จรวด ทำงานตามกฎของนิวตัน ข้อที่ 3 คือ "แรงกิริยา = แรงปฏิกิริยา"
- แรงกิริยา เกิดจากการปล่อยแก๊สร้อนออกทางท่อท้ายด้านล่าง
- แรงปฏิกิริยา คือ แรงที่ทำให้จรวดเคลื่อนที่ขึ้นด้านบนได้
หากพิจารณาจากเชื้อเพลิงที่ใช้ เราสามารถแบ่งจรวดออกเป็น 2 ประเภท คือ
- จรวดเชื้อเพลิงแข็ง มีลักษณะเป็นแท่งเชื้อเพลิงแข็งเป็นสารประกอบของไฮโดรเจนและคาร์บอน ขณะที่ออกซิไดซ์เป็นสารประกอบออกซิเจน
- จรวดเชื้อเพลิงเหลว เชื้อเพลิงที่ใช้คือเคโรซีน หรือไฮโดรเจนเหลว ส่วนตัวออกซิไดซ์คือออกซิเจนเหลว
ความต่างของจรวดเชื้อเพลิงแข็งกับจรวดเชื้อเพลิงเหลว คือ
จรวดเชื้อเพลิงแข็งมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับจรวดเชื้อเพลิงเหลว แต่หากเชื้อเพลิงเกิดการเผาไหม้ขึ้นแล้ว จะไม่สามารถหยุดได้จนกว่าจะเผาไหม้หมด ขณะที่จรวดเชื้อเพลิงเหลวซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าจะมีท่อและปั๊มเพื่อลำเลียงเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์เพื่อทำการเผาไหม้ และจรวดประเภทนี้สามารถควบคุมปริมาณการเผาไหม้ และปรับทิศทางของกระแสแก๊สได้
เรียบเรียงจาก
สุปราณี สิทธิไพโรจน์กุล, ยงยุทธ บัลลพ์วานิช และอาภาภรณ์ บุญยรัตนพันธุ์. เทคโนโลยีอวกาศ ระดับมัธยมศึกษา. ปทุมธานี : ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2552. (หน้า 43)