จากบทความในวารสาร 2010 top ten trends in academic libraries : a review of the current literature ได้กล่าวถึง แนวโน้มของห้องสมุดที่ผู้บริหารควรต้องหันมาดูว่า ทิศทางการบริหารงานห้องสมุดที่ดูแลอยู่ ควรจะเป็นอย่างไร โดยเก็บความจากการนำเสนอของ ผอ. สุวคนธ์ ศิริวงศ์วรวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้รวบรวมแนวความคิดของผู้บริหารที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ กับศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Science and Technology Knowledge Services (STKS) ในวันงาน Applied ICT for Executive Librarians ดังนี้
-
ทรัพยากรสารสนเทศ เนื่องจากงบประมาณที่ลดลง เนื้อที่ถูกจำกัด จึงทำให้ห้องสมุดต้องตระหนักถึงทรัพยากรสารสนเทศ 4 ประเด็น ดังนี้
- ต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก “Just in Case” (เก็บไว้เผื่อจะมีการใช้) ไปเป็น “Just in Time” (เก็บเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน) และเนื่องจากผู้ใช้ห้องสมุดเป็นตัวกำหนดความต้องการและเป็นตัวผลักดันให้ ห้องสมุดจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
- ศูนย์กลางการเก็บหนังสือที่มีการใช้น้อย หรือไม่มีการใช้ เป็น Repository Library เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ทำให้มีเสียงของการผลักดันที่จะให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บหนังสือ โดยเฉพาะหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งไม่สามารถรองรับได้ แต่ถ้าสามารถรองรับ ก็น่าจะเป็นช่องทางที่จะเก็บหนังสือที่ผลิตในประเทศไทยได้ครบถ้วนสมบูรณ์ (ซะที) รัฐบาลน่าจะได้รับเรื่อง National Repository ไว้ดำเนินการต่อไป
- ระบบการใช้ข้อมูลร่วมกัน (Sharing Resource System)
-
รวบรวมผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมผลงานที่มีคุณค่าของอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และเอกสารจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย และแปลงเป็นรูปดิจิทัลฉบับเต็ม ในเรื่องของการแปลงเป็นรูปดิจิทัล นั้น ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็นในการวางแนวทางการทำ e-Book ในองคการไว้ใน http://thaiview.wordpress.com/ โดยมีการเตรียมการเรื่องการทำ e-Book 3 แนวทาง ได้แก่
- หนังสือที่อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดให้โรงพิมพ์ทำเป็น pdf file กลับมาให้กับหน่วยงานที่ว่าจ้างผลิต เพื่อใช้ในการพิมพ์ซ้ำในอนาคต และสามารถใช้ file ดังกล่าวเข้าคลังเอกสารดิจิทัลได้โดยไม่ต้องมาสแกนเอกสารเหล่านั้นอีก
- หนังสือที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี พยายามหาไฟล์ต้นฉบับ
- หนังสือที่เก่าเกิน 10 ปี อาจะต้องใช้วิธีการสแกนหรือถ่ายเป็นภาพ
-
งบประมาณ
- แนวโน้มลดลง จากรายงานของ Chronicle of Higher Education งบประมาณสำหรับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ในปี 2008 ลดลงร้อยละ 18.7
- การหาทุน (Fund Raising) บรรณารักษ์ในห้องสมุดอุดมศึกษา ร่วมหาหาทุนสนับสนุนกิจกรรม/โครงการพิเศษในสหรัฐอเมริกา
-
เทคโนโลยี
- เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ย่อมมีผลกระทบต่อการบริการของห้องสมุด โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ (Smart Phones), e-Book Readers, IPods, IPad ซึ่งเป็นตัวเร่งจากผู้ใช้ให้มีความต้องการให้ห้องสมุดบริการหรือรองรับการ ใช้อุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวที่ผู้ใช้ใช้ เป็นสิ่งที่ห้องสมุดต้องเรียนรู้จากผู้ใช้ (User experience service)
- บุคลากรห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยี บุคลากรต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เน้นการอบรมแบบ cross-training ที่ต้องเรียนรู้ข้ามสายงานหรือสิ่งที่บุคลากรเคยถนัดได้ เพื่อจะได้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่และสามารถปฏิบัติงานได้ทันที
- การเรียนการสอนในสาขาบรรณารักษศาสตร์ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับหลักสูตร มีวิชาใหม่ๆ และเกี่ยวข้องกับวิชาชีพและเทคโนโลยี
- โครงการ Digitization เพื่อให้สามารถนำหนังสือที่มีอยู่ (ซ่อนอยู่หรือไม่มีผู้ใช้) ถูกนำมาอยู่บนระบบเครือข่าย ที่สามารถเข้าถึงและมีโอการใช้ได้อย่างทั่วถึง หรือทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีโครงการ Digitization ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมากขึ้น
-
ความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
- ความร่วมมือกับหลักสูตรการเรียนการสอน
- ความร่วมมือกับหน่วยบริการนักศึกษา
- ความร่วมมือกับบรรณารักษ์หน่วยงานอื่นๆ เพื่อร่วมกันหารือ ร่วมกันใช้ทรัพยากรร่วมกัน ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นต้น
-
บทบาทของห้องสมุดกับกฎหมายลิขสิทธิ
- ความพยายามของห้องสมุดที่จะให้ความรู้แก่อาจารย์และนักศึกษาให้รักษาสิทธิ ของงานเขียนหรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ และขณะเดียวกันก็ต้องเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย
- การคัดเลือกงานเขียนและงานสร้างสรรค์เพื่อเข้าโครงการดิจิทัล บรรณารักษ์ต้องทำความเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อการสื่อสาร และเจรจากับผู้เป็นเจ้าของ จึงจำเป็นต้องมีบรรณารักษ์ชำนาญด้านการสื่อสาร หรือพนักงานลิขสิทธิ์ (Copyright Officer)
-
ห้องสมุดจะกลายเป็น “Hub” สำหรับการบริการพิเศษเหล่านี้
- ศูนย์การติว (Tutoring Center)
- ศูนย์การฝึกการเขียน (Writing Centers)
- ห้องศึกษาเป็นกลุ่ม (Group Studty Room) มีให้เห็นอยู่พอสมควร
- ห้องการศึกษาทางไกล (Distance Learning Room with Access to Video Conferencing Software)
- ห้องบริการกาแฟและอาหารว่าง (Cafe and Light Dining Venue) ข้อนี้มีให้เห็นกันค่อนข้างแพร่หลายในห้องสมุดของประเทศไทย
- ห้องพักผ่อนอาจารย์และนักศึกษา (Student and Faculty Lounges)
- แกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ (Art Galleries)
-
Commons จะกลายเป็น “หัวใจและวิญญาณ” ของห้องสมุดอุดมศึกษา
- Information Commons, Intellectual Commons, an Electronic Commons หรือ an e-Commons
- Commons model เป็นการผสมผสานของการบริการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการบริการข้อมูลห้องสมุดแบบเก่า รวมทั้งเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยแบบเก่า
- Commons ให้บริการเหมือน “Hub” ที่นักศึกษามาพบกัน ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดกัน ร่วมมือกัน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จัดไว้ให้บริการ
- ปัจจุบัน Commons ได้ละลาย กฎ ระเบียบต่างๆ ของห้องสมุด ใน Commons area ใครจะพูดก็ได้ไม่มีการห้าม สามารถนำอาหารและเครื่องดื่มมารับประทานและดื่มได้ สนับสนุนให้ร่วมมือจัดทำกิจกรรมต่างๆ บางห้องสมุดในพื้นที่นี้จะมีตู้เครื่องดื่มและขนมไว้บริการ
- การออกแบบห้องสมุด การออกแบบจะต้องคำนึงถึงพื้นที่สำหรับสื่อดิจิทัล พื้นที่สำหรับการบริการพิเศษในข้อ 7
-
คำจำกัดความคำว่า “ห้องสมุด” เปลี่ยนไป เพราะ
- มีการจัดเตรียมสำหรับการให้บริการดิจิทัลมากขึ้น
- มีการให้บริการถึงแหล่งข้อมูลทางออนไลน์มากขึ้น
- จำนวนหนังสือในห้องสมุดลดน้อยลง ลดจำนวนวารสาร เพราะมี e-Journal
- หนังสือที่มีการใช้น้อยถูกนำไปเก็บไว้ที่ storage หรือจำหน่ายออก
- มีพื้นที่สำหรับผู้ใช้มากขึ้น
- แต่แนวความคิด “Library as Place” ยังคงมีความสำคัญสำหรับ นักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ และผู้ใช้บริการทั่วไป