2 โครงการไบโอเทค สวทช. ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง มูลค่า 20 ล้านบาท

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ริเริ่มแผนการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่านการคัดเลือกให้ได้รับงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) ภายใต้สองโครงการ ได้แก่ “Technology Transfer and Knowledge Exchange on Edible Mushrooms for Economic and Agricultural Sustainable Development among Countries in the Mekong Region” และ “Promotion of Sustainable Cassava Production in the Mekong Region through Dissemination of Cassava Mosaic Disease Diagnostic and Clean Cassava Seed Production Technologies” ซึ่งกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ได้มอบทุนให้กับทั้งสองโครงการรวมเป็นจำนวนเงิน 546,905 ดอลลาร์สหรัฐ (20 ล้านบาท โดยประมาณ) เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ การได้รับคัดเลือกงบประมาณที่สูงนี้ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของไบโอเทค-สวทช ในการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

โครงการ 1: การถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (Technology Transfer and Knowledge Exchange on Edible Mushrooms for Economic and Agricultural Sustainable Development among Countries in the Mekong Region)

โครงการ “Technology Transfer and Knowledge Exchange on Edible Mushrooms for Economic and Agricultural Sustainable Development among Countries in the Mekong Region” โดย ดร.อัมพวา ปินเรือน นักวิจัย จากทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค-สวทช ได้รับสนับสนุนทุนจำนวน 258,059 ดอลลาร์สหรัฐ (9,072,323 บาท โดยประมาณ) มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี “โครงการมีเป้าหมายในการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขี้นให้แก่ประชาชนไทยและประชาชนในกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่านทรัพยากรเห็ด รวมทั้งกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง”

ดร.อัมพวา ชี้แจงประเทศไทยและประเทศในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น จีน ลาวและเวียดนามมีการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เห็ดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าที่ประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงนำมาบริโภคและสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก การใช้ประโยชน์การเห็ดที่กินได้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงนี้ถือว่าเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ประชาชนในอนุภูมิภาคนี้

การดำเนินงานของโครงการจะมีการศึกษา พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรเห็ดป่าและคอร์ไดเซบ (กลุ่มถั่งเช่า) ที่ใช้บริโภคได้ในแต่ละพื้นที่ การค้นหาหรือพัฒนาสายพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับสายพันธุ์นำเข้า เปิดโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการกระบวนการเพาะเห็ดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้น้ำและพลังงานการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเห็ด สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากเห็ดและคอร์ไดเซบ การเพาะเห็ดร่วมกับไม้ป่าซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตของเห็ดป่าในธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน สร้างโอกาสการอยู่ร่วมกับป่าและลดความเสี่ยงต่อการเก็บเห็ดพิษมาบริโภค

การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้นี้จะเพิ่มความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมการผลิตเห็ดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดและคอร์ไดเซบ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โครงการจะมีผู้เข้าร่วมการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น นักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกรรายย่อย ประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเห็ดและผลิตภัณฑ์จากเห็ดและคอร์ไดเซบในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ดร.อัมพวากล่าวสรุปว่า “โครงการนี้คาดว่าจะสามารถขยายเครือข่ายการใช้ทรัพยากรเห็ดและการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเห็ดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งเกิดศูนย์กลางและเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคต่อไป”

โครงการ 2: การส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง (Promotion of Sustainable Cassava Production in the Mekong Region through Dissemination of Cassava Mosaic Disease Diagnostic and Clean Cassava Seed Production Technologies)

โครงการ “Promotion of Sustainable Cassava Production in the Mekong Region through Dissemination of Cassava Mosaic Disease Diagnostic and Clean Cassava Seed Production Technologies” นำโดย ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ นักวิจัย จากทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค-สวทช ได้รับสนับสนุนทุนจำนวน 288,846 ดอลลาร์สหรัฐ (10,161,603 บาท โดยประมาณ) มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นก้าวสำคัญสู่การผลิตมันสำปะหลังอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายสำคัญของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันกว่า 90% (ที่มา www.krungsri.com) หากแต่มันสำปะหลังต้องเผชิญกับความท้าทายจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava mosaic disease: CMD) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตสูงถึง 80% ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรและก่อให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

โครงการนี้จะเป็นการนำเอานวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยไบโอเทค-สวทช ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดที่มีคุณภาพ (tissue culture และ mini stem cutting) และเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง (ELISA และ immunochromatographic strip test) มาช่วยส่งเสริมการผลิตต้นพันธุ์สะอาดที่มีคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยติดตามเฝ้าระวังโรคในแปลงปลูกและจัดการควบคุมโรคอย่างทันท่วงที

ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ หัวหน้าโครงการกล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาสามปี เราจะดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา จากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ไบโอเทค-สวทช ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) Vietnam University of Agriculture (VNUA) National University of Laos (NUOL) และ Chinese Academy of Tropical Agricultural Sciences (CATAS) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในประเทศของตนอีกด้วย” ดร.แสงสูรย์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “โครงการจะมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับเทคนิค tissue culture และ ELISA และการสร้างแปลงสาธิตสำหรับผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบการใช้เทคโนโลยีในการผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคให้เกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต”

กองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

กองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาระดับภูมิภาคทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนในการพัฒนาของ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้)