งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ) และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จัดค่ายจุดประกายนวัตกรอาหารรุ่นเยาว์ 2020 (Young Food Innovator Camp 2020) :ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ่มเพาะเยาวชนในชนบทให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ด้านนวัตกรรมอาหารด้วยกระบวนการ STEM ระหว่างวันที่ 3 – 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมนลินวิทย์ ชั้น 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้แก่นักเรียนและครูในโรงเรียนชนบทที่ได้รับคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 9 โรงเรียน

ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 22 โรงเรียนสบเมยวิทยาคม โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 จังหวัดลำพูน  โรงเรียนราชราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน จังหวัดเชียงราย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จังหวัดสกลนคร

โดยค่ายครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนานักเรียนและครูให้มีความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารและการเป็นผู้ประกอบการ โดยใช้กระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ กระบวนการสะเต็มศึกษา และ Design Thinking และเพื่อเตรียมความพร้อมสู้การเข้าร่วมเวทีการแข่งขันด้านการเป็นผู้ประกอบการ โครงการ Food Innopolis Innovation Contest นอกจากนี้ยังเป็นการวางรากฐานให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยด้าน Food Science / Food Technology 

เริ่มต้นกิจกรรมโดย คุณเสาวดี คล้ายโสม ตัวแทนคณะทำงานกล่าวเกี่ยวกับความเป็นมาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และแนวทางของการดำเนินโครงการในระยะยาวต่อไปหลังจากนั้น ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รอง ผพว. และกรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ จึงขึ้นกล่าวต้อนรับและให้โอวาทแก่นักเรียนและครูโรงเรียนต่างๆ ที่เข้ามาสู่กิจกรรมในครั้งนี้ และมีพิธีเปิดโดย ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งได้แนะนำมหาวิทยาลัย มอบแนวความคิด ประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน รวมถึงการเชิญชวนให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษากับมหาวิทยาลัยในอนาคต

กิจกรรมด้านวิชาการ เริ่มต้นโดยคณะวิทยากรของ มทร. ธัญบุรี คณะและสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการอาหารได้แนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรม และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการอาหารเบื้องต้น เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพใหญ่ของวงการฯ ในปัจจุบัน จากนั้นจึงเริ่มจัดการเรียนรู้ โดยการแบ่งนักเรียนออกเป็นทีม (ทีมละ 1 โรงเรียน) ให้เข้าฐานเวียนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการแปรรูปและถนอมอาหารในปัจจุบัน จำนวน 10 ฐานเวียน โดยนักเรียนนอกจากจะเรียนรู้จากการฟังบรรยายแล้ว ยังได้เรียนรู้จากตัวอย่างจริงที่นำมาแสดง และมีโอกาสถามเกี่ยวกับประเด็นที่ตนเองสนใจอย่างใกล้ชิด

ช่วงบ่ายของวันแรกเป็นการบรรยายเกี่ยวข้องกับปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของวงการอุตสาหกรรมอาหารของทั่วโลก พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการระบาดของโรค Covid-19 กลุ่มอาหารเพื่อความต้องการที่จำเพาะ โดย ดร.วัณณิพ์ตา จิรังรัตน์ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการทดสอบทางประสาทสัมผัส ศูนย์นวัตกรรมอาหารไทยยูเนี่ยน ของเครือยูเนี่ยนฟู้ด

และต่อด้วยการบรรยายเกี่ยวกับ การสร้างแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมอาหารเบื้องต้น การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องการผลิต ซึ่งในช่วงนี้มีกิจกรรมเสริมคือ การสอนให้นักเรียนรู้ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่เป็นชนิดเดียวกันมีความแตกต่างกันอย่างไร โดยการสอนทำ Sensory testing ให้นักเรียนทดสอบและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารตัวอย่างว่ามีลักษณะแตกต่างกันทางกายภาพอย่างไรเมื่อใช้ร่างกายเป็นตัวตรวจจับ

จากนั้นวิทยากรได้สอนนักเรียนเกี่ยวกับแนวคิด คอนเซ็ปท์ของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรักษาความสมบูรณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้หลังผ่านการขนส่งสู่มือผู้บริโภค โดยมีการสร้างสถานการณ์สมมติให้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้มะเขือเทศบอบช้ำหลังการถูกกระแทกอย่างรุนแรง โดยให้นักเรียนสร้างและออกแบบตามแนวทางสะเต็มศึกษา โดยจำกัดวัสดุที่ใช้

ช่วงเช้าของกิจกรรมวันที่สอง เริ่มต้นโดย ผศ.ดร.สลิตตา สารีบุตร ได้บรรยายเกี่ยวกับการจัดทำแบบจำลองทางธุรกิจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Business Model Canvas (BMC) และได้ยกตัวอย่าง BMC ที่น่าสนใจจากทั่วโลกให้นักเรียนได้เปิดโลกทัศน์และเกิดการเรียนรู้ พร้อมทั้งให้นักเรียนในแต่ละทีม ฝึกวิเคราะห์และทำแบบจำลองธุรกิจขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้คิดไว้ของแต่ละกลุ่ม

เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวไปแล้ว จึงมีพิธีมอบใบประกาศผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี ผศ.ดร.สิริแข พงษ์สวัสดิ์ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี เป็นผู้มอบ และพิธีปิดและให้โอวาสโดย ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี

รายงาน : นายศิโรจน์ ศรีสรากรณ์