TITLE NAME

2562
การขึ้นรูปแผ่นวัสดุเปลี่ยนสถานะจากน้ำมันหมูโดยมีฉนวนเพอร์ไลต์เป็นวัสดุดูดซับด้วยเทคนิคการอัดแพร่แบบสุญญากาศเพื่อใช้เป็นผนังบ้านเรือน
- ปาณิศา จิรถาวรกุล
- พัทธ์ธีรา ทรัพย์วิทยานนท์
- ชิตพงษ์ เหนือเกาะหวาย
วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากสภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมากในทุกๆด้าน การนำแผ่นวัสดุเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM) มาใช้ในการติดตั้งผนังอาคารจึงได้รับความนิยมมากขึ้น โดยวัสดุเปลี่ยนสถานะ คือ วัสดุที่มีความสามารถในการสะสม พลังงานในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับวัสดุที่สะสมพลังงานโดยไม่มีการเปลี่ยนสถานะ เนื่องจากวัสดุชนิดนี้จะต้องใช้พลังงานปริมาณมากในช่วงที่มีการเปลี่ยนสถานะ ทำให้สามารถสะสมพลังงานได้มากขึ้น ซึ่งในทางอุตสาหกรรมมักใช้น้ำมันปาล์มในการขึ้นรูปเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงเป็นงานวิจัยเชิงศึกษาและทดลองการนำน้ำมันที่ใช้ในครัวเรือนมาทดแทนการใช้น้ำมันปาล์มและเพิ่มมูลค่าของน้ำมันหมูซึ่งเป็นสินค้าทางการปศุสัตว์ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก โดยในการขึ้นรูปแผ่นวัสดุเปลี่ยนสถานะนี้ จำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติทางความร้อนของน้ำมันหมูด้วยเครื่อง Differential Scanning Calorimeter (DSC) และทดสอบความเป็นรูพรุนของฉนวนเพอร์ไลต์ที่จะนำมาใช้ในแต่ละชุดการทดลองโดยใช้เครื่อง Surface area and porosity analyzer (BET) เป็นเครื่องมือในการทดสอบ จากนั้นจึงนำน้ำมันหมู และฉนวนเพอร์ไลต์มาทำการทดลองขึ้นรูปเป็นแผ่นวัสดุเปลี่ยนสถานะด้วยเทคนิคการอัดแพร่แบบสุญญากาศ (Vacuum Impregnation) โดยจะทำการควบคุมปริมาตรและเวลาที่ใช้ในแต่ละชุดการทดลองให้แตกต่างกันเพื่อหาปริมาตรและเวลาที่ใช้ในการขึ้นรูปที่เหมาะสมต่อการนำแผ่นวัสดุเปลี่ยนสถานะไปใช้ในผนังบ้านเรือนในเขตประเทศร้อนชื้นที่สุด โดยคาดว่าผลการทดลองนี้จะเป็นแนวทางเลือกใหม่ในการเพิ่มมูลค่าทางการปศุสัตว์ กระจายรายได้สู่ชุมชนที่ทำการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันหมูทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่จากนำน้ำมันหมูและฉนวนเพอร์ไลต์มาใช้ร่วมกันอย่างการนำมาขึ้นรูปเพื่อเป็นวัสดุเปลี่ยนสถานะ นอกเหนือจากการใช้งานในรูปแบบเดิมๆ เช่น การใช้น้ำมันหมูเพียงเพื่อการบริโภค หรือการใช้ฉนวนเพอร์ไลต์เพียงเพื่อการเพาะปลูกและการเกษตร ทั้งยังสามารถนำผลการทดลองที่ได้มาพัฒนาต่อในแนวทางของการประยุกต์ใช้เป็นแผ่นผนัง บรรจุภัณฑ์รักษาอุณหภูมิ หรือนำไปใช้ในด้านการก่อสร้างและอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย