เหมายัน กลางวันสั้น กลางคืนยาว

          วันนี้ (22 ธันวาคม พ.ศ. 2565) เป็นวันเหมายัน อ่านว่า เห-มา-ยัน มาจาก หิม + อายน แปลว่า การมาของฤดูหนาว ความหมายก็ตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ winter solstice

          solstice (อายัน) มาจากคำว่า solstitium ในภาษาละติน แปลว่า ดวงอาทิตย์หยุดนิ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏที่อยู่จุดเหนือสุดหรือใต้สุด ดังนั้นในหนึ่งปีจะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าอายัน 2 ช่วง คือช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม

          ประเทศที่อยู่ในซีกโลกเหนือ (นับจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปถึงขั้วโลกเหนือ) รวมทั้งประเทศไทย วันที่เราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นที่จุดสุดทางเหนือ จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 20-22 มิถุนายน เรียกว่า ครีษมายัน เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กลางคืนสั้นที่สุด บางประเทศนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน และที่จุดสุดทางใต้จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 20-23 ธันวาคม เรียกว่า เหมายัน เป็นวันที่มีช่วงกลางวันสั้นที่สุด กลางคืนยาวที่สุด บางประเทศนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาว

          โดยทั่วไปวันที่เกิดปรากฏการณ์เหมายันมักเกิดขึ้นในวันที่ 21-22 ของเดือน นาน ๆ ทีจึงจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 และนานมาก ๆ ถึงจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ครั้งสุดท้ายที่วันเหมายันตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2446 และจะเกิดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2846 โน่นเลย

          สำหรับประเทศไทย ปรากฏการณ์เหมายันในปีนี้เกิดขึ้นวันนี้ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6.36 น. และจะตกเวลา 17.55 น. มีช่วงกลางวันยาวที่สุดในรอบปีคือ 11 ชั่วโมง 19 นาที 8 วินาที

          ความสั้นยาวของกลางวันขึ้นอยู่กับละติจูดที่ตั้งของประเทศ ยิ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือ กลางวันจะยิ่งสั้น

          ในขณะที่เราเป็นวันเหมายัน ประเทศที่อยู่ในซีกโลกใต้ (นับจากเส้นศูนย์สูตรลงไปถึงขั้วโลกใต้) เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะตรงกันข้าม เป็นครีษมายัน ซึ่งคือการก้าวเข้าสู่หน้าร้อน


ที่มา

About Author