เมื่อวันที่ 27-29 กรกฎาคม และ 15 กันยายน พ.ศ.2561 ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทร่วมกับสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในสถานศึกษา สำหรับครูระดับประถมศึกษา รุ่นที่ 1 มีครูสนใจเข้าร่วมรับการอบรมทั้งสิ้น 96 คน
 

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน กล่าวตอนรับคณะครูผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้


บรรยากาศการอบรมในวันแรก ช่วงแรกเป็นการบรรยายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา ร่วมถึงการวิเคราะห์ตัวชี้วัดชั้นปีของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) เพื่อจัดทำคำอธิบายรายวิชา โครงสร้างรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ และแผนการจัดการเรียนรู้ โดย ดร. บัญชา แสนทวี ผู้จัดการ งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท

และช่วงบ่ายเป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา และกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานที่มีชื่อว่า “มหัศจรรย์พลังดูดแห่งแม่เหล็ก” โดย นายศิโรจน์ ศรีสรากรณ์ นักวิชาการ สวทช. กิจกรรมนี้ครูได้วางแผน ออกแบบอุปกรณ์แยกวัสดุพลังแม่เหล็ก และนำไปทดลองใช้งานจริงและนำกลับมาพัฒนาปรับปรุงอีกครั้งตามกระบวนการคิดแบบสะเต็มศึกษา

กิจกรรมนี้ครูได้วางแผน ออกแบบอุปกรณ์แยกวัสดุพลังแม่เหล็ก และนำไปทดลองใช้งานจริงและนำกลับมาพัฒนาปรับปรุงอีกครั้งตามกระบวนการคิดแบบสะเต็มศึกษา

กิจกรรมวันที่สอง เริ่มต้นด้วยตัวอย่างกิจกรรมสะเต็มศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วยการเรียนรู้เรื่อง แบบจำลองของพ่อ โดยยึดหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้นในการจัดการพื้นที่ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9 ) ในกิจกรรม “แบบจำลองของพ่อ” โดย นางสาวกิตติยา บำบัดภัย นักวิชาการ สวทช.


ต่อด้วยกิจกรรม “วัตถุ วัสดุ เรื่องเล็ก ๆ ที่เด็ก ๆ ต้องรู้” โดย นางสาวปฐมาภรณ์ ชุมแสง นักวิชาการ สวทช. ที่สร้างความตื่นเต้นให้ครูผู้เข้าอบรมไม่น้อยกับการเรียนรู้กิจกรรมสะเต็มศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัสดุรอบ ๆ ตัว ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวัสดุเมื่อมีการลดหรือเพิ่มอุณหภูมิมาใช้ในออกแบบและประดิษฐ์ต่างหูจากพลาสติกที่สวยงาม


และกิจกรรมวันสุดท้ายคุณครูได้สนุกกับหน่วยการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ตอน “ขั้นตอน วิธี และ BeeBot” โดย นางสาวกนกพรรณ เสลา นักวิชาการ สวทช. ที่นำเรื่องวิทยาการคำนวณเข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้ครูวิทยาศาสตร์เข้าใจและกล้าที่จะมองว่าวิทยาการคำนวณไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 และแผนการจัดการเรียนรู้จะสมบูรณ์ไม่ได้ การขาดทักษะการวัดและประเมินผลในชั้นเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งบรรยายโดย ดร.บัญชา แสนทวี ผู้จัดการ งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท


และหลังจากการอบรมเสร็จสิ้น ครูผู้เข้ารับการอบรมจะมีเวลาทดลองนำกิจกรรมและแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาไปใช้จริงในสถานศึกษาของตนเอง และเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2561 ได้มีการติดตามและประเมินผลการนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ โดยการนำเสนอแผนการจัดการเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน ผลที่เกิดขึ้นกับครู และเด็กนักเรียน ให้คำวิพากษ์ โดยคณะวิทยากร ร่วมกับเพื่อนครูเพื่อสร้างเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ อีกครั้ง ซึ่งพบว่า การนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ร้อยละ 30.97 และทำให้ครูผู้เข้ารับการอบรมเกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้มากถึงร้อยละ 47.10 ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.52 เกิดทักษะ ร้อยละ 17.42 ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี ร้อยละ 13.55 และมีการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ ร้อยละ 12.26

ในส่วนของปัญหา อุปสรรคที่พบในการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษา ได้แก่ เวลาในการจัดกิจกรรม ร้อยละ 16.77งบประมาณร้อยละ 12.90 ขาดความชำนาญร้อยละ 12.26 และขาดแคลนสื่ออุปกรณ์ร้อยละ 11.61 แต่อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในสถานศึกษานั้นยังต้องมีการพัฒนา และได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน และอนาคตของประเทศชาติต่อไป

 


Download ภาพกิจกรรม

Download เอกสารประกอบการฝึกอบรม