นักวิจัยเนคเทคพา “MuEye” คว้ารางวัลผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่ 62 ประเภทนวัตกรรมดีเยี่ยม

วันที่ 22 มิถุนายน 2562 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. โดย ดร.อัชฌา กอบวิทยา ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PHT) รับโล่รางวัล “ผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่” ประจำปี 2562 ประเภทนวัตกรรมดีเยี่ยม (The Best Innovation) ผลงานวิจัย MuEye : กระบวนการผลิตเลนส์โดยอาศัยแรงตึงผิวที่ชั้นรอยต่อของเหลว โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธี ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2562 (DPST Student Conference on Science and Technology 2019: DPSTcon2019) ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ ดร. ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ เป็นตัวแทนในนามผู้บริหาร และพนักงานเนคเทค มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ ดร.อัชฌาฯ ที่ได้รับโล่รางวัลผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 ในครั้งนี้อีกด้วย

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 ประเภทนวัตกรรมดีเยี่ยมนั้น จะพิจารณาจาก

  1. จำนวนผลงานที่จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรมากที่สุด โดยตัดสินจากจำนวนสิทธิบัตรเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะพิจารณาจำนวนอนุสิทธิบัตร
  2. ผลงานสิทธิบัตรที่ส่งเข้ารับการคัดเลือกจะต้องได้รับการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถตรวจสอบเลขที่สิทธิบัตรกับฐานข้อมูลได้
  3. กรณีมีผู้สมัครที่มีจำนวนสิทธิบัตร และจำนวนอนุสิทธิบัตรเท่ากัน คณะกรรมการจะตัดสินให้รางวัลโดยคัดเลือกจากผลงานที่ถูกกล่าวถึงและส่งผลกระทบต่อสังคมวิทยาศาสตร์หรือประเทศชาติในวงกว้างมากที่สุด

ในโอกาสนี้ เนคเทคขอร่วมแสดงความยินดีกับ ดร.ธีระ บุตรบุรี นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ที่รับโล่รางวัล “ผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่” ประจำปี 2562 ประเภทผลงานตีพิมพ์คุณภาพดีเยี่ยม (กลุ่มที่ 3) มา ณ ที่นี้

พิธีมอบโล่รางวัลผลงานวิจัย พสวท. รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 จัดโดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2562 (DPST Student Conference on Science and Technology 2019: DPSTcon2019) ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และนักวิชาการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการวิจัย ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้และกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี