บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล

บทสัมภาษณ์ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ  สวทช. สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล
  • ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แนะนำตัวเอง

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล เข้ามาทำงานที่ สวทช. ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2535 รวมเวลาทำงานที่ สวทช. 30 ปี ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน คือ รองผู้อำนวยการ สวทช. ดูแลสายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความรู้และความสามารถที่สำคัญในงาน เทคนิควิธีในการทำงาน และคติประจำใจในการทำงาน

“ความรู้และความสามารถที่สำคัญในงานจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของบทบาท หน้าที่ และ
ความรับผิดชอบที่มี ณ ขณะนั้นๆ  แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่ามีความสำคัญ คือ การต้องหมั่นเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
อยู่เสมอ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในบทบาทที่รับผิดชอบ ภายใต้บริบทและสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้น”

ย้อนกลับไปในสมัยเข้ามาทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) สวทช. ตนเองไม่ได้
เรียนจบมาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์หรือด้านคอมพิวเตอร์ การเข้ามาทำงานในสมัยนั้นได้รับมอบหมายให้ทำในส่วนงาน
ของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งงานด้านนโยบายและแผน และต้องมี
การประสานงานกับหน่วยงานจำนวนมาก ได้ใช้ความรู้และความสามารถที่เรียนมาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและ
การวิเคราะห์นโยบาย แต่ในส่วนเนื้อหาที่ทำในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เรื่องเหล่านี้ก็ต้องมาเรียนรู้ ทั้งจากผู้บังคับบัญชา ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ การอ่านหนังสือ และการซักถามผู้รู้ เพื่อให้สามารถทำงานที่ได้
รับมอบหมายในขณะนั้นได้

ปัจจุบันทำงานในด้านการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จะต้องมีการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จะมีขอบเขตกว้างขวางกว่าด้านไอทีที่
เคยทำมา สิ่งที่จะต้องรู้ในการทำงาน ณ ปัจจุบัน ก็จะต่างไปจากความรู้ความสามารถที่ต้องการสำหรับการทำงานใน
ความรับผิดชอบเดิม เราก็ต้องมีการพัฒนาตนเอง และการหมั่นเรียนรู้ เพื่อที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมาย และที่รับผิดชอบ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

ความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในโหมดของการทำงานจะแตกต่างกับตอนที่เรียนหนังสือ คือ ตอนที่เรียนหนังสือหากไม่ตั้งใจเรียน ก็อาจจะทำให้สอบตก ทำให้คุณพ่อและคุณแม่เสียใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตกอยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในโหมดของการทำงาน ถ้าเราขาดความรับผิดชอบ ผลกระทบที่เกิดจะไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวเรา เพราะสิ่งที่เรารับผิดชอบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่องค์กรรับผิดชอบ หรือเป็นสิ่งที่ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาของเรารับผิดชอบ เพราะฉะนั้น หากเราไม่มีความรับผิดชอบในสิ่งที่เราต้องมีตามบทบาทหน้าที่ อาจจะมีผลเสีย โดยผลเสียที่เกิด ไม่ใช่จะเกิดแค่เฉพาะกับตัวเรา แต่จะไปถึงสายงาน สายบังคับบัญชา และอาจจะไปถึงองค์กรของเราด้วย

“คติในการทำงาน คือ การมุ่งมั่นตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถจะทำได้ จะ take it seriously กับทุกงานที่ได้รับมอบหมายว่าอยากจะทำให้ดีที่สุด เพื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป แล้วหันกลับไปดูสิ่งที่เคยทำมา จะได้ไม่เกิดความรู้สึกเสียดายว่า เราน่าจะทำสิ่งนั้นได้ดีกว่านี้ หรือ น่าจะตั้งใจได้มากกว่านี้ เพราะตอนนั้นที่ทำ คือได้ทำเต็มที่แล้วจริงๆ”

การทำงานในบทบาทที่มีทีมงาน มีผู้ใต้บังคับบัญชา หรือมีลูกน้อง สิ่งหนึ่งที่เป็นความท้าทาย คือ การทำอย่างไรที่จะให้ผลงานของแต่ละบุคคลสามารถกลายมาเป็นผลงานของทีม ที่สามารถตอบโจทย์ หรือ ตอบสิ่งที่เราได้รับมอบหมายได้
ซึ่งการทำงานเป็นทีม (teamwork) สำคัญมาก และเป็นหนึ่งในค่านิยมของ สวทช.

ตัวอย่างผลงานที่รู้สึกภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

ผลงานที่ภาคภูมิใจขึ้นอยู่กับ ณ เวลานั้นๆ ว่าได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไร ยกตัวอย่าง เช่น

ในช่วง 3-5 ปีแรกของการทำงาน (พ.ศ. 2535-2540)  งานที่ได้รับมอบหมายเมื่อเข้ามาทำงานที่ สวทช. คืออยู่ที่ ศอ. ทำงานเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ งานที่จะต้องผลักดัน คือ ทำให้เกิดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องแรกที่ทำสำเร็จในตอนนั้น คือ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนา โดยให้หน่วยงานที่มีการทำวิจัย สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 150% เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนและภาคธุรกิจหันมาทำการวิจัยมากขึ้น การทำงานเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่การศึกษาประเด็นและการเตรียมเรื่องที่จะเสนอ ครม. การทำงานนี้ได้รับคำแนะนำที่ดีมากๆ จาก ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ซึ่งท่านเป็นเลขานุการของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อธิบดีกรมสรรพากร (พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2538) ขณะนั้น ท่านเป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยท่านให้การสนับสนุนและผลักดันให้เต็มที่ จากการดำเนินงานนี้ เมื่อทราบว่าเรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก็รู้สึกดีใจมาก [ยิ้ม] ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นแรกที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปฏิบัติงานและช่วยกันทำได้จนสำเร็จ

พ.ศ. 2538-2539 มีส่วนร่วมรับผิดชอบและขับเคลื่อนให้เกิดการจัดทำนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยฉบับแรก (IT2000) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. และเกิดนโยบาย แผน และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาหลังจากนั้น เช่น การกำหนดเกณฑ์ความรู้ขั้นต่ำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับข้าราชการ การสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ประชาชนในวงกว้างผ่านวาระระดับชาติ “ปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (Thailand IT Year)” ในปี พ.ศ. 2538 เป็นต้น

การรับผิดชอบบริหาร เรื่องการดูแลด้านการพัฒนากำลังคน เป็นช่วงที่เกิดการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนงานที่ดูแลด้านการอุดมศึกษา) และหน่วยงานสนับสนุนทุน เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน และมีนโยบายที่ต้องการเห็นสถาบันวิจัยอย่าง สวทช. ทำงานใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น  ในการทำงานก็พยายามที่จะให้เกิดความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาบุคลากรวิจัย โดยมีการ “ลงทุน” ร่วมกันในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกและปริญญาโทที่เน้นความสามารถด้านการวิจัย ทั้งทุนการศึกษาที่สนับสนุนนักศึกษา และทุนความรู้และระบบสนับสนุนนักศึกษาของทั้ง สวทช. และมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาจะได้รับการดูแลบ่มเพาะความความสามารถจากทั้งนักวิจัย สวทช. และอาจารย์มหาวิทยาลัย ในรูปแบบของอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม เครื่องมือ และห้องปฏิบัติการวิจัยในการทำวิทยานิพนธ์ ในโจทย์วิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัย สวทช. และอาจารย์มหาวิทยาลัย

ผลที่ได้รับจากการดำเนินงานนี้ คือ สวทช. ได้นักศึกษาเข้ามาทำงานวิจัยกับนักวิจัยของ สวทช. ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย นักวิจัยของ สวทช. ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยให้เป็นอาจารย์พิเศษหรืออาจารย์ประจำหลักสูตร และมีโอกาสขอตำแหน่งวิชาการในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยซึ่งมีภารกิจในการผลิตบัณฑิต ก็มีผู้เรียนเข้ามาศึกษาและจบการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และคาดหวังว่า บัณฑิตที่จบออกไปจะเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพและศักยภาพสูง เนื่องจากได้รับการดูแลบ่มเพาะความสามารถจากทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยของ สวทช.  มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ในการทำงานนี้กับมหาวิทยาลัยจำนวน 8 มหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าดำเนินการครบเวลาตาม MOU ที่มีทั้งหมด จะสามารถผลิตบัณฺฑิตระดับปริญญาเอกและปริญญาโท รวมกันได้ประมาณกว่า 400 คน  การทำงานเรื่องนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ

การเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้ามาฝึกทำวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยกับนักวิจัยของ สวทช. ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน กิจกรรมนี้ทำให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “อาชีพนักวิจัย” และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสนใจในอาชีพนี้ ผ่านการร่วมทำงานวิจัยและได้รับการบ่มเพาะความสามารถ ทัศนคติ และการใช้ชีวิตการทำงาน จากนักวิจัยของ สวทช.
ที่เป็น “นักวิจัยพี่เลี้ยง”  เราดำเนินกิจกรรมนี้มาจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5  โดยเด็กหลายคนก่อนเข้าร่วมกิจกรรมนี้บอกว่าเขาไม่รู้ว่าอาชีพนักวิจัยเป็นอย่างไร วันๆ นักวิจัยทำอะไร ไม่คิดว่านักวิจัยเป็นอาชีพ และไม่คิดจะทำอาชีพนักวิจัยเมื่อจบการศึกษา
แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม มีเด็กหลายคนที่บอกเราว่า สนใจอยากจะเป็นนักวิจัย อยากไปเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และอยากเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาที่นักวิจัยพี่เลี้ยงเรียนจบมา หลายคนเมื่อเราไปติดตามดู ก็ได้เดินในเส้นทางนั้น จุดนี้เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจว่าได้มีโอกาสทำให้เด็กไทยจำนวนหนึ่งได้มีมุมมองและทัศนคติที่ดีต่ออาชีพนักวิจัย และตั้งใจจะเดินในเส้นทางอาชีพนี้ในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของภารกิจด้านการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศตร์และเทคโนโลยีของ สวทช.

“แต่ละช่วงเวลามีผลงานที่ทำแล้วรู้สึกดีและภาคภูมิใจแตกต่างกันออกไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจมากที่สุด และเป็นสิ่งเรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่ได้รับจากการทำงานที่ดีที่สุด คือ การได้มีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539  ซึ่ง สวทช. มีส่วนสนับสนุนงานโครงการพระราชดำริฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ

การทำงานในส่วนนี้ได้เรียนรู้หลายอย่างและภาคภูมิใจในผลงานที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์ท่านในการสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กในชนบท ผู้พิการ เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ผู้ต้องขัง  ให้มีโอกาส ทั้งโอกาสในการเรียนและโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการที่มีความรู้และทักษะ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประกอบอาชีพ เช่น ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปสามารถนำความรู้ที่ได้รับในระหว่างต้องโทษไปประกอบสัมมาชีพได้ ลดการกระผิดซ้ำ”

ปัจจัยความสำเร็จของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา ต้องยอมรับว่าความสำเร็จที่กล่าวมานั้นหากทำงานเพียงคนเดียว
จะไม่สามารถสำเร็จได้เลย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานเป็นทีม เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และการสนับสนุนต่างๆ ที่ได้รับจากองค์กร ซึ่งไม่สามารถจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้เลย

ความท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีการจัดการ

ความท้าทายส่วนหนึ่งมาจาก content ที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในงาน ณ ขณะหนึ่ง บางครั้งได้รับมอบหมายงานมาก็ไม่ใช่ว่าจะมีความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ มาก่อน [ยิ้ม] สิ่งนี้ก็เป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จ ถ้าเป็นส่วนของ content จะพยายามแสวงหาความรู้จากหลายๆ ช่องทาง

สิ่งหนึ่งที่ถือว่าโชคดี คือ ทำงานอยู่ใน สวทช. ซึ่งมีคนเก่งจำนวนมาก เราอยู่ท่ามกลางคนเก่ง สามารถ
ขอคำปรึกษา และขอความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ จากอดีตผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในเรื่องนั้นๆ ได้มากมาย เช่น ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รวมถึงนักวิจัยจากศูนย์ต่างๆ  ข้อสำคัญ คือ มีอะไรที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจต้องถาม หรือต้องไปแสวงหาความรู้  อย่าทำงานไปโดยไม่รู้แล้วไม่ถามผู้รู้หรือไม่ทำการบ้าน เพื่อให้เรามีความรู้เพียงพอ

เมื่อมาทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร  มีผู้ใต้บังคับบัญชาและน้องๆ ในความดูแล ความท้าทาย คือ เรื่องของการบริหารจัดการทีม เพราะทีมประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก แต่ละคนมีที่มาและความคาดหวังแตกต่างกัน ทำอย่างไรที่จะสามารถบริหารจัดการเพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ และผลิตผลงานออกมาเป็นผลงานของทีมที่มากกว่าของแต่ละคนทำ คือ 1 + 1 ต้องได้มากกว่า 2 โดยตนเองพยายามเรียนรู้การบริหารจัดการจากคนอื่นที่ประสบความสำเร็จ ทั้งจากการอ่าน การฟัง และจากการพูดคุย ดูว่าเขามีเทคนิคอะไร และมีวิธีการบริหารจัดการทีมอย่างไร

แนวทางการบริหารจัดการและการดำเนินงานวิจัยในช่วงสถานการณ์ COVID-19

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสายงานที่รับผิดชอบ ส่วนหนึ่ง คือ กิจกรรมค่ายนักเรียน ซึ่งปกติมาใช้พื้นที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อจัดค่าย ก็ต้องยกเลิกไป ไม่สามารถดำเนินการได้ช่วงหนึ่ง ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่และเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ต้องบริหารจัดการให้ยังคงสามารถส่งมอบผลงานได้ เพราะทีมงานมี KPI (Key Performance Indicator) เรื่องการสร้างขีดความสามารถ (capacity building) คือ การพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือครู และ เรื่องการหารายได้

ประเด็นนี้ มีการปรับแผนการดำเนินงาน เช่น การอบรมและการสร้างขีดความสามารถ จากเดิมซึ่งจัดแบบให้ผู้รับการอบรมเข้ามาทำกิจกรรมที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (onsite) ก็ปรับเป็นการอบรมในรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้ มีการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา เรียกว่า Fun Science @Home เป็นกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทดลอง (experiment) ที่ใช้อุปกรณ์และวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย เด็กๆ สามารถเข้าร่วมผ่าน Facebook  และเราพยายามสื่อสารและประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปยังผู้ปกครอง โชคดีว่าเด็กๆ ยังไม่ได้ไปโรงเรียนแบบปกติ ผู้ปกครองก็มองหากิจกรรมให้ลูกๆ ทำ จึงมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งมาใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์นี้จนเกิดเป็นชุมชน (community) เล็กๆ ในปัจจุบันเองก็ยังมีการติดต่อ พูดคุย และสอบถามกันว่าจะมีการจัดกิจกรรมอะไรบ้าง จะจัดเมื่อไหร่ จะลงทะเบียนอย่างไร จะเข้ามาที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรได้หรือยัง เป็นต้น จากตรงนี้ก็มีรายได้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ปกครองลงทะเบียนให้กับบุตรหลานเพื่อที่จะเข้ามาเรียนกับเรา

สำหรับโปรแกรมการทำงานที่ทำให้กับระดับสูงที่ไม่ใช่เด็ก กิจกรรมที่นำนักศึกษาที่รับทุนจาก สวทช. เข้ามาทำวิจัยกับนักวิจัยของ สวทช. กิจกรรมนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแผน ทีมงานต้องประสานงานกับนักวิจัยว่าสามารถให้นักศึกษาปรับรูปแบบการทำงานและการทำวิจัยได้บ้างหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีผลต่อการจบการศึกษาของนักศึกษามากนัก เพราะนักศึกษาที่รับทุนจะมีช่วงเวลากำหนดชัดเจน เช่น ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับทุน 2 ปี หรือ ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ได้รับทุน 3 ปี

ภาพรวมของสายงานยังถือว่าโชคดีที่ไม่ได้เป็น wet lab (ห้องปฏิบัติการเปียกหรือห้องปฏิบัติการทดลอง ซึ่งนักวิจัยจะต้องเข้ามาทำการทดลองและวิจัยที่ห้องปฏิบัติการ) ถ้าเป็น wet lab แล้วต้อง lock down ไม่สามารถเข้ามาทำวิจัยในพื้นที่ได้ จะมีผลกระทบต่องานโดยตรง แต่ในส่วนงานที่ตนเองรับผิดชอบมีส่วนที่สามารถจะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเปลี่ยนกิจกรรมให้เป็นแบบออนไลน์ หรือ ไฮบริด ที่ยังคงเป็นไปตามนโยบายภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระระบาดของ COVID-19  จึงยังสามารถส่งมอบผลงานตามตัวชี้วัดได้เป็นส่วนใหญ่ และบางตัวชี้วัดได้ผลงานเชิงปริมาณมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น จำนวนคนที่เข้าร่วมอบรม เพราะการอบรม online ในหลายกรณีสามารถรองรับจำนวนคนเข้าร่วมได้มากกว่าอบรมแบบ onsite

แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน รวมถึงการสร้าง successor

การทำให้เป็นตัวอย่าง ในหลายครั้งที่มีการตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม จะพยายามอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมถึงได้ตัดสินใจเช่นนี้ สำหรับคำถามหรือในสถานการณ์เช่นนี้ โดยอาจแลกเปลี่ยนในการประชุมสายงาน หรือการประชุมร่วมกับแต่ละทีม แต่ละฝ่าย เป็นต้น

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการพยายามทำให้มีระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM)
ในสายงานที่รับผิดชอบ
งานสำคัญๆ หากคนที่รับผิดชอบไม่อยู่ อย่างน้อยคนอื่นจะต้องสามารถตอบคำถามเบื้องต้นได้ พยายามสร้างให้มีระบบนี้ขึ้น เริ่มตั้งแต่งานที่ตัวเองรับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้รับผิดชอบงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการ BCG ด้านการพัฒนาคน/บุคลากร  ก็ได้พยายามนำข้อมูลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการที่ผ่านมาทั้งหมดขึ้นไว้ใน Wiki ซึ่งเป็นระบบ KM ที่ใช้  สามารถสืบค้นได้ ทั้งในส่วนที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมคณะอนุกรรมการ และข้อมูลการทำการบ้าน หรือการศึกษา การเตรียมประเด็นต่างๆ สำหรับหารือในคณะอนุกรรมการ เมื่อมีใครมารับผิดชอบงานต่อก็สามารถเข้ามาดูงานที่ผ่านมา และดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง  ในสายงานที่กำกับดูแล ทุกฝ่ายจะมีระบบ KM ของฝ่ายสำหรับบันทึกข้อมูลงานหรือโครงการสำคัญๆ ที่เวลามีการเปลี่ยนคนทำงาน คนใหม่สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้การทำงานที่ผ่านมาได้

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.

“ประทับใจมาก สวทช. เป็นแหล่งรวมคนเก่ง ไม่ว่าจะติดเรื่องใดในมุมของ content ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะสามารถหาความรู้ได้เสมอจากผู้รู้ใน สวทช.

สวทช. เป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนมาก ที่จะทำในสิ่งที่อยากทำ หรืออยาก explore อะไรที่ไม่ทำให้องค์กรเสียหายสวทช. ก็จะมี room (ช่องทาง) ให้คนนั้นสามารถทำในสิ่งที่อยากจะทำได้เสมอ สวทช. ไม่เคยปิดโอกาสพนักงาน
จะ explore เพราะด้วยความเป็นนักวิจัยจะต้องมี curiosity (ความอยากรู้) และ creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ถ้าองค์กรไม่มีช่องทางให้นักวิจัยสามารถจะ exercise หรือ explore สิ่งที่เป็น curiosity และ creativity อาจจะ
ไม่เป็นผลดีในเชิงของการพัฒนางานวิจัย

สวทช. เป็นองค์กรที่ยืดหยุ่นและให้โอกาส กฎและระเบียบ ไม่ได้บีบรัดหรือตีกรอบ (rigid) จนขยับไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคภูมิใจในองค์กร”

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณ

การเตรียมตัวด้านการเงินให้แน่ใจว่าเราจะสามารถอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน และจะไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น ดูซีรีส์ ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ และฟังเพลง [ยิ้ม]

ภาพของ สวทช. ในอนาคต ที่คาดหวัง

อยากเห็นว่า สวทช. สามารถเป็นที่พึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ เพราะโดยชื่อของ สวทช. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ความเป็นแห่งชาติอยากเห็นว่าเวลาที่ประเทศมีโจทย์ซึ่งมีความท้าทาย
ที่ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะนึกถึง สวทช. เป็นอันดับแรก แม้กระทั่งบริษัทและภาคธุรกิจเมื่อมีปัญหา อยากจะได้เทคโนโลยีอะไร คิดถึง สวทช. เป็นแห่งแรก

เด็กที่จบทางด้านสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งสายอื่นที่สามารถทำงานอยู่ในขอบเขตงานของ สวทช. ได้ อยากให้เด็กมอง สวทช. เป็น Top employer of choice ที่คิดถึงเมื่อมองหางาน ถ้าไม่เป็น Top ก็เป็น 1 ใน Top 5 ขององค์กรที่เด็กอยากจะมาทำงานด้วยเมื่อเรียนจบแล้ว

ฝันอยากจะเห็น สวทช. เติบโตขึ้นอีก เหมือนกับที่เห็นสถาบันวิจัยแห่งชาติของหลายๆ ประเทศที่มีคนหลายหมื่นคน อยากเห็น สวทช. เป็นที่พึ่งให้รัฐบาล และเป็นที่พึ่งให้กับทุกภาคส่วน

ในภาคส่วนที่เกี่ยวกับด้านธุรกิจ ส่วนหนึ่งอยากเห็นว่าในอนาคตมี spin-off จาก สวทช. ในรูปของ NSTDA startup หรือ บริษัทร่วมทุนอื่นๆ ที่ออกจาก สวทช. แล้วประสบความสำเร็จ มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Top ของตลาดในเรื่องนั้น และพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่ spin-off ออกจาก สวทช. เหมือนกับที่เห็นในต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทที่ spin-off จากสถาบันวิจัย โดยนักวิจัยและเทคโนโลยีที่คิดค้นและพัฒนาจากสถาบันวิจัย ที่ออกไปประสบความสำเร็จและเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้