แนะนำตัวแทน ปี 2556

นายนัทธี สุรีย์
ปัจจุบัน : อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี แขนงชีวเคมีและชีวเคมีเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเคมี จาก University of California, Los Angeles สหรัฐอเมริกา
สนใจงานวิจัยทางด้าน : การค้นหาตัวยาในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีแบบหายขาด การพัฒนาระบบสัตว์ทดลองขนาดเล็กให้มีระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และการพัฒนาระบบสัตว์ทดลองเพื่อการศึกษาการติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลันเพื่อการพัฒนาตัวยาและวัคซีนต้านเอดส์“
การเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ปี พ.ศ. 2556 นับว่าเป็นโอกาสอันสูงส่งของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ทั่วโลก ที่ได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัสกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับรางวัลโนเบล อีกทั้งยังได้รับรู้ถึงการพัฒนา การส่งเสริมอย่างจริงจังทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสาธารณรัฐสิงคโปร์ และการเข้าร่วมในครั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ก็เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแห่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวินิจฉัยคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุม อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมพิธีเปิด และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนจากประเทศไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้รับการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในทุกขั้นตอนของการเข้าร่วมการประชุมจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงถือได้ว่าโอกาสและประสบการณ์ที่ได้ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ประมาณค่ามิได้ในชีวิตนักวิจัยคนหนึ่งอย่างข้าพเจ้า”

นายทวีธรรม ลิมปานุภาพ
ปัจจุบัน : อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเคมี จาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย
สนใจงานวิจัยทางด้าน : computational and theoretical chemistry, computer software, applied mathematics, applied physics โครงการวิจัยที่ทำอยู่แบ่งออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือการพัฒนาโปรแกรมที่ประมวลผลแบบขนานเพื่อการคำนวณทางเคมี โดยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์แบบใหม่ในการหาคำตอบของสมการชเรอดิงเงอร์ ส่วนแนวทางที่สองคือการใช้โปรแกรมที่มีอยู่ในปัจจุบันศึกษาปัญหาทางเคมี
“GYSS เป็นมากกว่าการนำนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กับนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ประสบความสำเร็จมาพูดคุยกัน เป็นมากกว่าการประชุมลินเดาขนาดย่อมในทวีปเอเชียแต่เป็นสัญลักษณ์ว่าวงการวิทยาศาสตร์ในสิงคโปร์ตื่นตัวแล้วและพร้อมจะก้าวไปอีกขั้นอย่างโลกตะวันตก การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เห็นแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนวิทยาศาสตร์ในประเทศที่มีวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกับเรา ซึ่งอาจนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ นอกจากนี้ยังรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทย”

นายธเนษฐ ปราณีนรารัตน์
ปัจจุบัน : นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาชีวสารสนเทศศาสตร์ ณ University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีวสารสนเทศศาสตร์ จาก University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น
สนใจงานวิจัยทางด้าน : การพัฒนาระบบแสดงผลข้อมูล (visualization) เครือข่ายทางชีววิทยา (biological networks) ที่มีขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อนักชีววิทยา
“ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ GYSS@One-North ในปีนี้ การร่วมงานประชุมดังกล่าวได้เปิดโลกทัศน์ของข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก อาทิ การพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเรื่องที่เป็นที่สนใจของวงการในยุคปัจจุบัน อุปนิสัยและแรงบันดาลใจของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายๆ ท่าน รวมถึงได้มีประสบการณ์พบปะกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากหลายสาขาอีกด้วย นอกจากนี้ การทัศนศึกษาในพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานต่างๆ ของประเทศสิงคโปร์ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่าวิทยาศาสตร์และความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านมากเพียงใด ข้าพเจ้าจักนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ ไปใช้พัฒนาประเทศในด้านที่ข้าพเจ้าสามารถกระทำได้อย่างเต็มความสามารถ และจะนำความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

นางสาวสาธิตา ตปนียากร
ปัจจุบัน : นักวิจัยประจำศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีวเคมี จาก University of Oxford สหราชอาณาจักร
สนใจงานวิจัยทางด้าน : Molecular Immunology, Molecular Biophysics, Nanomedicine, Nano-biosensor, Computational Biology, Structural Biology
“ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่พระองค์ได้พระราชทานโอกาสในการเข้าร่วมการประชุม GYSS ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ แก่ข้าพเจ้า ซึ่งนับเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้าในการเข้าฟังบรรยาย และพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เช่น Prof. Hartmut Michael และ Sir Richard Roberts เป็นต้น นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำในสิงคโปร์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ข้าพเจ้าจะนำความรู้และแรงบันดาลใจที่ได้รับมาพัฒนาศักยภาพของตนเองและทีมวิจัยให้สูงขึ้น และนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยเพื่อความก้าวหน้าของประเทศไทยและมนุษยชาติ”

นางสาวเสมอแข จงธรรมานุรักษ์
ปัจจุบัน : นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ เน้นวัสดุสำหรับโฟตอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์ จาก Massachusetts Institute of Technology สหรัฐอเมริกา
สนใจงานวิจัยทางด้าน : ปลูกฟิล์มบางคุณสมบัติกึ่งตัวนำสำหรับการบำบัดสารเจือปนในน้ำ และการศึกษาคุณสมบัติของฟิล์มบางที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการสลายสารอินทรีย์ในน้ำ
“ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการที่พระองค์ได้พระราชทานโอกาสในการเข้าร่วมการประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ณ ประเทศสิงคโปร์ แก่ข้าพเจ้า การประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์นี้เป็นโอกาสสำคัญที่ข้าพเจ้าได้ฟังการบรรยายและซักถามจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในเส้นทางวิจัยที่หลากหลาย และต่างก็ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ในการพากเพียรสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอนาคต นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้พบกับเพื่อนๆ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่าย และสามารถร่วมมือกันทำงานวิจัยได้ในอนาคต การไปประชุม ณ ประเทศสิงคโปร์ในครั้งนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่อการทำงานในฐานะนักวิจัย”