เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท (SRS) สายพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (HRD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดการเสวนาวิชาการ หัวข้อโลกเปลี่ยน คนปรับ ขยับการเรียนรู้ ในโรงเรียน(ชนบท) : New Normal in the Changing (Rural) Schools ภายใต้งานประชุมวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ประจำปี 2564 ครั้งที่ 16 ในหัวข้อ ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ ขึ้นโดยถ่ายทอดสอด ณ ห้อง 306 อาคารศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ได้เชิญคุณครูในพื้นที่ 3 ท่าน ได้แก่ ตัวแทนครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ พระครูถาวรรัตนานุกิจ ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เขต 6 ตัวแทนครูจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.สุรเดช พหลโยธิน ที่ปรึกษางานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท และตัวแทนครูจากจังหวันราธิวาส ครูวีรชัย สติรักษ์ ประธานเครือข่ายรักษ์ป่าบาลา นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนักวิชาการด้านการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีก 3 ท่าน ได้แก่ ดร.กุศลิน มุสิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รศ.ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในงานเสวนาในครั้งนี้

 โดยงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยกล่าวถึง "บทบาทของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท เข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสริมและพัฒนาครูผู้สอน เพื่อเปลี่ยนให้ความไม่พร้อมกลายเป็นความพร้อม พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส สำหรับผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลในการศึกษาเรียนรู้จากปัญหาที่ประสบในยุคปัจจุบัน"

 

 หลังจากนั้น ดร.ยุวเรศ มลิลา นักวิจัย สวทช. ผู้ดำเนินรายการได้เริ่มคำถามในช่วงแรก เพื่อทำความรู้จักโรงเรียนในพื้นๆ ที่ชนบท จากพื้นที่เหนือสุด โดย อ.สุรเดช พหลโยธิน ตัวแทนครูจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน  กล่าวว่า "โรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิประเทศที่อยู่ภูเขาสูง การเดินทางมีความยากลำบาก และส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้ทำให้การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากมาก ทำให้การจัดการเรียนการสอนในช่วงสถาณการณ์โควิด-19 ต้องใช้ภารกิจครูหลังม้า ในการส่ง สาร สื่อ สอนเพื่อส่งสื่อการสอนถึงหน้าบ้านนักเรียน และทำให้เกิดลักษณะดารเรียนแบบพี่สอนน้องขึ้นในครัวเรือน ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น"

ในส่วนของโรงเรียนในจังหวัดนราธิวาส ครูวีรชัย สติรักษ์ ตัวแทนครูจากจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า "โรงเรียนในจังหวัดนราธิวาสในเครือข่ายรักษ์ป่าบาลา มีทั้งโรงเรียนที่อยู่บนเทือกเขา ครูและนักเรียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีปัญหาเรื่องความยากจน ร่วมถึงต้องหยุดการเรียนการสอนเนื่องจากน้ำท่วมในโรงเรียนในพื้นที่ราบ และในสถานการณ์โควิด-19 ครูในพื้นที่ทำงาน 7 วัน โดยใช้รถจักรยานยนต์พุ่มพวง ในการส่งสื่อการสอน ใบงาน ไปที่บ้านเด็กนักเรียน และให้ผู้ปกครองช่วยสอนในเนื้อหาที่ไม่ยากนัก โดยครูในพื้นที่จะต้องลงพื้นที่เพื่อสอนนักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่ด้วย"

ในส่วนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พระครูถาวรรัตนานุกิจ กล่าวว่า " โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่สามเณร ในทางโลกและทางธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติ เนื่องจากมีสามเณรจากหลายชนเผ่าและมีการจัดการเรียนรู้ในเชิงทฤษฏีมากกว่าภาคปฏิบติ และใช้ DLTV ในการจัดการเรียนเารสอนออนไลน์เป็นหลักในช่วงสถานการณ์โควิด-19" หลังจากนั้นเพื่อให้มองเห็นภาพร่วมของข้อจำกัด และวิธีการจัดการเรียนการสอนทั้งในโรงเรียนพื้นที่ชนบท และสถานการณ์การรับมือของโรงเรียนทั่วโลกในยุค New normal ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร. อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวว่า "โรงเรียนอื่นๆ ทั่วโลก ใช้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมีการสื่อสารและส่งงานผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น Line What app โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจรรมต่างๆ ของนักเรียน โดยครูทั่วโลกมีการปรับตัว ทั้งวิธีการสอน สื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น DLTV มาใช้ประโยชน์ โดยหลักยึดสำคัญสำหรับโรงเรียน 3 ประการ คือ 1.เด็กๆสำคัญที่สุด 2.ทีมคุณครูเป็นผู้นำที่สำคัญ 3.ตัดสินใจร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้มากที่สุด"

ในช่วงที่สอง เป็นแนวทางการพัฒนาในช่วง New normal ในแง่มุมของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดย รศ.ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา กล่าวว่า "การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกิจกรรมที่เกิดจากโจทย์ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการและมีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนมากที่สุด"

ในส่วนของแนวทางนโยบายในส่วนของภาครัฐ(สสวท.) โดย ดร.กุศลิน มุสิกุล กล่าวว่า" โควิด-19 ตัวเร่งสู่ความปกติใหม่ของการจัดการเรียนการสอน โดยสสวท.มีการจัดทำ Project 14 ขึ้นเพื่อให้ครูและผู้ปกครองมีสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ ที่เรียนสามรถเรียนออนไลน์เองได้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา Project 14+ โดยใช้ระบบ LMS เพื่ออนาคตอีกด้วย"

ร่วมถึงการร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ ในช่วง New normal ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร. อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวว่า"การเรียนการสอนในโรงเรียนชนบทจะมีการเรียนการสอนที่ไม่ต้องมีครูอยู่ใกล้ๆ รวมถึงกิจกรรมอะไรที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ"

ช่วงที่สาม เป็นการร่วมค้นหาแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ในช่วง Next normal ให้กับโรงเรียนในชนบทร่วมกัน ทั้งด้านการเตรียมความพร้อมของครู โดย รศ.ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา กล่าวว่า " ครูก็เหมือนหมอ ที่ต้องมีการวินิจฉัยโรค หาตัวยา ปรุงยา รักษาโรค และติดตามอาการ ในการเตรียมความพร้อมของครู ให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตนเอง"

ในส่วนของแผนการดำเนินงาน หรือนโยบายของสสวท. ดร.กุศลิน มุสิกุล กล่าวว่า"การเรียนรู้แบบผสมผสาน คือห้องเรียนปกติ ห้องเรียนออนไลน์แบบ Synchronous และห้องเรียนออนไลน์แบบ Asynchronous โดยการจัดการเรียนสอนในอานาคต ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่มีจุดหมายเดียวกันคือมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสมรรถนะของผูเรียน" ซึ่งการปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีความสุขทั้งผู้สอนและผู้เรียน โดย ผศ.ดร. อรรถพล อนันตวรสกุล และตัวแทนครูในพื้นที่ พบว่า การจัดการเรียนการสอนควรมีบูรณาการร่วมกับผู้ปกครอง ชุมชน นอกจากนี้การถอดบทเรียนการเรียนการสอนตลอดสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและการพัฒนาการเรียนการสอนที่ดีขึ้น และจะนำความสุขมาให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนมากขึ้น

จากการเสวนาหัวข้อ โลกเปลี่ยน คนปรับ ขยับการเรียนรู้ ในโรงเรียนชนบท ได้ทราบแล้วว่าในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ครูในพื้นที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง และการเสวนาครั้งนี้จบลง ทางวิทยากรและทีมงานคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขยับการเรียนรู้ในโรงเรียนชนบท ให้มีการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน เพื่อให้เกิดความสุขทั้งผู้สอนและผู้เรียนในอนาคต

สามารถชมเสวนาวิชาการ หัวข้อ โลกเปลี่ยน คนปรับ ขยับการเรียนรู้ ในโรงเรียนชนบท ได้ที่นี้

ผู้รายงาน : ปิยาภรณ์ วงศ์อักษร