้านเทคนิคในการวิเคราะห์ทดสอบตัวอย่างที่หลากหลายสำหรับภาคอุตสากรรม เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิเคราะห์ทดสอบและพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรม และมาตรวิทยาทางด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย

2551 ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
ประกาศนโยบายและผลักดันทิศทางของศูนย์

  • National Importance

ทำงานในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งเป็นฐานและทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และสร้างนักนาโนเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

  • International Excellence

ดำเนินการวิจัย บริการ และสนับสนุน อย่างมีคุณภาพในระดับสากล โดยมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเทียบกันได้กับองค์กรชั้นเยี่ยมในระดับนานาชาติ

  • Global Visibility

ทำให้ผลงาน เป็นที่ประจักษ์ รับรู้ และได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

สร้างความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันเพื่อการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยีจึงจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันทางงานวิจัยและพัฒนาได้ในเวทีโลก ศน. จึงมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชนทางด้านนาโนเทคโนโลยีระดับนานาชาติโลกหลายหน่วยงาน ได้แก่ สมาพันธรัฐสวิส ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เพื่อพัฒนางานวิจัย โดยสร้างความเข้มแข็งในระดับนานาชาติทางด้านนาโนเทคโนโลยีได้อย่างถูกทิศทางและทัดเทียมกับต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ หนึ่งในแนวทางการดำเนินงาน คือ การเสริมภาพลักษณ์ความเป็นสากล โดยการมีบทบาทสำคัญในสมาคมและเข้าร่วมงานนานาชาติที่สำคัญด้านนาโนเทคโนโลยี

2552

  • สร้างและวางแนวทางมาตรฐานผลิตภัณฑ์นาโน

ศน. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทดสอบวัสดุนาโน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทันต่อความต้องการและรองรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยี

 

  • จัดทำแผนที่นำทางงานวิจัยนาโนเทคโนโลยี (NANOTEC Technology Roadmap: TRM)

ศน. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Platform Technology) ดังนั้นจึงได้จัดทำ แผนที่นำทางงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีสำหรับปี พ.ศ.๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ เพื่อเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้อง/เชื่อมโยงของงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีที่ต้องดำเนินการในระดับต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพรวมขององค์กร และความต่อเนื่องของการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการวางแผน การจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร เป็นการสื่อสารให้เข้าใจและรับรู้ถึงทิศทางงานวิจัยและพัฒนาอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย

2553

  • สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

การจัดตั้งสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการจากองค์กรภาครัฐ ตลอดจนมหาวิทยาลัยให้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางประสานงานและให้บริการแก้ปัญหา/พัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงของภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมในวงการนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม และกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

  • การจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรนาโนเทคโนโลยีของประเทศ

การพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านนาโนเทคโนโลยี จัดทำเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ศน. จึงได้ร่วมกับฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานกลาง สวทช. จัดทำฐานข้อมูลบุคลากรด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สถานภาพ จำนวนบุคลากร สาขาความเชี่ยวชาญ รวมทั้งครุภัณฑ์วิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีทั้งในหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษา ผลการดำเนินงานนอกจากได้ฐานข้อมูลบุคลากรฯ แล้ว ยังก่อให้เกิดการสร้างประชาคมการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2554

  • ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (พ.ศ. 2555 – 2559)

ความสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ คือ เพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ควบคุมกำกับดูแล เฝ้าระวัง และบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและจริยธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้และพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย ต่อมาคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555

  • การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจการทางด้านนาโนเทคโนโลยี

ศน. มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่องการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภท 2.19 กิจการ การผลิตวัสดุนาโนหรือการผลิตผลิตภัณฑ์จากวัสดุนาโนที่ผลิตเอง (Manufactured Nanomaterials) ตามเงื่อนไข โดยให้ ศน. เป็นผู้พิจารณาและให้การรับรองในกิจการดังกล่าวนับเป็นบทบาทหนึ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี

2555

  • คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อกรอบนโยบายการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (พ.ศ. 2555 – 2564)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ ศน. ได้ร่วมกันจัดทำ กรอบนโยบายฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยในระยะ 10 ปี โดยคณะกรรมการกำกับการจัดทำกรอบนโยบายนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนในการให้ความเห็น คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดตามกรอบนโยบายฯ อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการศึกษาและการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียน

  • เป็นองค์กรด้านนาโนเทคโนโลยีแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานสากลถึงสามมาตรฐาน

ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ระดับนาโน ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001 : 2008 และการรับรองด้านระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือ มอก. 18001-2542 นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. 17025-2548 (ISO/ IEC 17025:2005) ในขอบข่ายการวิเคราะห์ทดสอบการวัดขนาดอนุภาคที่มีขนาดระดับนาโนเมตร และการทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งแบคทีเรียบนพื้นผิวพลาสติกและวัสดุผิวเรียบ ถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่ได้รับการรับรองถึงสามมาตรฐานสำคัญในเชิงคุณภาพที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ระดับนาโนที่ได้มาตรฐาน

 

  • จัดตั้งโครงการศูนย์ร่วมวิจัยเครือข่ายพันธมิตรความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี

ศน. สนับสนุนให้เกิดศูนย์ร่วมวิจัยเครือข่ายที่มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง โดยร่วมกับ 8 สถาบันการศึกษาซึ่งมีศักยภาพการวิจัยและการผลิตบุคลากร เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่มีหัวข้อสอดคล้องกับแผนที่นำทางด้านนาโนเทคโนโลยีและตอบสนองต่อกรอบนโยบายการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (พ.ศ. 2555 – 2564) และผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยได้อย่างแท้จริง

2556

  • มีส่วนร่วมในแผนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy)

โดย ศน. ได้เข้าร่วมจัดทำแผนงานแผนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำแผนงานตาม value chain ในระดับประเทศทั้งหมด 47 เรื่อง โดย ศน. ได้เข้าร่วมและเป็นกำลังหลักจำนวน 5 แผนงาน คือ การเพิ่มมูลค่าสิ่งทอโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง, ศูนย์ปฏิบัติการถ่ายทอดนาโนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน, นวัตกรรมการผลิตยา สารชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ สมุนไพรและอาหารเสริมจากงานวิจัยของประเทศไทย, ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง นอกจากนี้ ยังอยู่ในแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านการพัฒนาความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางนาโนเทคโนโลยีอีกด้วย