Headlines

ช้างสเตโกดอนแห่งถ้ำเลสเตโกดอน มรดกจากยุคน้ำแข็ง

เรื่องโดย สายทอง ศิลา และ พลอยพรรณ จิตราช


          หากพูดถึงยุคน้ำแข็ง หลายคนอาจนึกถึงสภาพแวดล้อมที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและแผ่นน้ำแข็ง เหมือนการ์ตูนเรื่อง Ice Age แต่กับยุคน้ำแข็งในพื้นที่แหลมมลายู กลับเป็นพื้นที่ราบกว้าง ไร้พรมแดนของน้ำทะเล และบางแห่งมีทุ่งหญ้าสะวันนาปกคลุม

          สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene epoch) ประมาณ 1.8 ล้านปี ถึง 10,000 ปีก่อน เป็นช่วงที่โลกเกิดยุคน้ำแข็งซ้ำไปซ้ำมา พื้นที่หลายแห่งเกิดแผ่นน้ำแข็งปกคลุม และระดับน้ำทะเลลดลงอย่างมาก บริเวณเส้นศูนย์สูตรตรงแหลมมลายูจึงกลายเป็นผืนที่เชื่อมโยงกันเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด รวมถึงช้างสเตโกดอน (Stegodon)


ที่มาภาพ : Fida Mat Stafa

          ถ้ำเลสเตโกดอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun Global Geopark) เป็นบริเวณที่มีการค้นพบฟอสซิลของช้างสเตโกดอน สภาพของถ้ำเลสเตโกดอนในปัจจุบัน เป็นถ้ำที่อยู่ติดทะเล และมีน้ำทะเลท่วมตลอดทั้งแนวถ้ำ การเข้าไปสำรวจหรือท่องเที่ยวภายในถ้ำต้องพายเรือเข้าไปเพื่อชมความงดงามภายในถ้ำ แต่หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ช้างสเตโกดอนอาศัยอยู่ ในสมัยไพลสโตซีน ถ้ำแห่งนี้อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล จึงเป็นที่อยู่อาศัย หลบซ่อนของสัตว์น้อยใหญ่หลายชนิด จากหลักฐานฟอสซิลอื่น ๆ ที่พบในถ้ำเลสเตโกดอน พบว่ามีช้างอีกสกุลหนึ่ง คือ ช้างเอลิฟาส (Elephas) ซึ่งเป็นต้นตระกูลของช้างเอเชียในปัจจุบัน แรดโบราณอีก 2 สกุล คือ เกนดาทีเรียม (Gaindatherium) และคิโลทีเรียม (Chilotherium) เศษซากฟอสซิลของสัตว์ใหญ่เหล่านี้ สันนิษฐานอาจเกิดจากการถูกล่าแล้วนำชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้ามาหลบกินในถ้ำ และชิ้นส่วนกระดูกที่กระจัดกระจายอาจเกิดจากการนำพาของสัตว์กินซากซึ่งเป็นสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กนำเข้ามาในถ้ำ เมื่อเวลาผ่านไปหลายหมื่นปี เศษซากกระดูกสัตว์แปรสภาพกลายเป็นฟอสซิล เช่นเดียวกับถ้ำหินปูนที่แปรสภาพไปด้วยเช่นกัน


ฟอสซิลฟันช้างสเตโกดอน

          การค้นพบฟอสซิลช้างสเตโกดอนเกิดขึ้นในถ้ำวังกล้วย (ชื่อเดิมของถ้ำเลสเตโกดอน) เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยชาวบ้านที่เข้าไปดำน้ำจับกุ้ง ได้บังเอิญไปพบชิ้นส่วนประหลาดลักษณะคล้ายหินสีน้ำตาลไหม้ หนักประมาณ 5.3 กิโลกรัม ยาวประมาณ 44 เซนติเมตร จึงได้เก็บก้อนประหลาดนั้นไว้ ต่อมาเมื่อนักบรรพชีวินวิทยาได้มาตรวจสอบจึงพบว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกรามซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวาของช้างสกุลสเตโกดอน อายุประมาณ 1.8 ล้านปี ถึง 10,000 ปีมาแล้ว อยู่ในยุคไพลสโตซีน ซึ่งถือเป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์วงศ์งวงครั้งแรกของภาคใต้ นำไปสู่การสำรวจพื้นที่อำเภอทุ่งหว้าใต้ จนค้นพบฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายร้อยชิ้น นับเป็นก้าวแรกสู่การผลักดันให้จังหวัดสตูลกลายเป็นอุทยานธรณีโลก


ฟอสซิลฟันแรด Rhinoceros sondaicus ที่พบในถ้ำเลสเตโกดอน
ที่มาภาพ : ชวลิต วิทยานนท์

          จากการศึกษาของพิพิธภัณฑ์วิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งได้ศึกษาฟอสซิลของช้างดึกดำบรรพ์จากแหล่งฟอสซิลในจังหวัดนครราชสีมา พบว่าช้างสเตโกดอนและช้างเอลิฟาสอาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดสมัยไพลสโตซีนหรือสมัยน้ำแข็ง (ice age) โดยสืบเผ่าพันธุ์มาจากบรรพบุรุษที่เก่าแก่กว่า และได้พัฒนาฟันกรามให้สามารถกินได้ทั้งใบไม้ กิ่งไม้ และหญ้า อย่างไรก็ตามช้างสเตโกดอนน่าจะสูญพันธุ์ไปในช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดและมีความแห้งแล้งแบบสะวันนา ก่อนสิ้นสุดสมัยน้ำแข็งเมื่อราว 25,000 ปีก่อน แต่บางพวกที่อพยพโยกย้ายถิ่นไปจนถึงหมู่เกาะในอินโดนีเซีย อยู่ต่อไปได้จนถึงเมื่อประมาณ 13,000 ปีก่อน และอาจจะสูญพันธุ์ไปด้วยภัยธรรมชาติจากภูเขาไฟหรือจากการล่าของมนุษย์โบราณที่อยู่ร่วมสมัยกัน

          การค้นพบฟอสซิลช้างโบราณจึงมีความสำคัญทั้งในแง่การพัฒนาบริบทเชิงพื้นที่ ยกระดับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและยังมีความสำคัญในเชิงวิชาการ เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวของโลกบรรพกาล เพื่อให้ช่องโหว่แห่งกาลเวลาได้รับการเติมเต็ม สามารถเล่าขานเรื่องราวในอดีตสู่คนในยุคปัจจุบันและอนาคตได้เรียนรู้กันต่อไป

About Author