ช่องว่างระหว่างคำ และช่องว่างระหว่างประโยคในการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่ายังมีการใช้งานที่แตกต่าง และส่งผลกระทบต่อแสดงผล การแปลความหมาย รวมทั้งอาจจะส่งผลต่อกระบวนการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ด้วย เช่น ผลลัพธ์จากการสืบค้น ปัญหาดังกล่าวเนื่องมาจาก "ผู้พิมพ์" หลายๆ คน ยังคงมีแนวทางการพิมพ์และการใช้ "ช่องว่าง" ที่แตกต่างกัน บางกลุ่มยึดว่าช่องว่างต้องเคาะ 2 เคาะ บางกลุ่มก็ยึดเคาะเดียว บางกลุ่มก็ใช้ผสมผสานกัน
ปัญหา "ช่องว่าาง" ระหว่างคำ และระหว่างประโยค จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ "คอมพิวเตอร์" ในภาพรวม เหตุผลใหญ่ ก็คงมาจากการเรียนรู้ที่ผ่านมาที่ยึดแนวปฏิบัติจาก "การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด" เช่น
- เมื่อจบประโยคให้เว้นวรรคใหญ่ ... ทั้งนี้ "เว้นวรรคใหญ่" ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดไว้ว่า "มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ 2 เท่าของการเว้นวรรคเล็ก โดยเว้นวรรคเล็ก มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก"
- เว้นวรรคเล็กระหว่างคำนำหน้านามแต่ละชนิด เป็นต้น
ทั้งนี้รายละเอียดเพิ่มเติมและการใช้งานในกรณีอื่นๆ สามารถศึกษาได้จากเอกสาร หลักเกณฑ์การเว้นวรรค ราชบัณฑิตยสถาน และจากเอกสารดังกล่าว "ทำให้แปลกใจมากๆ ที่มักจะเว้นวรรคใหญ่ระหว่างชื่อกับนามสกุล ตลอดทั้งเว้นวรรคใหญ่ระหว่างคำในประโยค" ว่านำแนวปฏิบัติมาจากแหล่งใด
การเว้นวรรคใหญ่ และเว้นวรรคเล็ก มีที่มาจาก "การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด" ซึ่งลักษณะของอักขระแต่ละอักขระมีความกว้างเท่ากัน ดังนั้นจึงต้องเว้นวรรคใหญ่ หรือเคาะสองเคาะเมื่อจบประโยค เพื่อแบ่งประโยคให้ชัดเจน ดังภาพ
สำหรับคำนิยาม "เว้นวรรคใหญ่" ของราชบัณฑิตยสถาน ยึดความกว้างของตัวอักษร "ก" อันเป็นอักษรแรกเป็นฐาน รวมทั้งการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์มีการใช้แบบอักษรหรือฟอนต์บนคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ (ยกเว้น CU Writer, RW) กำหนดฟอนต์แบบปรับเปลี่ยนขนาดได้ หรือ proportional fonts และการพิมพ์ด้วย proportional fonts นี้จะพบว่า "เคาะหนึ่ง" หรือ "เคาะสอง" ก็ไม่มีผลต่อการอ่าน และการแสดงผล เพราะโปรแกรมปรับความกว้างของอักขระแต่ละตัวตามเหมาะสมให้อัตโนมัติ ทำให้มองเห็น "ช่องว่าง" ระหว่างประโยค ได้ชัดเจนมากกว่าการพิมพ์แบบเดิม ในขณะที่ประเด็น "เคาะหนึ่ง" หรือ "เคาะสอง" กลับมีผลต่อการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการเว้นวรรคด้วยช่องว่างด้วยการพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ จึงควรมีการปรับแนวคิด แนวปฏิบัติ และใช้เพียง 1 เคาะเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากยังสนใจ "การเว้นวรรคใหญ่" โปรแกรมประมวลผลคำอย่าง Microsoft Word ก็เตรียมคำสั่งให้ โดยนับเป็น 1 อักขระ และไม่ส่งผลต่อการประมวลผล โดยเรียกว่า EM Space หรือช่องว่างยาว ซึ่งมีวิธีการใช้งาน (กรณี MS Word 2007) ดังนี้
- เมื่อพิมพ์ข้อความและจบประโยค ยังไม่ต้องกดแป้นเว้นวรรค แต่ให้เลือกแท็บเมนู แทรก
-
คลิกปุ่มเครื่องมือ สัญลักษณ์ ต่อด้วยรายการย่อย "สัญลักษณ์เพิ่มเติม"
-
ปรากฏแท็บ "สัญลักษณ์์" คลิกแท็บ อักขระพิเศษ
- คลิกเลือกรายการ "ช่องว่างยาว" จะปรากฎช่องว่างที่กว้างกว่าปกติ ณ ตำแหน่ง Cursor จากนั้นให้พิมพ์งานตามปกติ
จะเห็นได้ว่า หากต้องการ "เว้นวรรคใหญ่" ที่สามารถประมวลผลได้ถูกต้องตามกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ ก็ต้องปรับเปลี่่ยนวิธีการพิมพ์ (ไม่ใช่นำแนวปฏิบัติการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้) นอกจากการเว้นวรรคใหญ่ การพิมพ์งานด้วย Word Processor เช่น MS Word ยังมีช่องว่างแบบไม่ตัดคำ หรือ (No-break space / hard space) เพื่อควบคุมการตัดคำให้เลือกใช้ด้วย โดยช่องว่างแบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการตัดคำ
ในการพิมพ์เอกสารด้วย MS Word บางครั้ง อาจจะมีการระบุคำที่มีส่วนประกอบของช่องว่าง ดังภาพ คือ ‘Monotype’s Arial’ ซึ่งถือเป็นคำเดียวกันที่ต้องไปด้วยกัน ซึ่งเมื่อคำดังกล่าวไปปรากฏท้ายบรรทัด อาจจะถูกตัดคำ แบ่งคำขึ้นบรรทัดใหม่ อันทำให้ผิดลักษณะการใช้งานที่ถูกต้อง เพราะโปรแกรมยึดช่องว่างในการตัดคำ
การแก้ไขปัญหาการแยกคำ หรือตัดคำกรณีคำที่ประกอบด้วยช่องว่างข้างต้น จะต้องใส่ช่องว่างพิเศษที่เรียกว่า No-break space โดยการใช้ปุ่ม Ctrl พร้อมกับปุ่ม Shift และปุ่ม Space แทนการกดปุ่ม Space ตามปกติ
ทั้งนี้ช่องว่างที่ปรากฏ จะเป็นอักขระพิเศษที่สายตามองเห็นเป็นช่องว่าง แต่โปรแกรมจะยึดเป็น 1 อักขขระที่ผสานกับคำข้างหน้าและข้างหลัง ทำให้การตัดคำจะยกทั้งคำขึ้นบรรทัดใหม่ แทนการตัดส่วนของคำด้วยช่องว่างนั่นเอง
เมื่อเข้าสู่โหมดแสดงอักขระที่ไม่สั่งพิมพ์ ของ MS Word จะปรากฏความแตกต่าง ดังนี้
นอกจากการเว้นวรรคระหว่างคำ และจบประโยค ยังมีประเด็นช่องว่างระหว่างบรรทัด (Line Spacing) และระหว่างพารากราฟ (Paragraph Spacing) ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน ไม่ใช่นำ "ปัด 1 บิด 2" มาใช้เป็นกดปุ่ม Enter 2 ครั้ง ... ทั้งนี้สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ปรับปรุงและประกาศไว้ใน "การพิมพ์หนังสือราชการภาษาไทยด้วยโปรแกรมการพิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์" ไว้แล้ว จึงเห็นได้ว่า ประเทศไทย ก็ยังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและปรับปรุงในระดับประเทศแล้ว เหลือแต่ระดับผู้ใช้ ควรปรับตัวเองกันหรือยังครับ
สรุปได้ว่า
- การพิมพ์ควรปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ภายใต้รูปแบบการพิมพ์และเทคโนโลยีใหม่
- การพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ให้เว้นวรรค 1 เคาะ
- หากต้องการเว้นวรรคใหญ่ และเว้นวรรคแบบไม่ตัดคำ ให้ใช้ฟังก์ชันพิเศษของ Word Processor เพื่อให้การประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ถูกต้อง
แหล่งข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม
- การเว้นวรรค ราชบัณฑิตยสถาน
- Sentence spacing studies : Wikipedia
- Space (punctuation) : Wikipedia
- Sentence spacing in digital media : Wikipedia
- Why you should use one space after each sentence