หนอนหน่ายเป็นพืชสกุลหางกระรอกที่พบได้ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และลานหิน ชาวอีสานซึ่งนิยมรับประทานปลาร้าใช้พืชชนิดนี้ใส่ลงไปในไหปลาร้าเพื่อขับไล่หนอน นอกจากมีสรรพคุณไล่หนอนในไหปลาร้า ทั้งต้นเมื่อนำมาต้มน้ำดื่มมีสรรพคุณรักษาโรคกระเพาะ นอกจากมีประโยชน์ในด้านอาหารการกินหนอนหน่ายซึ่งมีช่อดอกขนาดใหญ่และมีดอกจำนวนมากที่มีสีสันสวยงามยังเหมาะที่จะนำไปเป็นไม้ดอกไม้ประดับอีกด้วย หนอนหน่ายถูกเรียกชื่อไปต่างๆ กันในแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดสระบุรีเรียกหางหมาจอก จังหวัดเชียงใหม่เรียกหญ้าหางเสือ จังหวัดกาฬสินธุ์เรียกขี้หนอน จังหวัดกาญจนบุรีเรียกเสลดพังพอนกะเหรี่ยง และจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกเหนียวหมา
ที่มา : ประนอม จันทรโณทัย. "หนอนหน่าย พืชคู่วัฒนธรรมไทยอีสาน" BRT Magazine. ฉบับที่ 27 (ต.ค. 2552-มี.ค. 2553) : 18.