1.  มาตรการ STI ของ BOI คืออะไร

มาตรการ STI คือนโยบายการจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill, Technology & Innovation: STI) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ประกาศให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมได้ หากมีการใช้จ่ายด้านการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดังนี้

1)  ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 วรรคสอง (ไม่กำหนดวงเงิน) และให้ได้รับระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี ดังนี้

o   ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี เมื่อมีการลงทุน / ค่าใช้จ่ายด้าน STI รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่ายอดขายรวมใน 3 ปีแรก หากคำนวณแล้วสูงกว่า 150 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายขั้นต่ำได้ที่ 150 ล้านบาท 

o   ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี เมื่อมีการลงทุน / ค่าใช้จ่ายด้าน STI รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของมูลค่ายอดขายรวมใน 3 ปีแรก หากคำนวณแล้วสูงกว่า 300 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายขั้นต่ำได้ที่ 300 ล้านบาท 

o   ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปี เมื่อมีการลงทุน / ค่าใช้จ่ายด้าน STI รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่ายอดขายรวมใน 3 ปีแรก แรก หากคำนวณแล้วสูงกว่า 450 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายขั้นต่ำได้ที่ 450 ล้านบาท 

2)  ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต

โดยค่าใช้จ่ายที่เข้าเกณฑ์ของการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามประกาศ BOI ที่ 3/2549 ประกอบด้วย

1)  การลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบ (เอกชนทำการวิจัยและพัฒนาเอง)

2)  ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

3)  ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย

ต่อมา BOI ได้ออกประกาศที่ 11/2552 เพิ่มค่าใช้จ่ายที่เข้าเกณฑ์ของการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอีก 1 ประเภทคือ ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนกองทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบโดยมีมติให้ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดำเนินการโดย สวทช. เป็นกองทุนหนึ่งที่เข้าเกณฑ์ของ BOI ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่ 14 กันยายน 2552

ประกาศ BOI ที่ 3/2549    http://www.boi.go.th/thai/download/law_regulations/393/3_2549.pdf

ประกาศ BOI ที่ 11/2552  http://www.boi.go.th/thai/download/law_regulations/605/11_2552.pdf

 

2.  กรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปีอยู่แล้ว แต่มีการจำกัดวงเงิน สามารถขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ STI ได้หรือไม่

สามารถทำได้ โดยผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องมีเงินลงทุน / ค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายด้าน STI รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่ายอดขายรวมใน 3 ปีแรก หรือ ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท แล้วแต่มูลค่าใดต่ำกว่า และบริษัทจะได้รับการแก้ไขบัตรส่งเสริมให้ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 31 วรรคสอง (ไม่จำกัดวงเงิน) ทันทีภายหลังจากได้รับอนุมัติ STI

 

3.  หากประสงค์จะยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ STI โดยการนำเงินเข้ากองทุนฯ ของ สวทช.  จะต้องทำอย่างไรบ้าง และใช้เวลานานแค่ไหน

ขั้นตอนมีดังนี้

1)  ยื่นแบบแสดงความจำนงขอสนับสนุนกองทุนฯ พร้อมเอกสารประกอบ มาที่ สวทช.

2)  นำหนังสือตอบรับจาก สวทช. ไปเป็นเอกสารประกอบในการยื่นขออนุมัติปรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ STI กับ BOI (กรณีที่เป็นค่าใช้จ่ายประเภทอื่น เอกชนต้องจัดทำแผนการลงทุนด้าน STI เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะทำงาน STI ก่อน)

3)  นำส่งเงินให้ สวทช. ภายในเวลาที่กำหนดในแบบแสดงความจำนงฯ หลังจากได้รับอนุมัติจาก BOI

4)  ใช้สำเนาใบเสร็จจาก สวทช. เป็นหลักฐานในการตรวจสอบของ BOI (กรณีที่เป็นค่าใช้จ่ายประเภทอื่น เอกชนต้องแสดงสำเนาใบเสร็จรับเงินทุกใบเพื่อใช้ในการตรวจสอบ)

การยื่นแบบแสดงความจำนงขอสนับสนุนกองทุนฯ นั้น เมื่อ สวทช. ได้รับเอกสารถูกต้องครบถ้วน จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 10 วันทำการในการออกหนังสือตอบรับให้เอกชนนำไปยื่นต่อ BOI เพื่อขออนุมัติ STI

 

4.  เอกชนที่สนใจขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ STI ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

1)  โครงการส่งเสริมการลงทุนเดิมที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 ไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้นแล้วหรือไม่ สามารถขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้ ทั้งนี้ หากผู้ได้รับการส่งเสริมมีรายได้จากการประกอบกิจการแล้ว ในวันที่ยื่นคำขอ STI จะต้องมีสิทธิประโยชน์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 เหลืออยู่

2)  โครงการส่งเสริมการลงทุนที่อยู่ในข่ายประเภทกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเนื่องจากที่ตั้งโครงการ หากประสงค์ขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ STI จะต้องยื่นขอตั้งแต่ขั้นยื่นคำขอรับการส่งเสริม

หมายเหตุ: แต่เดิมเคยมีการกำหนดไว้ในประกาศ BOI ฉบับที่ 3/2549 ว่า คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป ให้ใช้มาตรการ STI ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ BOI ฉบับที่ 3/2549 (ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ยื่นก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2548 ให้ใช้มาตรการ STI ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ BOI ฉบับที่ 1/2547)

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีประกาศ BOI ฉบับที่ 6/2552 กำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการส่งเสริมที่สามารถขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการ STI ได้ ตามคุณสมบัติทั้ง 2 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น

 

5.  การพิจารณาว่าสิทธิประโยชน์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 เหลืออยู่หรือไม่ พิจารณาอย่างไร

การพิจารณาว่าสิทธิยังคงเหลืออยู่หรือไม่นั้น ต้องดูทั้งด้านระยะเวลาและวงเงิน ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ในวงเงิน 20 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่เริ่มมีรายได้ โดยบริษัทมีเริ่มมีรายได้วันที่ 1 มกราคม 2546 เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ณ สิ้นปี 2550 บริษัทได้ใช้สิทธิไปแล้ว 18 ล้านบาท และต้องการมายื่นขอ STI จะพิจารณาดังนี้

·        ระยะเวลาคงเหลืออยู่หรือไม่ ณ วันที่ยื่นขอ STI

กรณีนี้ ผู้ได้รับการส่งเสริมมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ฯ เป็นเวลา 7 ปี นับจากวันที่เริ่มมีรายได้คือ 1 มกราคม 2546 ดังนั้น บริษัทต้องยื่นขอ STI ภายในก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2552

·        วงเงินคงเหลืออยู่หรือไม่ ณ วันที่ยื่นขอ STI

กรณีนี้ ณ วันที่ 1 มกราคม 2551 บริษัทยังมีวงเงินคงเหลือ 2 ล้านบาท หากต้องการยื่นขอ STI ในวันที่ 10 เมษายน 2551 บริษัทจะต้องคำนวณภาษีเงินได้ฯ จากงบกำไรขาดทุนรายเดือนของบริษัทตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 จนถึงเดือนมีนาคม 2551 ว่ามีมูลค่าเท่าไร โดยมูลค่าที่คำนวณได้ต้องต่ำกว่าวงเงินที่เหลืออยู่ จึงจะมีสิทธิยื่นขอ STI หากมูลค่าที่คำนวณได้สูงกว่าหรือเท่ากับวงเงินที่เหลืออยู่ ก็ถือว่า สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 หมดลงแล้ว 

 

6.  การพิจารณาว่าเงินลงทุน / ค่าใช้จ่ายเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ทำอย่างไร

·        การพิจารณาเงินลงทุน / ค่าใช้จ่าย STI เทียบกับยอดขายนั้น จะพิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะโครงการที่ขอรับการส่งเสริม ไม่ใช่จากเงินลงทุน / ค่าใช้จ่าย และยอดขายของทั้งบริษัท

·        ยอดขายรวมปีแรกจะเริ่มนับจากปีที่มีรายได้เต็มปี

 

7.  บริษัทควรยื่นขอ STI เมื่อใด จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

หากโครงการไม่ได้อยู่ในข่ายที่ต้องยื่นขอ STI ตั้งแต่ขั้นยื่นคำขอรับการส่งเสริม ก็ควรพิจารณาจากประมาณการกำไรสุทธิของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น เพื่อทำการวางแผนล่วงหน้า หากมีแนวโน้มที่จะมีกำไรสุทธิสูงและทำให้วงเงินการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหมดเร็ว ก็ให้รีบยื่นขอ STI เพื่อให้ยังมีสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลคงเหลืออยู่ ณ วันที่ยื่น

 

8.  ในกรณีที่บริษัทเลือกใช้ช่องทางการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ ของ สวทช. แล้ว จะยังคงนำค่าใช้จ่าย STI ด้านอื่น ที่บริษัทดำเนินการมารวมคำนวณเงินลงทุน / ค่าใช้จ่ายในการยื่นขอ STI จาก BOI ได้หรือไม่

สามารถกระทำได้ เพราะตามประกาศของ BOI กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเงินลงทุน / ค่าใช้จ่ายด้าน STI ทุกประเภทมารวมกันได้ในการคำนวณเงินลงทุน / ค่าใช้จ่าย ตามเกณฑ์ของการยื่นขอ STI

 

9.  เมื่อได้รับอนุมัติ STI จาก BOI แล้ว ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ เมื่อไร

การนำส่งเงินให้ยึดตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแบบแสดงความจำนงสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ เนื่องจาก สวทช. มีเกณฑ์การพิจารณาออกหนังสือตอบรับการแสดงความจำนงสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ STI โดยพิจารณาว่า ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องยินดีนำส่งเงินตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแบบแสดงความจำนงสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ ของ สวทช.

ทั้งนี้ หากต้องการเปลี่ยนแปลง ให้ส่งหนังสือขออนุมัติปรับแผนการชำระเงินพร้อมระบุเหตุผลความจำเป็นมายัง สวทช. ก่อนวันครบกำหนดชำระเงินไม่น้อยกว่า 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ ของ สวทช. เพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการ STI ของ BOI และ สวทช. ขอสงวนสิทธิในการส่งหนังสือแจ้ง BOI ให้ทราบถึงการที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขฯ ดังกล่าว

 

10.  การนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่

ให้นำส่งเงินเท่ากับจำนวนเงินตามเกณฑ์การขออนุมัติ STI ของ BOI และ สวทช. จะออกใบเสร็จรับเงินให้เป็นหลักฐานโดยไม่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

11.  การนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ทำได้โดยวิธีใด

กรณีโอนเงิน   ให้โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอุทยานวิทยาศาสตร์ ชื่อบัญชี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  เลขที่ 080-0-00001-0 

กรณีจัดทำเช็ค ให้ออกเช็คในนาม  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

เมื่อนำส่งเงินแล้วให้ติดต่อรับใบเสร็จรับเงินที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน สวทช. โทรศัพท์ 02 564 7000 โดยฝ่ายบัญชีฯ จะดำเนินการออกใบเสร็จให้ภาย 1 วันทำการ

 

12.  จะมีการตรวจสอบความถูกต้องในการปฏิบัติตามเงื่อนไข STI อย่างไรบ้าง

ผู้ได้รับการส่งเสริมใช้เพียงสำเนาใบเสร็จรับเงินจาก สวทช. เป็นหลักฐานในการนำไปยื่นแสดงต่อ BOI หากตัวเลขเงินสนับสนุนครบตามเกณฑ์ของ BOI ก็ถือว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขของการขอรับสิทธิประโยชน์

 

13.  ในกรณีที่รายได้ที่เกิดจริงสูงกว่ารายได้ที่ประมาณการไว้ตอนยื่นขอ STI ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องทำอย่างไร

ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องนำส่งเงินเพิ่มเติมจากที่ได้ประมาณการไว้ ให้ครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำของ BOI จึงจะถือว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขของการขอรับสิทธิประโยชน์

 

14.  ในกรณีที่รายได้ที่เกิดจริงต่ำกว่าประมาณการมากจนไม่ต้องการใช้สิทธิตาม STI บริษัทมีสิทธิจะไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามที่แสดงความจำนงไว้ได้หรือไม่

สามารถทำได้ โดยให้ทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง สวทช. ก่อนวันครบกำหนดชำระเงินไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อที่ สวทช. จะได้ไม่ทำหนังสือแจ้ง BOI ว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ สวทช.

 

15.  หากสนใจช่องทางการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ ของ สวทช. สามารถติอต่อขอรายละเอียดได้อย่างไร

ติดต่อได้ที่ คุณอริสรา ฤชุพันธุ์  โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1308 e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.