จากเผยแพร่ใน the Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม คณะนักวิจัยจาก University of Chicago ค้นพบว่า Clostridia ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร (gut bacteria) สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้อาหาร จากการศึกษาในหนู โดยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันซึ่งป้องกันสารก่อภูมิแพ้อาหาร (food allergens) ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด การค้นพบครั้งนี้นำไปสู่การรักษาโดยอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ (probiotic therapies)
เพื่อศึกษาว่าแบคทีเรียในทางเดินอาหารมีผลอย่างไรต่อโรคภูมิแพ้อาหาร คณะนักวิจัยติดตามการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้อาหารในหนู พวกเขาได้ให้ถั่วซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้อาหารแก่หนูซึ่งเกิดและโตในสภาวะปลอดเชื้อเพื่อไม่ให้มีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่เลย และหนูซึ่งได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่แรกเกิด (มีแบคทีเรียในทางเดินอาหารลดลงอย่างชัดเจน) พบว่าหนูทั้งสองกลุ่มมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างมาก โดยผลิตระดับของแอนติบอดีต่อถั่วสูงกว่าหนูที่มีแบคทีเรียในทางเดินอาหารในระดับปกติ อย่างไรก็ตามความไวต่อสารก่อภูมิแพ้อาหารสามารถผันกลับได้โดยการให้กลุ่มของแบคทีเรีย Clostridia กลับไปยังหนู การให้แบคทีเรียอีกกลุ่มหนึ่งคือ Bacteroides ไม่สามารถทำให้ความไวต่อการกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้อาหารลดลง ทำให้ค้นพบว่าแบคทีเรีย Clostridia มีวิธีการป้องกันที่มีลักษณะเฉพาะต่อสารก่อภูมิแพ้อาหาร
เพื่อศึกษากลไกการป้องกันนี้ คณะนักวิจัยศึกษาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์และโมเลกุลต่อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร การศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมแสดงว่า Clostridia ทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดผลิต interleukin-22 (IL-22) ในระดับสูงมาก ซึ่ง IL-22 ทำให้เซลล์บุผิวของลำไส้ยอมให้สารผ่านได้ลดลง
หนูซึ่งได้รับยาปฏิชีวนะได้รับ IL-22 หรือ Clostridia พบว่าหนูทั้งสองสภาวะเมื่อได้รับถั่วแสดงระดับของสารก่อภูมิแพ้ลดลงในกระแสเลือดเมื่อเปรียบเทียบกับหนูควบคุม อย่างไรก็ตามระดับของสารก่อภูมิแพ้สูงขึ้นเมื่อหนูได้รับแอนติบอดีซึ่งทำลายฤทธิ์ IL-22 ดังนั้นแสดงว่า IL-22 ซึ่งเกิดจาก Clostridia ป้องกันสารก่อภูมิแพ้จากการเข้าสู่กระแสเลือด
ที่มา: University of Chicago Medical Center (2014, August 25). Gut bacteria that protect against food allergies identified. ScienceDaily. Retrieved September 29, 2014, from http://www.sciencedaily.com/releases/2014/08/140825152016.htm