บุคลากร สวทช. ที่เกษียณอายุงาน (2567) : นายบุญศักดิ์ ตั้งคำเจริญ

บทสัมภาษณ์นายบุญศักดิ์ ตั้งคำเจริญ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อายุงาน 31 ปี

คุณบุญศักดิ์เล่าให้ฟังว่า เริ่มงานครั้งแรกกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2537 งานประชาสัมพันธ์และมัลติมีเดีย ดูแลการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ตั้งอยู่ที่ อาคารมหานครยิบซั่ม บริเวณศูนย์อบรมเนคเทค ต่อมาราวปี พ.ศ. 2548 พี่ป้อม (คุณลัญจนา นิตยพัฒน์) ผู้บังคับบัญชาคนแรก เสนอโอกาสเติบโต โดยขยายงานด้านผลิตสื่อวิดีโอขึ้น ชื่อหน่วยงาน “งานผลิตสื่อประสม” จึงมีโอกาสปรับตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ย้ายไปร่วมงานกับทีมวิจัย ชื่อหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาสื่อดิจิทัล ระยะหนึ่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 ขอย้ายมาสังกัดส่วนงานกลาง มาอยู่กับ ดร.หมอน (ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน) หน่วยงานสื่อยุคใหม่ ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดทำโครงการ NSTDA Channel ด้วยความตั้งใจอยากจะทำสถานีโทรทัศน์ของ สวทช.

ความประทับใจจากการทำงาน

สำหรับเหตุการณ์ประทับใจในการทำงานที่เกิดกับตนเองโดยตรง คือการมีโอกาสเป็นผู้นำเสนอแผนจัดตั้งหน่วยงาน NSTDA Channel กับท่านอาจารย์ทวีศักดิ์ (ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล) ผพว.ในขณะนั้น โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก ดร.หมอน (ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน) ผอ.ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ ที่ร่วมนำเสนอแผนจนสำเร็จนำมาสู่การก่อตั้งหน่วยงาน NSTDA Channel และอยู่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นความภูมิใจที่ไม่มีวันลืม

ส่วนประสบการณ์ที่ถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจในชีวิตการทำงาน คือ มีโอกาสเป็นหัวหน้าทีมช่างภาพตามเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในกิจกรรมสำคัญของ สวทช. หลายต่อหลายครั้ง เช่น งานประชุมวิชาการประจำปีของ สวทช. (NAC) งานมหาวิทยาลัยเด็ก งาน i-CREATe และมีโอกาสร่วมถ่ายภาพหมู่กับพระองค์ท่านในงานพิธีเปิด EECi เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ถือเป็นความโชคดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงาน

ทักษะความรู้ที่สำคัญในงานที่รับผิดชอบ

ตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหาร ต้องมีทักษะบริหาร 3 ด้าน คือ งาน เงิน คน ซึ่งการบริหารคนเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดและยากที่สุด การจะ “เก่งคน” ต้องเข้าใจ และเข้าไปอยู่ในใจทีมงานให้ได้ ต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ รวมถึงการสรรหาคนเก่งมาร่วมงาน พัฒนาทักษะทีมงานที่มี ค้นหาจุดเด่นของลูกทีมให้เจอ

ด้านแผนงาน หากเป็นงานใหม่ ควรมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา แนะแนวทาง ก่อนระดมสมองทีมงานจัดทำแผนงานร่วมกัน รู้จักวางแผนระยะ สั้น กลาง ยาว และทำให้ได้ตามแผน มีการติดตามและรายงานผลปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ

ความรู้ ความเข้าใจในภาพรวมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เราควรติดตามข่าวสารองค์กร เช่น กลยุทธ์และนโยบาย รู้ทิศทางขององค์กร ติดตามการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การปรับโครงสร้าง การแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ๆ เป็นต้น ที่สำคัญต้องรู้จักผลงานวิจัยสำคัญ เพราะงานวิจัยเป็น Core หลักขององค์กร ขณะเดียวกันหมั่นติดตามข่าวสารและสถานการณ์โลกที่อาจส่งผลกระทบ ติดตามความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ โดยเฉพาะด้านสื่อ AI ที่กำลังมาแรง

อุปสรรคปัญหา

อุปสรรคปัญหาในการทำงานที่พบบ่อย หนีไม่พ้นเรื่อง “คนไม่พอ งบน้อย งานมากขึ้น” ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนทำงานทุกคนต้องเจอ ความสมดุลระหว่างทรัพยากรและปริมาณงานไม่มีวันลงตัว เป็นหน้าที่ของผู้บริหารหน่วยงานโดยตรง ที่จะรับรู้และร่วมแก้ไขไปกับผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงกว่า เพื่อหาทางรับมือหรือแก้ไขไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบผลงาน ควรวิเคราะห์ความสำคัญและเร่งด่วนของแต่ละงาน งานใดไม่ควรทำ งานใดควรลดหรือขยายขนาด การสื่อสารพูดคุยในทีมงานเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากทีมงานทุกคนเข้าใจทิศทาง พร้อมให้ความร่วมมือก็จะทำงานได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

งานกับความเครียด

ปกติผมเป็นคนใจเย็น อดทน และยอมรับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี พยายามเข้าใจโลก เข้าใจผู้อื่น โชคดีที่เกิดใน Gen baby boomer เป็นวัยที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงมาแล้วทุกรูปแบบ เติบโตมากับเทคโนโลยีต่างๆ แต่ละยุคสมัย ผ่านมาตั้งแต่งานทำมือจนถึงเครื่องจักร เรียกได้ว่า แอนะล็อกมาเป็นดิจิทัล จึงสามารถเข้าใจ รับมือได้ทุกสภาวะ อดทนและรอได้

วิธีรับมือกับความเครียด สิ่งแรก ถ้าความเครียดนั้นเกิดจากผู้อื่นหรือตัวแปรที่ไม่อาจควบคุมได้ เราคงต้องอดทนต่อผู้นั้นให้ได้ก่อน ลองคิดแบบใจเขา ใจเรา แต่ถ้าไม่ไหวก็ต้องเดินออกจากตรงนั้น รอให้สถานการณ์ดีขึ้น หากเป็นความเครียดที่เกิดจากตัวเรา วิธีรับมือทำได้หลายวิธี เช่น ชวนเพื่อนๆ ทานข้าว คุยเรื่องที่ไม่ใช่งาน ทำกิจกรรมนอกเวลางาน สำหรับผมชอบเล่นดนตรีเพราะช่วยให้ผ่อนคลาย ขณะเดียวกันการมีสังคมนอกเวลางานกับเพื่อนๆ ใน สวทช. ทำให้มีโอกาสรู้จักผู้คนต่างหน่วยงาน ต่างเพศวัย และต่างตำแหน่งงาน ส่งผลให้การประสานงานในกิจกรรมต่างๆ ราบรื่นตามมา

ความรู้สึกต่อ สวทช.

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ผ่านเหตุการณ์สำคัญน่าจดจำหลายครั้ง เหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นวิกฤต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540  Y2K ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543)  น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 หรือแม้กระทั่งวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด 2019 ทุกเหตุการณ์อยู่ในความทรงจำเสมอ เพราะทุกวิกฤตสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิต แต่ สวทช. จะมีวิธีรับมือกับแต่ละเหตุการณ์ โดยพยายามหาแนวทางให้พนักงานปรับตัวเพื่อช่วยให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติมากที่สุด มีการเตรียมระบบสนับสนุนต่างๆ  มีนโยบาย Work from home บุคลากรสามารถประชุมงานผ่านโปรแกรม Webex ได้ ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ สวทช.ก็นำมาใช้ได้ทันทีหลังเหตุการณ์ เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางที่ลดผลกระทบการดำเนินชีวิตของพนักงาน เป็นสิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจที่ได้อยู่ในองค์กรแห่งนี้

สวทช.ให้ทุกอย่าง ให้ความมั่นคง สร้างความหวัง รายได้ สวัสดิการ เกียรติยศ ความภูมิใจ ที่สำคัญ สวทช. เป็นสังคมที่ดี รายล้อมด้วยคนดี มีโอกาสได้ทำงานที่ตนเองรัก มีสถานที่ทำงานที่ดี ได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทำงานที่ทันสมัย มีทรัพยากรสนับสนุนการทำงานที่สมบูรณ์ อาทิ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ต่างๆ ฯลฯ ล้วนอุดมมากกว่าหน่วยงานที่เคยผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งสิ้น จนกล่าวได้ว่า ตั้งแต่ร่วมงานกับ สวทช. ผมมีความสุขในการทำงาน ไม่เคยสักครั้งเดียวที่คิดจะลาออก เพราะเมื่อเราได้มาอยู่องค์กรดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ก็เหลือแต่พยายามตั้งใจทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นการตอบแทนองค์กร

มีคติสอนใจบทหนึ่งที่ได้จากการดูเดี่ยว โน้ต อุดม เขากล่าวว่า “ถ้าเราค้นพบงานที่เรารัก ก็เหมือนเราไม่ได้ทำงานอีกต่อไป” เพื่อนๆ หาองค์กรที่ดีเจอแล้ว เหลือเพียงหางานที่ทำแล้วสนุกให้เจอ

แผนหลังเกษียณ

หลังเรียนจบและเริ่มทำงานแรก ผมไม่เคยว่างเว้นจากการทำงานเลย แม้ในช่วงเปลี่ยนงาน คิดว่าหลังเกษียณคงขอตั้งหลัก หยุดพักจากการทำงานที่ยาวนานต่อเนื่องกว่า 34 ปีสักระยะ จากนั้นอาจหาอาชีพเล็กๆ ทำกับครอบครัว ซึ่งไม่ได้หวังจะมีรายได้อะไรมาก ขอเพียงไม่เครียดและไม่ต้องควักเงินที่ได้หลังเกษียณอย่างเดียว เป้าหมายสำคัญ คือพยายามรักษาสุขภาพใจกายให้ดี ใช้ชีวิตกับครอบครัว มีสังคมเพื่อนฝูงที่มีความสุข

สิ่งที่อยากจะฝากไว้

ขอฝากน้องๆ คนรุ่นหลังให้อุทิศเวลากับการทำงานในองค์กรอย่างเต็มที่ ซื่อสัตย์กับตนเองและองค์กรทำงานอย่างมีเป้าหมาย ระมัดระวังความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ควรวางแผนเรื่องการออมและศึกษาการลงทุนต่างๆ ที่เราไม่ต้องออกแรงหรือใช้เวลางานไปทำ เช่น สหกรณ์ หุ้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบที่มีปันผล หรือการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น ทองคำ ที่ดิน เป็นต้น โดยลงทุนน้อยๆ แบบกระจายทางเลือก แต่สม่ำเสมอแบบสะสมไปเรื่อยๆ ให้เวลาสร้างรายได้แบบ passive income ให้กับเรา เพื่อเป็นดอกผลยามเรามีอายุมากขึ้น จะได้มีชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคง

อีกเรื่องหนึ่ง คือสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ารายได้และทรัพย์สิน ผู้ที่มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและยืนยาว ควรแบ่งเวลาให้กับงาน ครอบครัว และการออกกำลังกายตามช่วงวัยของแต่ละคน ที่สำคัญคือมีวิธีจัดการความเครียดของตนเองในรูปแบบที่แต่ละคนถนัด ไม่ว่าจะใช้ดนตรี กีฬา หรือสันทนาการ เพราะสุขภาพจะอยู่กับเราตลอดไป คงไม่มีประโยชน์ที่มีเงินมากแต่มีสุขภาพไม่ดี สำหรับเพื่อนที่เกษียณพร้อมกัน ให้ระวัง 2 ล. คือ อย่าลื่นและอย่าโดนลวง (มิจฉาชีพ) น่ากลัวมาก  //  โชคดีครับ