ผลของรักข้ามสายพันธุ์ ม้านิลมังกรนั้นหรือคือ…กะเทย

โดย รักษ์ศักดิ์ สิทธิวิไล


          ม้านิลมังกร สัตว์วิเศษที่เป็นพาหนะของสุดสาครในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี สร้างขึ้นตามจินตนาการของท่านสุนทรภู่ กวีเอกของไทย คาดว่าสุนทรภู่ได้รจนา ม้านิลมังกรมาจากตำนานกิเลนของประเทศจีนมาอีกที โดยได้บรรยายถึงลักษณะของม้านิลมังกรไว้ว่า

“พระทรงศีลยินสุดสาครบอก               นึกไม่ออกอะไรกัดหรือมัจฉา
จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา               ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ                ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน
หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์           พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน
จึงนึกว่าม้านี้มันมีฤทธิ์                        จำจะคิดจับไว้ให้พระหลาน
ได้ตามติดบิตุรงค์พบวงศ์วาน                สิทธาจารย์ดีใจจึงไขความ”

          กล่าวคือ สุนทรภู่คงเห็นว่าสัตว์ประหลาดชนิดนี้เป็นลูกผสมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างแม่ม้ากับพ่อมังกร ซึ่งเป็นสัตว์คนละชนิดกัน ลูกที่ออกมาจึงเป็นครึ่งม้าครึ่งมังกร มีหัวเป็นมังกรเหมือนพ่อ ส่วนตัวจนถึงขาเป็นม้าเหมือนแม่ นอกจากนี้ท่านยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เจ้าม้านิลมังกรตัวนี้แท้จริงแล้วมันมีเพศเป็นกะเทยดังบทกล่าวที่ว่า

          “ม้าตัวนี้ดีจ้านเจียวหลานเอ๋ย      เป็นกะเทยเขี้ยวเพชรไม่เข็ดขาม
          จับไว้ขี่มีสง่ากล้าสงคราม           จะได้ตามบิตุเรศไปเขตคัน”

          แนวคิดเรื่องเพศนี้น่าจะได้มาจากต้นแบบของ “สัตว์ลูกผสม” ที่ผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีมายาวนานจนทุกวันนี้นั้นคือ “ล่อ (mule) เป็นลูกผสมระหว่าง “ลาตัวผู้” กับ “ม้าตัวเมีย” มีลำตัวและขาเรียวงามคล้ายม้า แต่หน้าตาละม้ายคล้ายลา และเป็นหมันไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้ (มีหลักฐานการขุดพบฟอสซิลของ “ล่อ” ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์เริ่มผสมพันธุ์ล่อมาใช้งานกว่า 3,000 ปีที่แล้ว และจากบันทึกของชาวกรีกโบราณที่เขียนไว้ว่านิยมเลี้ยงล่อเพื่อใช้ลากเกวียน ทำนา และเคยนำล่อเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก เมื่อ 2,500 ปีก่อนอีกด้วย) 


ล่อ ลูกผสมจากพ่อลากับแม่ม้า

          กลับสู่ความเป็นจริงการผสมข้ามสายพันธุ์เกิดขึ้นได้ยากในธรรมชาติ มีโอกาสน้อยมากที่สัตว์ต่างสายพันธุ์จะจับคู่ผสมพันธุ์กันด้วยพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีหรือถิ่นอาศัยต่างกัน ซ้ำโอกาสลูกที่เกิดมาก็เป็นหมันหรือมีอัตรารอดชีวิตต่ำ ความบกพร่องนี้จึงเหมือนกฎต้องห้ามตามการคัดเลือกของธรรมชาติ ด้วยกลไกที่เรียกว่า pre-zygomatic & post-zygomatic isolation mechanism เพื่อช่วยรักษาสายวิวัฒนาการอันยาวนานของแต่ละสายพันธุ์เดิมเอาไว้ไม่ให้เกิดการผ่าเหล่าแบบก้าวกระโดด ลดการสูญเปล่าของเซลล์สืบพันธุ์ เสียพลังงานในการจับคู่ ตั้งท้อง และดูแลลูกที่อาจไม่สมบูรณ์และสืบพันธุ์ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีเราสามารถพบลูกผสมตามธรรมชาติได้บ้าง เช่น grolar bear (หมีขั้วโลกสีขาว+หมีกริซลีสีน้ำตาล) narluga (วาฬนาร์วาล+วาฬเบลูกา) หรือ coywolf (หมาป่าไคโยตี+หมาป่าสีเทา)

          ในทางกลับกัน การผสมข้ามสายพันธุ์ของสัตว์ตระกูลเดียวกันประสบผลสำเร็จง่ายมากในการเพาะเลี้ยง เพราะสัตว์สูญเสียพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ไป

          ตัวอย่างของสัตว์ในพื้นที่เลี้ยงที่ผสมข้ามสายพันธุ์สำเร็จ ได้แก่

  • ล่อ (mule) เกิดจาก พ่อลา (donkey) + แม่ม้า (horse)
  • ฮินนี (hinny) เกิดจาก พ่อม้า (horse) + แม่ลา (donkey)
  • ฮีบรา (hebra) เกิดจาก พ่อม้า (horse) + แม่ม้าลาย (zebra)ซอร์ส (zorse) เกิดจาก พ่อม้าลาย (zebra) + แม่ม้า (horse)
  • ซองกี (zonkey) เกิดจาก พ่อม้าลาย (zebra) + แม่ลา (donkey)
  • ดองกรา (donkra) เกิดจาก พ่อลา (donkey) + แม่ม้าลาย (zebra)
  • ยักคาโล (yakalo) เกิดจาก จามรี (yak) + ควายไบซัน (bison)
  • โฮลฟิน (wholphin) เกิดจาก พ่อวาฬเพชฌฆาตดำ (false killer whale) + แม่โลมาปากขวด (bottlenose dolphin)

          การเกิดลูกผสมในเชิงชีววิทยาเกิดได้ในหลายระดับ โดยในระดับที่เกิดง่ายที่สุด คือ การผสมภายในชนิด (species) เช่น การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างสุนัขบ้านสายพันธุ์ (variety) ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสุนัขลักษณะใหม่ที่เหมาะสมกับการใช้งาน 


ซองกี ลูกผสมจากพ่อม้าลายกับแม่ลา

          อีกระดับหนึ่งคือการผสมข้ามพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน แต่ยังอยู่ในสกุล (genus) เดียวกัน ซึ่งมีจำนวนโครโมโซมใกล้เคียงกัน (จำนวนคู่ของโครโมโซมแตกต่างกันบางส่วนจึงทำให้จับคู่กันได้ไม่สมบูรณ์) เช่น ไลเกอร์ (liger) กับ ไทกอน (tigon) เป็นลูกผสมของเสือกับสิงโต (ทั้งคู่อยู่ในสกุล Panthera เหมือนกัน) และบ่อยครั้งก็มีลูกผสมที่เป็นสัตว์ต่างสกุลแต่อยู่ในวงศ์ (family) เดียวกัน เช่น geep/shoat ลูกผสมระหว่างแกะ (สกุล Ovis) กับแพะ (สกุล Capra) ซึ่งทั้งพ่อและแม่ต่างอยู่ในวงศ์ย่อย Caprinae หรือลูกผสมระว่างงูเหลือมกับงูหลามที่อยู่ในวงศ์ Pythonidae


กริฟฟอน

           ส่วนลูกผสมในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างวงศ์กันเป็นเรื่องที่พบไม่บ่อย เช่น ลูกผสมระหว่างนกยูงอินเดียที่อยู่ในวงศ์ Phasianidae กับไก่ต๊อกที่อยู่ในวงศ์ Numididae แต่ทั้งคู่อยู่ในอันดับ (order) Galliformes และยิ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในต่างอันดับด้วยแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบเลย นอกจากในนิยายเท่านั้น เช่น กริฟฟอน (Griffon) ที่เป็นลูกผสมของสิงโตและนกอินทรี หรือฮิปโปกริฟ ลูกผสมของกริฟฟอนกับม้า 


ลูกผสมแพะกับแกะ

          ในบรรดาลูกผสมข้ามสายพันธุ์ทั้งหมด ลูกผสมวงศ์เสือและแมว (Felidae) เป็นกลุ่มที่มีการศึกษากว้างขวางมากที่สุด ทั้งเรื่องของยีนควบคุมขนาดร่างกาย ลักษณะขนแผงคอ ลวดลายบนตัว เพื่อใช้ประโยชน์ในแง่การศึกษาพันธุกรรม ตัวอย่างของการผสมข้ามสายพันธุ์ในวงศ์นี้ เช่น

  • ไทกอน (tigon) เกิดจาก พ่อเสือโคร่ง (tiger) + แม่สิงโต (lion)
  • ไลเกอร์ (liger) เกิดจาก พ่อสิงโต (lion) + แม่เสือ (tiger)
  • ลีโอพอน (leopon) เกิดจาก พ่อเสือดาว (leopard) + แม่สิงโต (lion)
  • ไลพาร์ด (lipard) เกิดจาก พ่อสิงโต (lion) + แม่เสือดาว (leopard)จากลิออน (jaglion) เกิดจาก พ่อเสือจากัวร์ (jaguar) + แม่สิงโต (lion)
  • ไลกัวร์ (liguar) เกิดจากพ่อสิงโต (lion) + แม่เสือจากัวร์ (jaguar)
  • พูมาพาร์ด (pumapard) เกิดจากสิงโตภูเขา (puma) + เสือดาว (leopard)

          เดิมทีนักสัตววิทยาเชื่อกันว่าไทกอนและไลเกอร์นั้นเป็นหมัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 พบว่า ไทกอนตัวเมียตัวหนึ่งที่อยู่ร่วมกับเสือ ตกลูกออกมาเป็นไทไทกอน (ti-tigon) ส่วนไลเกอร์เพศผู้นั้นยืนยันได้ว่าเป็นหมันแน่นอน แม้มันจะผสมพันธุ์ตามปกติเมื่อถึงฤดู ผิดกับตัวเมียที่ปกติดี

          สรุปได้ว่าลูกผสมกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นหมันทั้งหมด ส่วนใหญ่ตัวผู้เท่านั้นที่เป็นหมัน ตัวเมียยังสามารถตั้งท้องและมีลูกได้

          ตัวอย่างสัตว์ผสมข้ามสายพันธุ์รุ่นสองนี้ได้แก่

  • ไล-ไทกอน (li-tigon) = พ่อสิงโต (lion) + แม่ไทกอน (tigon)
  • ไล-ไลเกอร์ (li-liger) = พ่อสิงโต (lion ) + แม่ไลเกอร์ (liger)
  • ไท-ไทกอน (ti-tigon) = พ่อเสือ (tiger) + แม่ไทกอน (tigon)
  • ไท-ไลเกอร์ (ti-liger) = พ่อเสือ (tiger) + แม่ไลเกอร์ (liger)

         เมื่อกลับมาดูม้านิลมังกรพระเอกของเรา จากความเป็นไปได้ทั้งหมดที่กล่าวมา การที่ม้ากับมังกรจะผสมข้ามสายพันธุ์กันได้จำเป็นต้องอยู่ในสกุลเดียวกัน หรืออย่างน้อยในอันดับเดียวกันเท่านั้น หากลูกออกมาเป็นม้านิลมังกรตัวผู้ ก็จะเป็นหมันหรือกะเทยตามที่ท่านสุนทรภู่ว่าไว้ แต่หากพลิกผันเกิดเป็นม้านิลมังกรเพศเมียก็อาจไม่เป็นหมัน สามารถมีทายาทสืบต่อไปก็เป็นได้ (ถ้าโลกนี้มีมังกรอยู่จริง ๆ นะ)

          รักข้ามสายพันธุ์แบบนี้ไม่เพียงแต่จะพบได้ในสัตว์เท่านั้น มีหลักฐานและร่องรอยมากมายที่ชี้ว่าในอดีตเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์ในสกุลโฮโม (Homo) ด้วยเช่นเดียวกัน จากผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอในชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์โบราณที่พบในถ้ำเดนิโซวาของรัสเซียชี้ว่าเจ้าของชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวเป็นเด็กที่มีแม่เป็นนีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) แต่มีพ่อเป็นเดนิโซวาน (Homo denisovan) และจากหลักฐานทางโบราณคดีและกระดูกที่ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2545 จากถ้ำใต้ดินในเทือกเขาคาร์เพเทียนของโรมาเนีย ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอในเวลาต่อมาชี้ว่ามีพันธุกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในตัว 6-9 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ามีบรรพบุรุษ 4-6 รุ่นที่แล้วเป็นลูกผสมระหว่างมนุษย์ยุคใหม่ (Homo sapiens sapiens) กับนีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) การกระชับความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่างสายพันธุ์ในครั้งอดีตเหล่านี้ส่งผลให้ชาวยุโรปและเอเชียยุคปัจจุบันมีดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ทัลปนอยู่ 1-6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนชาวเมลานีเซีย (หมู่เกาะแปซิฟิก) มีดีเอ็นเอเดนิโซวานปนอยู่ประมาณ 4-6 เปอร์เซ็นต์ แม้นีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซวานได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้กว่า 40,000 ปีแล้วก็ตาม


อ้างอิง

https://www.independent.co.uk/news/science/coywolf-new-coyotewolf-hybrid-sees-explosion-in-numbers-a6717151.html

https://lion_roar.tripod.com/Liger_Tigon.html

 

About Author