การเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนา เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การวิจัยและพัฒนาอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามแนวทางจริยธรรมการวิจัยและกฏหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่พึงตระหนัก สวทช. ได้จัดตั้งฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย (The Office of Research Integrity, ORI) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยให้ถูกต้อง สอดคล้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งรับผิดชอบในการรับแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนทางด้านพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัย (Research Misconduct) เพื่อนำเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการสืบสวนและพิจารณาต่อไป
Research integrity หมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริตในการวิจัย โดยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ แนวทาง มาตรฐานวิชาชีพ และหลักจริยธรรมการวิจัย ซึ่งในทางปฏิบัติ คือ การทำวิจัยในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นมีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในวิธีการทดลองที่ใช้และผลการวิจัยที่เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
- ความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ในการนำเสนองานวิจัย การทำวิจัย และการรายงานผลวิจัย
- การแจ้งหรือประกาศการขัดกันของผลประโยชน์ (Conflicts of Interest)
- ความถูกต้องและเป็นธรรม ในการมีส่วนร่วมต่อข้อเสนอโครงการวิจัยและการรายงานผล
- การปกป้องคุ้มครองอาสาสมัครตามหลักจรรยาบรรณการวิจัยในมนุษย์
- ความเชี่ยวชาญและเป็นธรรมในการตรวจทานงานวิจัย
- การดูแลและปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมตามหลักจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์
- การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มวิจัยในเชิงวิชาการ การสื่อสาร และการแบ่งปันข้อมูลหรือทรัพยากร
- ความยึดมั่นต่อการรับผิดชอบร่วมกันระหว่างที่นักวิจัยที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงและผู้ฝึกปฏิบัติงาน
เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยและผลงานทางวิชาการของ สวทช. ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และเชื่อถือได้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในกรณีที่มีข้อสงสัย หรือพบเห็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัย (Research misconduct) ได้แก่
1. Fabrication การสร้างข้อมูลเท็จหรือการปั้นแต่งข้อมูลวิจัย
2. Falsification การปลอมแปลงข้อมูลหรือผลการวิจัย
3. Plagiarism การคัดลอกงานวิจัยของตนเองและผู้อื่น โดยไม่มีการอ้างถึง แหล่งข้อมูลที่ได้มา
4. อื่นๆ
ท่านสามารถแจ้งเบาะแสและร้องเรียนพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัยดังกล่าว ผ่านทางช่องทางที่ให้ไว้ด้านล่าง
ทั้งนี้:
1. สวทช. จะรักษาข้อมูลที่ได้รับเป็นความลับ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและตัวตนของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนต่อสาธารณชน
2. ข้อมูลการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนที่ระบุต้องเป็นความจริง
3. หากข้อมูลไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตรวจสอบและสืบหาข้อเท็จจริงได้ สวทช. จะยุติเรื่อง และเก็บบันทึกเป็นข้อมูลในระบบฐานข้อมูล
4. ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนสามารถเลือกเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ระบุชื่อ-สกุล หรือ อีเมล์ของท่าน อย่างไรก็ตาม การให้ชื่อและอีเมล์จะเป็นประโยชน์ในการติดตามผลและการสืบหาข้อเท็จจริง รวมทั้งเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล
ข้อมูลสำหรับแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน
1. รายละเอียดเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบทางจริยธรรมการวิจัย (โปรดแนบหลักฐานเพิ่มเติม)*
2. อีเมล์
3. ชื่อ-สกุล
หมายเหตุ: ข้อมูลสำหรับแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน ข้อ 2) อีเมล์ และ 3) ชื่อ-สกุล ผู้แจ้งเบาะแสสามารถละเว้นไว้หรือใช้อีเมล์แฝง/นามแฝงได้ อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลในการติดต่อกลับ จะเป็นประโยชน์ในการติดตามผลและการสืบหาข้อเท็จจริง รวมทั้งเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล
ท่านสามารถส่งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนของท่านมาที่อีเมล์: ORI2@nstda.or.th
หรือแจ้งเบาะแสผ่านทางระบบออนไลน์ คลิก
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)
ORI@nstda.or.th
โทรศัพท์: 0-2564-7000 ต่อ 71842