ขยายผลวิจัยเพื่อความเข้าใจหลากหลายทางเพศสู่นโยบาย

          สิ่งที่ยากจะเปลี่ยนแปลง คือ “ค่านิยม” ของคนในสังคม จึงนับเป็นความท้าท้ายสำหรับนักวิชาการไทยในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจรอช้า

          รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) และประธานสาขาการจัดการที่ยั่งยืน (Managing for Sustainability) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้เปิดเผยถึงการต่อยอดโครงการวิจัยสร้างเครื่องมือเพื่อความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางเพศ (Gender Toolkit for LGBTQ+ in Business)


รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา
ผู้ช่วยคณบดีด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) และประธานสาขาการจัดการ
ที่ยั่งยืน (Managing for Sustainability)
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)

          โดยเริ่มต้นศึกษาจากภาคธุรกิจ เพื่อทลายกำแพงอุปสรรคของการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของพนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และจะได้มีการปรับใช้กับการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อมุ่งผลักดันสู่ระดับนโยบายต่อไป

          เป็นโครงการวิจัยที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG5 แห่งสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ที่อาจส่งผลต่อการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งมีการเปิดกว้างในด้านดังกล่าวที่ชัดเจนกว่าในระดับชาติ

          เครื่องมือเพื่อความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางเพศที่สร้างนี้ จัดทำเป็น “คู่มือ” โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ในการบริหารบุคลากร สร้างความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และปฏิบัติต่อ “เพศทางเลือก” โดยคำนึงถึง “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ซึ่งรวมถึงการออกกฎระเบียบ และสวัสดิการต่างๆ ด้วยความเท่าเทียมกัน

          รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา มองว่าในการปรับเปลี่ยนจำเป็นต้องพิจารณาของบริบทของสังคมไทย ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบ “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งการ “มุ่งผลในระยะยาว” อาจต้องทำแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ก่อนขยายผลให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์ในระดับนโยบาย และคาดว่าด้วย “พลังของคนรุ่นใหม่” จะทำให้การปรับตัวเพื่อการสร้าง “ค่านิยม” ให้เกิดการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศตามการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไปไม่ใช่เรื่องยาก

          เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล จากการสามารถคว้ารางวัล Innovations that Inspire จากผลงาน “Gender Toolkit for LGBTQ+ in Business” ที่ได้ส่งเข้าประกวดในโครงการ 2023 Innovations that Inspire จัดโดย สถาบันการรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านการบริหารธุรกิจ
และการบัญชีในระดับสากล (AACSB – Association to Advance Collegiate Schools of Business)

          ก้าวต่อไป เตรียมพัฒนาสู่การจัดตั้งขึ้นเป็นหลักสูตร ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development: UNDP) ประเทศไทย โดยหวังปลูกฝังคนไทยรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในวิถีของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดย “ไม่เลือกปฏิบัติ” ด้วยจิตสำนึกแห่งการเคารพใน “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author