Headlines

สัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022

เรียบเรียงโดย ธนกฤต ศรีวิลาศ
ผู้ร่วมก่อตั้ง The Principia และผู้จัดสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022


 

          “There are all kinds of interesting questions that come from a knowledge of science, which only adds to the excitement and mystery and awe of a flower.” – Richard P. Feynman


ภาพที่ 1 ริชาร์ด ไฟยน์แมน
ที่มาภาพ : the Nobel Foundation archive

          ริชาร์ด ไฟยน์แมน นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งนาโนเทคโนโลยี เคยกล่าวถึงใครคนหนึ่ง ที่คิดว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะไม่เห็นความสวยงามของดอกไม้อย่างที่คนทั่วไปมองเห็น เพราะนักวิทยาศาสตร์คงจะนำดอกไม้แสนสวย สีสันสดใส ไปผ่าชำแหละดูไส้ในของดอกไม้มากกว่า แต่สิ่งที่ไฟยน์แมนโต้กลับคือ นักวิทยาศาสตร์อย่างเขาก็มองเห็นความสวยงามของดอกไม้ที่เห็นตรงหน้าได้ไม่ต่างกับคนทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เห็นความงามที่ซ่อนอยู่อีกมากมายภายใต้โครงสร้างและกลไกซับซ้อนต่าง ๆ ที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะดอกไม้ไม่ได้งามเพียงแค่ในระดับเซนติเมตร แต่ระดับที่เล็กไปกว่านั้นก็มีความงามของมัน วิทยาศาสตร์ทำให้เราได้รู้ว่าสีสันของดอกไม้วิวัฒนาการขึ้นเพื่อล่อแมลงให้มาช่วยผสมเกสร ซึ่งทำให้เราพบว่าแมลงก็อาจจะเห็นสีสันและความงามของดอกไม้ได้ไม่ต่างจากเราด้วย

          วิทยาศาสตร์ล้วนซ่อนความสวยงามที่อยู่ลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราได้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพัฒนาการอาหารของมนุษย์ ระบบนิเวศขนาดย่อมที่ซ่อนอยู่ในเมือง หรือแม้กระทั่งวิถีโคจรของดวงดาวที่ล่องลอยอยู่บนฟ้าไกล แต่เพราะความงามของวิทยาศาสตร์นั้นซุกซ่อนอยู่จนหลายคนอาจไม่ทันได้เห็นมัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีใครลุกขึ้นมาเล่าให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์นั้นสวยงามอย่างไร นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คนทั่วไปพบความลับที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

          การสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือ Science Communication เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ไม่ใช่เมื่อ 10 ปี ไม่ใช่เมื่อ 50 ปี หรือไม่ใช่เมื่อ 100 ปีก่อนด้วยซ้ำ เพราะคำว่าวิทยาศาสตร์ ในภาษาไทยแยกออกมาได้เป็นคำว่า “วิทยา” ที่แปลว่าความรู้ และคำว่า “ศาสตร์” ที่แปลว่าวิชา รวมกันแล้วมีความหมายกว้าง ๆ ว่าเป็นวิชาความรู้ ส่วนคำในภาษาอังกฤษคือ “Science” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Scientia” ที่แปลว่าความรู้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องเพื่อส่งต่อความรู้น่าจะมีมานานแล้วตั้งแต่เราวิวัฒนาการขึ้นมาจนมีสมองใหญ่พอจะคิดค้นภาษาพูดแล้วแหละ แต่การสื่อสารวิทยาศาสตร์เริ่มเป็นที่นิยมจริง ๆ คงต้องพูดถึงสาบันเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประเทศอังกฤษที่เรียกว่า The Royal Institution หรือ Ri ที่่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2342 เพื่อเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคำว่าวิทยาศาสตร์เสียอีก ผู้คนสัญจรไปยังอาคาร Ri อย่างคับคั่ง ในค่ำคืนที่มีการโต้วาที หรือการบรรยายของนักวิจัย ที่พบสิ่งใหม่ ๆ และอยากเล่าให้ผู้อื่นฟัง เช่น ไมเคิล ฟาราเดย์ ผู้ที่โด่งดังจากการค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าและประดิษฐ์ไดนาโม ก็เคยมาเยือนสถานที่นี้ในฐานะผู้บรรยายเช่นกัน


ภาพที่ 2 วิลเลียม ลอเรนซ์ แบรกก์
ที่มาภาพ : the Nobel Foundation archive

          “The conveying of scientific ideas to people who are not specialists in science is a fascinating art which deserves all respect. It is only to be learnt by the bitter experience of making many mistakes, and by intensive study.” – William Lawrence Bragg

          วิลเลียม ลอเรนซ์ แบรกก์ ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการศึกษาโครงสร้างผลึกด้วยรังสีเอกซ์ (X-ray crystallography) กล่าวถึงเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้แก่คนทั่วไปไว้ว่า มันเป็นศิลปะที่น่าทึ่ง เพราะมันจะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันขื่นขมจากการเรียนรู้อย่างหนักและการทำเรื่องผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากแบรกก์ก็คือ คนที่ทำการสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้ต้องมีความรู้รอบด้าน คือนอกจากมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมแล้ว ยังต้องมีความรู้ในการใช้ศิลปะการสื่อสารอีกด้วย เพื่อที่จะได้เล่าเรื่องราวความยากลำบากของการเรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์อย่างหนัก และความผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ และยังไม่หนีหายไปแม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ยากลำบากของนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม คนที่จะทำหน้าที่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงสมควรได้รับการเชิดชู และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

          มาถึงเรื่องของโครงการสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022 ทางผู้จัดอย่างทีม The Principia ก็ได้เห็นความสำคัญของการทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้แก่คนไทย เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์ได้มีความรู้และทักษะในการตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ในยุคที่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง แพร่กระจายได้ง่ายในโลกอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นที่และกำลังใจให้แก่คนที่ทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ค่อยมีคนพบเห็น ให้ได้ฉายแววในแสงสปอตไลต์ที่พวกเราเป็นคนช่วยส่องให้

 


ภาพโดย paristmo

          การจัดโครงการสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022 เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปีก่อน นั่นคือโครงการสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2021 ที่จัดขึ้นในแอปพลิเคชันมาแรงในปีนั้นอย่าง Clubhouse เป็นหลัก และถ่ายทอดมายังช่องทางเฟซบุ๊กของผู้จัด (ซึ่งในคราวนั้นยังใช้ชื่อว่า Make a วิทย์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น The Principia ในภายหลัง) โดยที่มีความตั้งใจจะจัดงานเพื่อรวบรวมเพื่อนพ้องนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่พบเห็นได้เป็นประจำใน Clubhouse มารวมตัวกันตลอดสัปดาห์ ล้อกับชื่องานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และได้พบว่ากระแสตอบรับการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ผ่านเสียงในครั้งนั้นออกมาในทิศทางที่ดี หลังจบงานนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แต่ละคนก็กลับไปทำหน้าที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ในรูปแบบของตัวเองกันต่อไป ด้วยจำนวนผู้ติดตามและยอดคนฟังห้องวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น นั่นจึงทำให้เห็นว่าผู้คนสนใจฟังเรื่องราววิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ เพียงแต่พวกเขาอาจจะไม่มีโอกาสรับสารเหล่านี้มากมายนัก ในยุคที่รายการร้องเพลงในโทรทัศน์มีเกือบทุกช่อง แต่เกมโชว์วิทยาศาสตร์กลับหายไปจากหน้าจอ ในปีนี้จึงมีการจัดสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้คนทั่วไปมีช่องทางในการรับรู้เรื่องราววิทยาศาสตร์ที่หลากหลายได้ตลอดสัปดาห์เหมือนอย่างปีที่แล้ว

          รูปแบบการจัดโครงการสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022 ยังคงเป็นการจัดรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่อาสามาเป็นวิทยากร และผลดีนี้ทำให้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สามารถจัดสรรเวลาและสถานที่มาเข้าร่วมงานในปีนี้ได้ถึง 14 กลุ่ม ตลอด 7 วันที่จัดการไลฟ์ ซึ่งนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ทั้งหมดล้วนมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน และพากันเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากมาย ทั้งให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแชร์ภาพวงการวิทยาศาสตร์ไทยในปัจจุบัน โดยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ทั้ง 14 กลุ่มได้แก่ ณภัทร ตัณฑิกุล นักวิจัยและผู้ชนะ FameLab Thailand 2019, รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัย, ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัยและผู้บริหารบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการแพทย์, ผศ. ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและเจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้สัตว์ดึกดำบรรพ์, วีณา เนาวประทีป นักวิจัยประจำ SageFox Consulting Group สหรัฐอเมริกา, อนัฐ ผดุงกิจ เจ้าของเพจ MathisPie, เพจวิทยาศาสตร์และการเมือง, อุเทน ภุมรินทร์ และชุตินธร วิริยะปานนท์ จากกลุ่ม Nature Plearn Club, อานนท์ ปุ้ยตระกูล เจ้าของเพจ Arnondora, ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (YTSA), ณภัทร เอมดี เจ้าของเพจ นี่แหละชีวะ, ภูริ ศิวสิริการุณย์ เจ้าของเพจ The Projectile, นวพล เชื่อมวรศาสตร์ เจ้าของเพจ SaySci, และทีมงาน The Principia เอง

          นอกเหนือไปจากนั้นยังมีการพูดคุยกับแขกรับเชิญมากหน้าหลายตา ตั้งแต่ ปริทัศน์ เทียนทอง บรรณาธิการบริหารนิตยสารสาระวิทย์ สวทช., สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ และอิทธิกร ศรีกุลวงศ์ บรรณาธิการและนักเขียนจากสำนักพิมพ์สารคดี, รัชกร เวชวรนันท์ เจ้าของ Boss Lab Board Game ผู้ออกแบบและจำหน่ายบอร์ดเกมการศึกษา, และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้แปลหนังสือชื่อดังมากมายอย่าง Sapiens และกำเนิดสปีชีส์


ภาพโดย paristmo

          “Nothing in science has any value to society if it is not communicated” – Anne Roe

          นักวิจัยและนักจิตวิทยาคลินิกที่ชื่อ แอนน์ โร เคยกล่าวเอาไว้ถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่า มันเป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันสังคมให้พัฒนาไปได้ด้วยแนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์ หากผลงานทางวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างยากลำบาก แต่กลับไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ มันก็คงไร้ค่า ไร้ความหมาย ต่อสังคมนั้นไป ฉะนั้นถึงแม้ว่าโครงการสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022 จะผ่านไปแล้ว แต่มันได้ทิ้งร่องรอยเล็ก ๆ ไว้ให้ใครก็ตามที่สนใจ สามารถย้อนกลับไปดูเรื่องราววิทยาศาสตร์น่าสนใจ ที่ไม่ผุ ไม่พัง ไม่เน่าสลายหายไปตามกาลเวลา ซึ่งช่องทางการชมย้อนหลังสามารถดูได้ทั้งในเพจเฟซบุ๊ก The Principia https://fb.me/theprincipiaco/ และช่องยูทูบ The Principia https://www.youtube.com/c/ThePrincipiaco/ โดยที่นอกจากจะมีวิดีโอย้อนหลังของโครงการสัปดาห์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 2022 แล้วทีมงานของ The Principia ยังคงทำหน้าที่ในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไปในรูปแบบอื่น ๆ ที่รอให้ทุกคนเข้าไปรับชมกันอยู่เป็นประจำอย่างแน่นอน

          “ส่งเสริมสังคมสร้างสรรค์ ด้วยการสื่อสารวิทยาศาสตร์” – The Principia

About Author