Headlines

ม.มหิดล เดินหน้า “มหิดลแชนแนล” (Mahidol Channel) สู่ปีที่ 9

          ตลอดเวลา 8 ปีที่ “มหิดลแชนแนล” (Mahidol Channel) ได้สร้างสรรค์รายการต่างๆ ด้วยศาสตร์และศิลป์ ภายใต้แนวคิด “An Edutainment Variety of Arts and Sciences” ซึ่งนำเสนอความรู้ที่สนุกสนานเพลิดเพลิน

          มาในปี 2563 นี้ มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ได้ก้าวสู่ปีที่ 9 และยังคงมุ่งมั่นผลิตรายการตามปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่พึ่งของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “Trusted Content for Well-being”

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ก่อตั้งมหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ได้กล่าวเนื่องในโอกาสที่ มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ก้าวสู่ปีที่ 9 ว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างสรรค์รายการที่เสนอสาระความรู้เพื่อประชาชนอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องจนมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ได้เป็นที่พึ่งทางปัญญาให้ประชาชนเชื่อมั่นวางใจได้ในยามที่ประเทศผจญกับวิกฤติ เสนอรายการที่ให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นจริง และทันต่อเหตุการณ์ สิ่งที่อยากจะเห็น มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ในปีที่ 9 และปีต่อๆ ไปในอนาคต คือ การยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์รายการที่มีคุณภาพโดยสนองความต้องการของสังคมแบบเชิงรุก โดยมุ่งเน้นไปที่คนทุกกลุ่ม ใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการเสริมปัญญา และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างทันเหตุการณ์

          การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกโดยสถาบันต่างๆ นั้นให้ความสำคัญด้านงานวิจัย และการศึกษาเป็นหลัก แต่ควรพิจารณาด้วยว่ามหาวิทยาลัยทำประโยชน์ให้สังคมได้มากน้อยเพียงใด โดยในประเด็นนี้ มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) จะเป็นต้นแบบที่สำคัญของมหาวิทยาลัยในดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่สังคมได้อย่างแท้จริง

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านปัจจุบัน ได้กล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ผ่านมหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ไปยังประชาชน จนได้ดำเนินงานสู่ปีที่ 9 โดยมีพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน (Partnership) 2. เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Mutual Benefit) 3. มีการใช้ความรู้และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Scholarship) และ 4. เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (Social Impact) เพื่อรองรับสังคมแห่งชีวิตวิถีใหม่ (NEW NORMAL) ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

          ในส่วนของผังรายการในปีที่ 9 มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ยังคงผลิตรายการเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยุค NEW NORMAL ที่ออนไลน์กันมากขึ้น ให้ติดตามต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นไปที่การใส่ใจสุขภาพในเชิงป้องกัน ทำอะไรด้วยตัวเอง ลดกิจกรรมนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น ใช้เงินน้อยลง ฯลฯ โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ติดตามได้เป็นส่วนหนึ่งของมหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ในช่องทางการสมัครสมาชิก YouTube ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในการติดตามชมรายการแบบ Exclusive ที่สามารถดูคลิปเฉพาะสมาชิก ได้ชม live พร้อมสามารถร่วมเสนอเรื่องและความคิดเห็นในการสร้างสรรค์รายการ ค่าสมาชิกสมทบทุนมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล

          ซึ่งการนำเสนอรายการของมหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) จะอยู่ในรูปแบบที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ ตลอดจนไม่ถูกจำกัดด้วยผลประโยชน์ใดๆ ในเชิงพาณิชย์

          รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ในปัจจุบัน นอกจากเผยแพร่รายการผ่านทางเว็บไซต์ https://channel.mahidol.ac.th แล้ว ผู้ชมยังสามารถติดตามได้ทาง Facebook : Mahidol Channel และ YouTube : Mahidol Channel ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจนปรากฏยอด view เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

          มหิดลแชนแนล (Mahidol Channel) ปีที่ 9 จะมุ่งผลิตรายการเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง ด้วยการเสนอองค์ความรู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันซึ่งมีเนื้อหาที่กระชับมากขึ้น ตอบโจทย์ lifestyle คนรุ่นใหม่ ให้สามารถใช้ชีวิตปกติใหม่อย่างมีความสุข ซึ่งต่อไปจะมีการทดลองเพิ่มช่องทางให้สามารถติดตามได้ทางแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) พ็อดคาสท์ (Podcast) และ TikTok


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210

About Author