2 ทีมวิจัยนาโนเทค คว้าเหรียญรางวัลในงาน 11th International Warsaw Invention Show (IWIS 2017)

2 ทีมวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. คว้าเหรียญรางวัลในการประกวดผลงานนวัตกรรมในงาน 11th International Warsaw Invention Show (IWIS 2017) ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2560 ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์

ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร และ น.สพ.กิตติ ทรัพย์ชูกุล บริษัท คลีน กรีนเทค เจ้าของผลงานวิจัยไข่ออกแบบได้ (Designer8) และผลงาน SEDDS ระบบการนำส่งสารที่แตกตัวได้เอง (Self Emulsifier Drug Delivery System) ได้รับ 3 เหรียญรางวัล ได้แก่ เหรียญทองเกียรติยศ (Gold with Intension) และรางวัล Special Award จากประเทศโรมาเนีย รวม 2 รางวัล จากผลงานวิจัยไข่ออกแบบได้ และรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) อีก 1 รางวัล จากผลงาน SEDDS โดยทั้งสองผลงานเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่าง ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร หน่วยวิจัยเกษตรนาโนและสิ่งแวดล้อม และบริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยห้องปฏิบัติการระบบนำส่ง หน่วยวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสุขภาพ และทีมวิจัยผู้ร่วมประดิษฐ์ผลงาน ได้รับ 2 เหรียญรางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง (Golden Prize) 1 รางวัล และเหรียญเกียรติยศ (Special Prize) จากประเทศซาอุดิอาระเบีย 1 รางวัล จากผลงานนวัตกรรมการนำส่งยาต้านจุลชีพทิลมิโคซินด้วยพาหะนำส่งระดับนาโนผ่านระบบทางเดินอาหารประสิทธิภาพสูงตรงเป้าหมาย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ตอบโจทย์ในลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ที่อาจนำไปสู่การก่อเชื้อโรคดื้อยาในอนาคต (Tilmicosin Nanoparticle: Innovative Strategy for the Oral Delivery of Tilmicosin Antimicrobial Agent using Nanoscale Carrier) โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนา Vet Products Research and Innovation Center (VRI) เครือเวทโปรดักส์

การเดินทางเข้าร่วมงาน 11th International Warsaw Invention Show 2017 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีระดับนานาชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์ไทยได้นำผลงานที่ได้คิดค้นไปร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีนานาชาติ พร้อมทั้งมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับองค์กรอื่นๆ เพื่อการพัฒนาหรือขยายผลงานวิจัยให้ไปสู่ระดับสากล โดยผลงานที่ร่วมเข้าประกวดนี้จะต้องเป็นผลงานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถใช้ได้จริง และมีหลักการออกแบบที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ซึ่งภายในงาน IWIS 2017 ที่ผ่านมา มีนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากนานาประเทศที่เข้าร่วมการนำเสนอผลงานจำนวน 32 ประเทศและมีจำนวนมากกว่า 400 ผลงานด้วยกัน