เล่าเรื่องการสกัด ตอนที่ 1

โดย รวิศ ทัศคร


          ตั้งแต่ยุคโบราณ คนเราใช้วิธีการต่าง ๆ สกัดและทำให้สารเคมีบริสุทธิ์เพื่อใช้งานหลากหลายในชีวิตประจำวัน เป็นตัวยาหรือเพื่อผลิตสารสำหรับใช้ในงานอื่น ๆ การสกัดโลหะออกจาแร่ และสกัดยาจากพืชสมุนไพรนั้น มีความเก่าแก่กว่าประวัติศาสตร์ที่คนเรามีการบันทึกเอาไว้เสียอีก

          ที่จริงแล้วมนุษย์เราก็มีความรู้ความเข้าใจง่าย ๆ ด้านเคมีมานานแล้ว เชื่อหรือไม่ครับว่ามีการค้นพบโถงสำหรับใช้เป็นสถานที่แปรรูปดินเหลืองสำหรับเขียนสีบนผนังถ้ำ ที่เรียกว่าดินโอเคอร์ (ochre) ในถ้ำบลอมบอส (Blombos cave) ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอายุถึง 1 แสนปีมาแล้ว[1] และยังพบการผสมเลือดสัตว์อีกด้วย

          ในช่วงยุคกลางนั้น นักเล่นแร่แปรธาตุเคยมุ่งค้นคว้าเพื่อหาศิลานักปราชญ์เพื่อเปลี่ยนโลหะเป็นทองคำและยาอายุวัฒนะ ซึ่งการทดลองเหล่านี้จะกระทำได้ก็ต้องใช้เทคนิคการแยกสาร ในยุคการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม การแยกสารและการทำให้บริสุทธิ์มีความสำคัญขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและในการทำสงคราม ดังเช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกากับเยอรมนี รวมถึงญี่ปุ่น ต่างพยายามพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนเอง แต่เป็นสหรัฐฯ ที่ทำสำเร็จในการแยกยูเรเนียม 235 ออกจากยูเรเนียม 238 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อีกสองชาติยังทำได้เพียงในห้องทดลองเท่านั้น จึงขาดแคลนวัตถุดิบที่เพียงพอในการพัฒนาอาวุธดังกล่าว

          การสกัดและการแยกสิ่งของออกจากกันจึงมีความสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหารและยาใช้กระบวนการสกัดทำสารเพื่อใช้งาน รวมถึงแยกตัวยาให้บริสุทธิ์ หรืออุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่แยกน้ำมันดิบออกมาเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งสารตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก สารหล่อลื่น รวมถึงเชื้อเพลิงเกรดต่าง ๆ กันอีกด้วย

          ปัจจุบันเทคนิควิธีในการสกัดพัฒนาไปมาก มีเทคนิคการสกัดแบบต่าง ๆ มากมาย อาทิ การสกัดของเหลว-ของเหลว (liquid–liquid extraction) การสกัดสารด้วยตัวดูดซับของแข็ง (solid-phase extraction) การสกัดด้วยปฏิกิริยากรด-เบส (acid-base extraction) การสกัดด้วยตัวทำละลายเหนือวิกฤต (supercritical fluid extraction) การสกัดด้วยน้ำกึ่งวิกฤต (subcritical water extraction) การสกัดโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการสกัด (ultrasound-assisted extraction) การสกัดแบบไหลย้อนกลับโดยใช้ความร้อน (heat reflux extraction) สกัดโดยอาศัยการทำปฏิกิริยาเคมีเชิงกลช่วยในการสกัด(mechanochemical-assisted extraction) การสกัดแบบแช่หมัก (maceration) การสกัดโดยใช้คลื่นไมโครเวฟช่วยการสกัด (microwave-assisted extraction) การสกัดแบบ Instant controlled pressure drop extraction (DIC, from the French, Détente instantanée contrôlée) การสกัดแบบเพอร์สแทรกชันผ่านเยื่อเมมเบรน (perstraction)

การสกัดแบบซอกห์เลตคืออะไร

          การสกัดด้วยเครื่องซอกห์เลต (soxhlet extraction) หรือการสกัดแบบซอกห์เลตนั้น เป็นวิธีที่ใช้ตัวทำละลายจุดเดือดต่ำมาสกัดเอาสารอินทรีย์ออกจากวัตถุดิบที่มีโครงร่างเป็นของแข็ง (solid matrix) การสกัดด้วยวิธีนี้ตั้งชื่อตามผู้คิดค้นวิธีนี้ขึ้นมา นั่นคือ ฟรานซ์ ริตเตอร์ ฟอน ซอกห์เลต (Franz Ritter von Soxhlet) (พ.ศ. 2391–2469) เขาเป็นนักเคมีชาวเยอรมันผู้ทำงานในหัวข้อเกี่ยวกับเคมีของนม และได้พัฒนากระบวนการขึ้นมาในปี พ.ศ. 2422 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแยกไขมันออกจากส่วนของแข็งในนม เนื่องจากวิธีนี้มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านอาหาร พลาสติก และน้ำมัน จึงเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในงานด้านเคมี ชีวเคมี และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เราจะเห็นอุปกรณ์ชนิดนี้ในห้องปฏิบัติการเสมอ จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2523 จึงเริ่มพัฒนาเป็นระบบสกัดซอกห์เลตแบบอัตโนมัติขึ้นมา

          การสกัดซอกห์เลตแบบดั้งเดิมจะต้องใช้ชิ้นส่วนเครื่องแก้วที่เรียกว่า Soxhlet’s extraction tube ซึ่งเป็นท่อสกัดที่เปิดทั้งด้านบนและด้านล่าง มีส่วนแขนสองด้าน เมื่อจะสกัดต้องประกอบเข้าด้วยกันกับเครื่องแก้วอีกสามชิ้น ได้แก่ 1) คอนเดนเซอร์ (condenser) 2) ทิมเบิล (porous thimble เป็นหลอดซึ่งใช้บรรจุตัวอย่างของแข็งที่ต้องการสกัดสารออก) ที่ใส่ไว้ในส่วนล่างของท่อสกัด และ 3) ขวด (flask) ที่เอาไว้ต้มซึ่งวางไว้ด้านล่างเครื่องสกัด จนกลายเป็นชุดสกัดที่สมบูรณ์ดังรูป

          เครื่องทำงานด้วยหลักการง่าย ๆ คือ ตัวทำละลายจะถูกต้มจนไอของมันลอยขึ้นมาในแขนของท่อสกัดและควบแน่นด้วยคอนเดนเซอร์ หยดลงไปบนของแข็งในทิมเบิลไปละลายเอาน้ำมันหรือสารต่าง ๆ ที่ต้องการสกัดออกมาจากตัวอย่าง ซึ่งหลังจากค่อย ๆ สะสมตัวที่ก้นของท่อสกัดจนเพียงพอแล้ว ตัวทำละลายที่มีสารที่ต้องการสกัดปะปนอยู่ก็จะล้นและเกิดกาลักน้ำขึ้นที่แขนอีกข้างของท่อสกัดกลับเข้าไปในขวด เมื่อต้มต่อไปให้เดือด ตัวทำละลายก็จะระเหยขึ้นไปกลั่นตัวที่คอนเดนเซอร์กลับมาหยดลงบนตัวอย่างของแข็งในทิมเบิลไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ทดลองจะตัดสินใจสิ้นสุดการสกัด โดยดูจากสีของตัวทำละลายในทิมเบิลว่าใสแล้ว ในขั้นต่อมาของเหลวในขวดที่ประกอบด้วยตัวทำละลายและสารที่สกัดได้ จะนำไปใส่ในเครื่องระเหย (rotary evaporator) เพื่อระเหยเอาตัวทำละลายออก เหลือแต่สารที่สกัดได้


เครื่องสกัดเย็นของผู้เขียน สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ

การสกัดเย็น (cold pressed) คืออะไร

          การสกัดเย็นหรือการสกัดด้วยวิธีการบีบเย็นเป็นการสกัดโดยใช้เครื่องบีบอัดแบบเกลียว (screw press) ใช้แรงเชิงกลทำการบีบอัด คั้นวัสดุที่ต้องการแยกเอาของเหลว ซึ่งส่วนมากเป็นพวกที่มีวัฏภาคน้ำมันเป็นองค์ประกอบออกมาจากของที่ต้องการสกัด ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารอาจจะเป็นเมล็ดพืชหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช เช่น ใบ หัว ผล ดอก นอกเหนือจากการบีบอัดด้วยเครื่องบีบอัดแบบเกลียวแล้วก็อาจใช้วิธีการหมุนเหวี่ยง (centrifugal process) เพื่อแยกได้อีกวิธีหนึ่ง วิธีนี้ส่วนที่คั้นได้จะพักไว้เพื่อกรองแยกตะกอนละเอียดออกจากส่วนของเหลวที่ต้องการอีกครั้ง ของที่สกัดได้ซึ่งส่วนมากเป็นน้ำมัน จะมีกลิ่นรส สารสำคัญต่าง ๆ คงอยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่ได้ผ่านความร้อนจึงไม่เกิดการสลายตัวไปมาก กระบวนการสกัดแบบนี้ทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ประกอบกับของที่ได้มีคุณภาพดี ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการรายย่อยนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย

การสกัดด้วยตัวทำละลายเหนือวิกฤต

          ในอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ นำการสกัดด้วยตัวทำละลายเหนือวิกฤต (supercritical fluid extraction: SFE) ไปใช้งาน วิธีการนี้ใช้กระบวนการบีบอัดภายใต้ความดันและควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ตัวทำละลายอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ของไหลเหนือวิกฤต ดังแสดงในรูป ซึ่งของไหลที่อยู่ในสภาวะนี้ทำละลายสารที่ต้องการสกัดได้เช่นเดียวกับของเหลว แต่ก็มีสมบัติการซึมผ่านของแข็งที่มีรูพรุนได้ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับก๊าซ กระบวนการนี้จึงใช้ตัวทำละลายในสภาวะนี้บังคับให้ไหลผ่านวัตถุดิบที่ต้องการสกัดสารออกมา ก่อนจะแยกตัวทำละลายเป็นก๊าซหลังจากที่ไปทำละลายสกัดสารที่ต้องการออกมาเสร็จแล้ว 

          อันที่จริงแล้วมีตัวทำละลายหลากหลายชนิดที่มีการศึกษาว่านำมาใช้ทำกระบวนการสกัดแบบ SFE ได้ เช่น โพรเพน เอทิลีน ไนตรัสออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ แอมโมเนีย น้ำ เอทานอล เมทานอล โดยสภาวะที่ตัวทำละลายเหล่านี้ต้องการในการทำให้เป็นสภาวะเหนือวิกฤตแสดงไว้ในตารางที่ 1  ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น เราจะเห็นว่าหลาย ๆ ชนิดอาจต้องการอุณหภูมิและความดันที่สูงมาก อย่างเช่น น้ำ ก็อาจมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันพัฒนาเป็นการสกัดด้วยน้ำที่สภาวะใต้วิกฤตแทน) นอกจากนี้บางชนิดแม้จะเหมาะต่อกาสกัดสารที่มีขั้วสูง แต่ก็ไวไฟ เช่น ไนตรัสออกไซด์ อาจก่อให้เกิดการระเบิด จึงต้องออกแบบเครื่องมือที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งานและใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

          จากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าคาร์บอนไดออกไซด์ได้รับความนิยมใช้เป็นตัวทำละลายในกระบวนการ SFE มาขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ เช่น เมื่ออยู่ในสภาวะเหนือวิกฤตที่อุณหภูมิมากกว่า 31 องศาเซลเซียส และความดันมากกว่า 73.9 บาร์ จะเป็นของไหลที่มีคุณสมบัติคล้ายทั้งก๊าซและของเหลว คือขยายตัวได้ง่ายจนเต็มภาชนะบรรจุและแทรกซึมเข้าไปทุกส่วนของวัสดุที่ต้องการสกัดได้ง่าย รวมถึงละลายของแข็งและของเหลวได้ดี ไม่ติดไฟ ไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่น ไม่เป็นพิษต่อการสัมผัส และยังไล่ให้ออกจากผลิตภัณฑ์สารที่สกัดออกมาได้ง่าย จึงไม่ตกค้าง อย่างไรก็ตามคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีข้อเสียคือใช้สกัดสารประกอบที่มีขั้วได้น้อย แต่ก็ใส่เอทานอลหรือเมทานอลเข้าไปผสมในฐานะสารดัดแปร (modifier) ได้ เพื่อปรับความมีขั้วให้เหมาะสม แต่จะต้องมีการทดลองเพื่อปรับสัดส่วนให้เหมาะสมสำหรับสารแต่ละตัวที่ต้องการสกัด ผู้สนใจไปค้นหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่าสารแต่ละชนิดใช้สัดส่วนเท่าใดบ้าง จากการศึกษาวิจัยกรณีต่าง ๆ ที่มีคนศึกษาไว้จำนวนมาก โดยความเข้มข้นของสารดัดแปร อุณหภูมิ ความดัน และเวลาที่ใช้สกัดจะส่งผลโดยตรงกับปริมาณสารที่สกัดได้ (yield)

เทคนิคด้านกายภาพต่าง ๆ ที่ช่วยให้การสกัดทำได้มากขึ้น

          ในแง่ของการสกัดเอาสารต่าง ๆ ออกจากวัสดุชีวภาพและอาหารนั้น ยังมีกระบวนการที่ใช้ช่วยทำให้ประสิทธิภาพการสกัดดีขึ้น ได้แก่ การใช้กระแสไฟฟ้าแบบพัลส์ (PEF assisted extraction) การให้ความร้อนแบบโอห์มิก (Ohmic heating assisted extraction) การปล่อยไฟฟ้าความต่างศักย์สูง (high-voltage electrical discharge assisted extraction) การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound assisted extraction:  UAE) การใช้ไมโครเวฟ (microwave assisted extraction: MAE) และการใช้วิธีเหล่านี้ร่วมกันเพื่อช่วยให้การสกัดเกิดดีขึ้น

          สำหรับวิธีช่วยให้ประสิทธิภาพในการสกัดสารออกจากวัสดุชีวภาพวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมา ในบทความตอนนี้เราจะกล่าวถึงวิธีแรกก่อน จากนั้นในตอนหน้าจะกล่าวถึงวิธีต่อ ๆ ไปกันครับ

          สำหรับวิธีแรกคือ การใช้กระแสไฟฟ้าแบบพัลส์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัด (PEF assisted extraction) นั้น จะใช้วิธีการปล่อยกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงเป็นสนามแบบพัลส์ ซึ่งปิดเปิดเป็นจังหวะสั้น ๆ ผ่านเข้าไปในเนื้อวัสดุ เมื่อนำเอาอาหารหรือวัสดุชีวภาพเข้าไปผ่านสนามไฟฟ้าแล้ว พบว่าประสิทธิภาพในกระบวนการอบแห้ง การบีบอัด การสกัด และการแพร่ จะดีขึ้น นอกจากนี้ยังนำไปใช้กับกระบวนการที่อาศัยการแพร่ของสารและการอบแห้งตัวอย่างวัสดุชีวภาพที่อุณภูมิต่ำได้ด้วย[7]

          วิธีนี้มีที่มาจากการค้นพบปรากฏการณ์อิเล็กโทรพอเรชัน (electroporation หรือ electropermeabilization) ในช่วงยุคทศวรรษที่ 60-70 ซึ่งพบว่าเมื่อมีศักย์ไฟฟ้าข้ามเยื่อหุ้มเซลล์เพียงพอจะทำให้เสถียรภาพของเยื่อหุ้มเซลล์เสียไป ก่อให้เกิดการยอมให้ซึมผ่านของเยื่อหุ้มเซลล์เพิ่มขึ้น เพราะโดยปกติแล้วเยื่อหุ้มเซลล์ที่ห่อหุ้มเซลล์อยู่จะป้องกันไม่ให้มีการแลกเปลี่ยนตัวกลางภายในและภายนอกเซลล์ได้ง่าย ๆ การใส่สนามไฟฟ้าเข้าไปจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดรูพรุนภายในเยื่อหุ้มเซลล์

          เคยมีผู้สรุปรวบรวมงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ PEF ในงานด้านต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารเอาไว้[8] โดยมีข้อมูลว่าความเข้มของสนามไฟฟ้าที่ต้องใช้เพื่อให้เกิดอิเล็กโทรพอเรชันจะขึ้นกับขนาดของเซลล์ที่นำมาเข้าเครื่อง โดยจะมีค่าความเข้มสนามระดับที่เริ่มทำให้เกิดรู (threshold value) อยู่ที่ 100–500 V/cm สำหรับเนื้อเยื่อที่มีเซลล์ขนาดใหญ่ (30–60 ไมครอน) และ > 3000–10000 V/cm สำหรับเซลล์ของจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็ก (1–10 ไมครอน) ซึ่งรูพรุนที่เกิดขึ้นนี้อาจมีสภาพทำให้เยื่อหุ้มเซลล์เสียหายอย่างถาวร หรือรูอาจเกิดการปิดตัวจนเยื่อหุ้มเซลล์คืนสภาพกลับมาใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขสภาวะผ่านการปรับสภาพด้วย PEF เช่น เวลาที่ให้เซลล์เนื้อเยื่อสัมผัสกับสนามไฟฟ้า สำหรับการช่วยในการสกัดอาจนำมาใช้กับกระบวนการสกัดโดยอาศัยกระบวนการแพร่ เช่น การสกัดน้ำตาลจากบีตรูต (ความเข้มสนาม 670 V/cm เวลาต่อพัลส์ 0.025 วินาที และใช้พลังงาน 5–6 kJ/kg) หรือการสกัดบีตาแคโรทีนจากแคร์รอต

          นอกจากนี้ยังอาจใช้ช่วยสกัดของเหลวหรือน้ำผลไม้จากเนื้อเยื่อผักผลไม้ด้วยแรงเชิงกล โดยผ่านสนามไฟฟ้าแรงสูงแบบพัลส์ ก่อนการนำไปบีบหรือคั้นน้ำออกจากผักผลไม้อีกด้วย ดังรูป

          สำหรับวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัด เราจะมากล่าวถึงกันในบทความตอนต่อไปนะครับ


แหล่งข้อมูล

  1. https://www.nature.com/articles/news.2011.590
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Extraction_(chemistry)
  3. https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2123171119
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_chemistry
  5. https://www.britannica.com/science/separation-and-purification#ref619543
  6. King JW, France JE. Basic principles of analytical supercritical fluid extraction. In: Wenclawiak B, editor. Analysis with supercritical fluids: Extraction and chromatography. Berlin: Springer-Verlag Berlin Heidelberg, 214.
  7. Lebovka, Nikolai, Eugene Vorobiev, and Farid Chemat, eds. Enhancing extraction processes in the food industry. Boca Raton: Crc Press, 2012.
  8. Barba, Francisco J., et al. “Current applications and new opportunities for the use of pulsed electric fields in food science and industry.” Food research international 77 (2015): 773-798.

About Author