น้ำอัดลมกับยานอวกาศ
จากกระบวนการผลิตน้ำอัดลม ในขั้นตอนการอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในน้ำหวาน โดยเพิ่มความดันภายในขวดน้ำเพื่อให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สามารถละลายอยู่ในน้ำหวานได้นั้น จนเมื่อน้ำอัดลมถูกเปิดขึ้นมา ส่งผลให้ความดันภายในขวดลดลงอย่างรวดเร็ว และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเปลี่ยนสถานะเป็นแก๊สฉับพลัน ก่อนจะรวมตัวกันเป็นฟองลอยขึ้นมานั้น
เหตุการณ์นี้ก็เปรียบได้กับนักบินอวกาศที่จะต้องออกไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ คือ เมื่อนักบินอยู่ในยานอวกาศ ภายในยานจะถูกออกแบบให้มีระบบควบคุมความดันซึ่งมีสภาวะเหมือนอยู่บนพื้นโลก ครั้นเมื่อเหล่านักบินจะต้องออกไปปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศก็จำเป็นจะต้องสวมใส่ชุดนักบินอวกาศเพื่อควบคุมความดันเช่นกัน เหตุผลเพราะในอวกาศไม่มีความดันอากาศ หากนักบินอวกาศไม่สวมชุดนักบินอวกาศจะส่งผลให้ความดันภายในร่างกายของนักบินลดลงอย่างรวดเร็ว ของเหลวในร่างกายจะเกิดฟองและแข็งตัวจนถึงจุดเยือกแข็ง ปิดกั้นระบบหมุนเวียนโลหิต และปริมาณของแก๊สในร่างกายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วจะสามารถทำลายเส้นเลือดและอวัยวะต่างๆ ให้ฉีกขาด จนเสียชีวิตในที่สุด
เรียบเรียงจาก
สุปราณี สิทธิไพโรจน์กุล, ยงยุทธ บัลลพ์วานิช และอาภาภรณ์ บุญยรัตนพันธุ์. เทคโนโลยีอวกาศ ระดับมัธยมศึกษา. ปทุมธานี : ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2552. (หน้า 94)