Headlines

บทที่ 2 ตอนที่ 4 โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง

 


 

          ต้นฤดูใบไม้ผลิ กลางเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2449 ครอบครัวกูรีไปพักผ่อนสุดสัปดาห์ที่ St.Remy ได้อาบแดดสูดอากาศสดชื่น แถบชนบท เดินเล่นในทุ่งหญ้า เก็บดอกไม้ ไล่ผีเสื้อ อีกครั้งหนึ่ง วันจันทร์หลังอาหารค่ำ ปิแอร์มีธุระต้องกลับปารีสก่อน วันพุธฝนตก อากาศเย็น มารีพาครอบครัว (และพี่เลี้ยงเด็ก) กลับปารีส คืนนั้นทั้งคู่มีนัดทานอาหารค่ำร่วมกับกลุ่มสมาชิกสถาบัน ปิแอร์คุยกับปวงกาเรถึงเรื่องควรเพิ่มวิชาวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษา ช่วงนั้นปิแอร์เริ่มสนใจในศาสตร์ทาง telekinesis และคุยถึงเรื่องนี้ด้วย วันรุ่งขึ้น พฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2449 ปิแอร์มีนัดประชุมกลุ่มสมาชิกสมาคมอาจารย์วิทยาศาสตร์ (Association of Professors of Science Faculties) ซึ่งเพิ่งก่อตั้ง ปิแอร์ซึ่งปกติต่อต้าน ‘สถาบัน’ ทุกชนิด สนใจเข้าประชุมเพราะคิดว่าเขาจะได้มีเสียงในการพิจารณาว่าใครจะได้เลื่อนขั้นหรือไม่ มิฉะนั้นอำนาจนี้จะอยู่ในกำมือของผู้มีอิทธิพลเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น หัวข้อประชุมในวันนั้นอีกข้อหนึ่งคือความปลอดภัยในห้องแล็บ เสนอกฎระเบียบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในแล็บ

          เมื่อปิแอร์ออกจากที่ประชุม ฝนตกหนัก เขากางร่มเดินออกมาที่ถนน มุ่งหน้าไปทางสถาบันวิทยาศาสตร์ เพื่อแวะไปใช้ห้องสมุดของสถาบันที่อยู่เลียบแม่น้ำเซน ระหว่างทางเขาแวะไปปรู๊ฟต้นฉบับที่ Gauthier-Villars สำนักพิมพ์วารสาร Comptes rendus ที่อยู่ตรงท่าเรือ Grands Augustine ก่อน ปรากฏว่าสำนักพิมพ์ปิดเนื่องจากคนงานสไตรก์ เขาจึงมุ่งหน้าไปตามถนน rue Dauphine เลียบท่าเรือ อีกบล็อกหนึ่งก็จะถึงสถาบันวิทยาศาสตร์ ตรงทางแยกระหว่าง rue Dauphine กับสะพาน Neuf นั้น เต็มไปด้วยผู้คนเดินเท้า คนข้ามถนน การจราจรขวักไขว่ วุ่นวายไปด้วยพาหนะต่างๆ รถราง รถยนต์ ตลอดจนม้าและรถบรรทุกเทียมม้า ขณะข้ามถนน ปิแอร์ประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกเทียมม้าขนาดใหญ่ (ยาว 30 ฟุต) บรรทุกเต็มโหลดแล่นทับหัวกะโหลกเสียชีวิตทันที ผลการสอบสวนสรุปว่า คนขับรถบรรทุกเทียมม้าไม่มีความผิด เป็นอุบัติเหตุจากสภาพอากาศ ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี และจากความใจลอยของปิแอร์


ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Accident-pierre-curie.jpg

          ข่าวอุบัติเหตุนี้แพร่ไปทั่วโลก โลกสูญเสียนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะก่อนเวลาที่ควรไปหนึ่งคน สำหรับมารี เธอสูญเสียสามีผู้เป็นที่รัก เพื่อนร่วมงานวิจัยที่รู้ใจ ปิแอร์ตายเมื่ออายุ 47 ปี (เป็นวันเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในซานฟรานซิสโก) ขณะนั้นมารีมีอายุเพียง 39 ปี

          ซอร์บอนน์ขอให้เธอรับช่วงตำแหน่งและงานของปิแอร์ทั้งหมด เธอจึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้สอนที่ซอร์บอนน์และรั้งตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาฟิสิกส์และผู้อำนวยการห้องทดลองด้วย

          ต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณชนทั่วไป มารีเงียบขรึม สำรวม ไม่ตีโพยตีพาย ดำเนินชีวิตเป็นปกติ มารีมุ่งมั่นทำงานบ้าน งานสอน งานวิจัย และสานต่องานที่ปิแอร์เริ่มไว้ต่อไป แต่ยามอยู่คนเดียวที่บ้านหรือในห้องแล็บ ตลอดเวลาหนึ่งปีหลังจากนั้น เธอเขียนบันทึกรำลึกถึงเหตุการณ์ความทรงจำต่างๆ เมื่อปิแอร์ยังมีชีวิตอยู่อย่างละเอียด เหมือนพูดกับปิแอร์โดยตรง มีบางครั้งเอ่ยถึงเขาในฐานะบุคคลที่สาม บ่งถึงความรู้สึกสิ้นหวังและท้อแท้ (บันทึกนี้เผยแพร่ต่อสาธารณชนในปี พ.ศ. 2533)

          เรื่องการเล่าเรียนของลูกๆ มารีใช้วิธีการแบบใหม่ เธอรวบรวมกลุ่มเพื่อนอาจารย์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ผู้มีลูกในวัยเรียน มาผลัดกันสอนวิชาเหล่านั้นตามบ้านอาจารย์แต่ละคน พอล แลงจ์แวง สอนคณิตศาสตร์ ฌ็อง แปแร็งสอนฟิสิกส์ มารีสอนเคมี เด็กๆ ได้ใช้ห้องทดลองที่โรงเรียนเคมีและฟิสิกส์ และที่ซอร์บอนน์ประกอบการเรียน ได้ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ในการเรียนศิลปะด้วย โปรแกรมนี้ดำเนินอยู่สองปี เวลานอกห้องเรียน มารีสนับสนุนให้ลูกๆ เล่นออกกำลังกายกลางแจ้ง ขี่จักรยาน เล่นสกี ไม่ให้อยู่นิ่งๆ ตามแนวการศึกษาที่เธอกับปิแอร์เห็นว่าดีกว่าที่สอนตามโรงเรียนทั่วไป คือเน้นทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยามากกว่าทางคลาสสิก


ภาพจาก https://www.espci.psl.eu/?page=article-print&id_article=9863

          ในปี พ.ศ. 2450 มารีด้วยความร่วมมือจากอ็องเดร เดอบีแยน (Andre Debierne) สกัดได้เรเดียมบริสุทธิ์ และวัดมวลอะตอมอย่างละเอียดขึ้น ได้ผลลัพธ์ 226.45 ในตารางธาตุปัจจุบัน ค่าน้ำหนักเชิงอะตอมของเรเดียมมีค่า 226

          มารีรับเป็นผู้เตรียมหลอดแก้วบรรจุสารประกอบเรเดียมคลอไรด์บริสุทธิ์ที่ใช้เป็นหน่วยวัดปริมาณเรเดียม มาตรฐานนานาชาติที่เก็บไว้ที่ Office of Weights and Measures ที่เซฟเรส ใกล้ๆ ปารีส

          เมื่อมีการประยุกต์ใช้กัมมันตภาพรังสีจากเรเดียมในการรักษาโรค มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีวิธีการวัดเรเดียมปริมาณน้อยๆ อย่างแม่นยำ มารีพบว่าปริมาณเรเดียมมีปฏิภาคสัมพันธ์โดยตรงกับรังสีที่แผ่ออกมา ทางการแพทย์ใช้วิธีนี้วัดรังสีที่ใช้แทนการวัดปริมาณเรเดียมโดยตรง หน่วยวัดปริมาณรังสี “คูรี” ที่ใช้ในปัจจุบันมีที่มาจากการค้นพบนี้


ภาพจาก https://www.biblioctopus.com/pages/books/447/marie-curie/

          ในปี พ.ศ. 2453 มารีรวบรวมเอกสารงานสอนทางกัมมันตภาพรังสีที่ซอร์บอนน์พิมพ์เป็นตำราชื่อว่า Treatise on Radioactivity

About Author