เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ร่วมพัฒนาแบบวัดสมรรถนะสะเต็มศึกษาเพื่อคุณภาพการศึกษาเด็กไทย โดยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติ เรื่อง เพื่อพิจารณากรอบการประเมินผลการเรียนรู้จากกิจกรรมการนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในสถานศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปJที่ 4-6 ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม SC102 อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช.และออนไลน์ผ่านระบบ Web EX

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำแบบทดสอบวัดและประเมินผลสมรรถะสะเต็มศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ทางงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้ งาน SRS ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสะเต็มศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมกันสร้างกรอบการประเมินการเรียนรู้สะเต็มศึกษาร่วมกัน ได้แก่ รศ.ดร.ชาตรี ฝ่ายคำตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาของประเทศ ดร.บัญชา แสนทวี ผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในการอบรมการนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในสถานศึกษา และ อ.ดร.สุรยศ ทรัพย์ประกอบ ผู้มีประสบการณ์ในการจัดทำข้อสอบวัดแววความเป็นครูของสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ

โดยสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 การจัดทำชุดแบบทดสอบวัดและประเมินผลสมรรถนะสะเต็มศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ได้กำหนดร่างสมรรถนะสะเต็มศึกษาจากการหา Consensus และ พฤติกรรมที่ควรพบและแสดงออกในสมรรถนะแต่ละด้าน ทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการระบุปัญหา และตั้งคำถาม 2) ด้านการรวบรวบ วิเคราะห์สังเคราะห์และประเมินข้อมูล 3) ด้านกระบวนการออกแบบการแก้ปัญหา 4) ด้านการดำเนินการแก้ปัญหา 5) ด้านการทดสอบประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขวิธีการ 6) ด้านการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาหรือผลงาน 7) ด้านการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน 8) ด้านความสามารถในการสืบเสาะ และเพื่อให้การกำหนดสมรรถนะสะเต็มศึกษาจากการหา Consensus และ พฤติกรรมที่ควรพบและแสดงออกในสมรรถนะแต่ละด้านมีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากที่สุด คณะทำงานงาน SRS จึงแบ่งหัวข้อทั้ง 8 ด้าน ในการสืบค้นบทความทางวิชาการเพื่อใช้ในการอ้างอิงและกำหนดนิยาม (คำอธิบาย) ของแต่ละด้านของสมรรถนะสะเต็ม พร้อมทั้งพิจารณาทบทวนพฤติกรรมแสดงออกของแต่ละด้านของสมรรถนะสะเต็ม และปรับคำที่ใช้ให้ออกมาในรูป“พฤติกรรม” หรือ “actions” เพื่อให้สามารถนำไปสร้าง Rubrics ได้ และทำการเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาความสมบูรณ์ของพฤติกรรมที่ควรพบและแสดงออกในสมรรถนะแต่ละด้าน ให้มีความสอดคล้องกับนิยามของสมรรถนะสะเต็มศึกษาในแต่ละด้านที่ทางคณะทำงานงาน SRS ได้สืบค้นมา หลังจากที่มีระดมความคิดจากทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านร่วมกับคณะทำงานงาน SRS ทำให้สามารถสรุปสมรรถนะสะเต็มศึกษาจากการหา Consensus และ พฤติกรรมที่ควรพบและแสดงออกในสมรรถนะแต่ละด้านเบื้องต้น และพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมอีกครั้งจากคณะผู้เชี่ยวชาญ

 

รายงาน : ปิยาภรณ์ วงศ์อักษร